‘บรรยง’ ชี้ เศรษฐกิจติดกับดัก เหตุรัฐไทยใหญ่เกิน - ขาดการแข่งขัน

‘บรรยง’ ชี้ เศรษฐกิจติดกับดัก  เหตุรัฐไทยใหญ่เกิน - ขาดการแข่งขัน

“บรรยง พงษ์พานิช” คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เจาะลึกโครงสร้างรัฐไทย ผลพวงเศรษฐกิจติดกับดักนานนับสิบปี ชี้รัฐไทยใหญ่เกินไป ขาดการแข่งขัน แนะปฏิรูปแบบไม่แตกหักคือคำตอบ

       นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรติ​นาคินภัทร และศิษย์เก่า คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้ประเทศไทยพัฒนาช้า ไม่ได้เกิดจากภาคอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่ง แต่มีรากของปัญหาในระดับโครงสร้างรัฐมาตั้งแต่ก่อนวิกฤติต้มยำกุ้ง ย้อนไปเมื่อปีพ.ศ.2503 ที่ธนาคารโลกเริ่มวัดรายได้เฉลี่ยต่อหัวของประเทศทั่วโลก ไทยเคยเป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาด้วยกัน

        นับแต่นั้นมา ช่วงปีพ.ศ. 2500-2555 ประเทศไทยได้พัฒนามาอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นประเทศที่มั่งคั่งเป็นอันดับสามของอาเซียน อย่างไรก็ตาม สิบปีให้หลังมานี้ ประเทศไทยกลับเติบโตได้เชื่องช้า มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยเพียง 3% ต่อปี ขณะที่ประเทศอื่นขยายตัวได้ 6-10% ต่อปี

      ทั้งนี้ มีงานวิจัยจำนวนมากรวมทั้งจาก TDRI กล่าวถึงขนาดของรัฐไทยที่ใหญ่เกินไป แสดงถึงบทบาทรัฐและอำนาจรัฐมีมากเกินไป

      ในขณะที่กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วทั่วโลกได้พิสูจน์ว่า อำนาจรัฐที่มากเกินไปไม่ดี รัฐต้องมีขนาดที่จำกัดและทำเฉพาะสิ่งที่ควรทำเท่านั้น 

      เช่น ประเทศญี่ปุ่นมีประชากร 130 ล้านคน มีข้าราชการเพียง 5 แสนคน ส่วนประเทศไทยมีข้าราชการถึง 2.2 ล้านคน

      อีกทั้งงบประมาณที่ใช้ในการบริหารงานภาครัฐสูงไทยที่สุดในเอเชียหรือเท่ากับ 8% ต่อจีดีพี เมื่อภาครัฐรับผิดชอบงานส่วนใหญ่ในประเทศแบบผูกขาด ประสิทธิภาพ และประสิทธิผลของงานมักต่ำกว่าภาคเอกชนเพราะขาดการแข่งขัน

      “ยิ่งระบบราชการใหญ่ สิ่งที่ตามมาคือ คอร์รัปชัน เพราะคอร์รัปชันคือการขายอำนาจรัฐ โครงสร้างที่ไม่ดีทำให้คนไม่ดีอยากเข้าไปใช้อำนาจรัฐ ถ้ารัฐเล็กลง คอร์รัปชันไม่ได้ คนที่แสวงหาผลประโยชน์ก็อยู่ไม่ได้”

แก้ปัญหาด้วยการลดขนาด

      นายบรรยง เสนอว่า การแก้ปัญหาโครงสร้างประเทศคือ การลดรัฐ ทั้งขนาด บทบาท และอำนาจรัฐ โดยเฉพาะการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจให้เป็นเอกชน ในปัจจุบันบริการพื้นฐานของประเทศทำโดยรัฐวิสาหกิจ ด้วยงบประมาณรัฐวิสาหกิจในแต่ละปี 5-6 ล้านล้านบาท สำหรับรัฐวิสาหกิจที่มีอำนาจผูกขาดก็ยังดำเนินธุรกิจได้ แต่รัฐวิสาหกิจที่ต้องแข่งกับภาคเอกชนมักขาดทุนยับเยินเกือบทุกราย 

      ในปัจจุบัน มีดัชนีสำคัญ 5 ตัวที่ใช้วัดความเจริญในระดับประเทศ ได้แก่ ดัชนีวัดรายได้ต่อหัว (GDP per capita) ดัชนีวัดความกระจายความมั่งคั่ง (Gini Coefficient) ดัชนีการเป็นประชาธิปไตย (DemocracyMatrix) ดัชนีการเป็นระบบเศรษฐกิจทุนนิยมที่สมบูรณ์ (Index of Economic Freedom) และดัชนีวัดความโปร่งใส (Corruption Perceptions Index) จะพบว่าประเทศที่อยู่อันดับต้นๆ ของโลก

      อาทิ ประเทศแถบสแกนดิเนเวีย จะมีคะแนนสูงทั้ง 5 ดัชนี สะท้อนว่าเงื่อนไขสำคัญของความเจริญมีสามอย่าง คือ เป็นประชาธิปไตย ใช้ระบบทุนนิยมแบบแข่งขันสมบูรณ์ และมีระบบตรวจสอบที่ไม่อนุญาตให้มีการโกงกิน หากบรรลุได้ก็จะนำไปสู่ความมั่งคั่งและทั่วถึงทั้งประเทศ

สร้างแรงจูงใจไปพร้อมแรงกดดัน

     ในสังคมไทยอาจไม่ชอบคำว่าทุนนิยม แต่แท้จริงแล้วทุนนิยมที่ดีสร้างโลกมาโดยตลอด ในโลกของการแข่งขันต้องมีทั้งสองแรงคือ แรงจูงใจ และแรงกดดัน ถ้าไม่กดดันก็จะเป็นแบบระบบคอมมิวนิสต์ แม้มีเจตนารมณ์ที่ดีจากการจัดสรรให้ทุกคนอย่างเท่าเทียม

     แต่มีคนจำนวนมากรอรับส่วนแบ่งมากกว่าลุกขึ้นมาทำเอง ต่างจากระบบทุนนิยมที่เน้นสร้างประสิทธิภาพสูงสุด ทำให้คนทุ่มเทสร้างนวัตกรรม ผลักดันประสิทธิภาพ จนกระทั่งระบบคอมมิวนิสต์สู้ไม่ได้ และถูกทั้งโลกยกเลิกไปโดยปริยาย 

      สำหรับการสร้างแรงกดดันต้องมาจากภาคประชาชน ภาครัฐต้องเริ่มด้วยการยอมรับปัญหาอย่างตรงไปตรงมา รวมทั้งต้องให้สาธารณชนรับรู้ และเข้าใจปัญหา เช่น ปัญหาคอร์รัปชัน ถูกพิสูจน์ทั่วโลกแล้วว่าคุณธรรมจริยธรรมแก้ไม่ได้ เนื่องจากเป็นเรื่องจับต้องยาก แต่เมื่อประชาชนตระหนักรู้ว่าถูกเอาเปรียบ จึงลุกขึ้นมาต่อสู้เรียกร้องการเปลี่ยนแปลง

      ซึ่งการเปลี่ยนแปลงแบบปฏิรูปมีประโยชน์กว่าแบบปฏิวัติ เพราะการปฏิวัติมีต้นทุนที่สูงเสมอมา ยกตัวอย่างเช่น รัสเซีย หรืออาหรับสปริงที่เคยมีการปฏิวัติ ยังไม่สามารถพลิกฟื้นขึ้นมาได้ถึงทุกวันนี้ ดังนั้น จึงต้องใช้การจัดเรียงโครงสร้างประเทศใหม่แบบไม่แตกหัก หรือ Reform ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาอย่างต่อเนื่อง 

      นายบรรยง ทิ้งท้ายว่า ปี 2566 ที่กำลังจะมีการเลือกตั้ง ความคาดหวังคือ การได้รัฐบาลที่ตระหนักรู้ถึงปัญหา และเริ่มลงมือแก้ปัญหาที่โครงสร้าง

       แต่สิ่งที่กังวลคือ เริ่มเห็นการหาเสียงแบบใช้นโยบายประชานิยมสุดขั้ว นับเป็นเรื่องที่อันตรายมาก เห็นได้จากบทเรียนโครงการจำนำข้าวทำให้อุตสาหกรรมข้าวไทยถดถอย ทรัพยากรของรัฐถูกใช้ไปมหาศาลและเป็นหนี้ติดพัน

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์