วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน (23 ม.ค. 66)

วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน (23 ม.ค. 66)

ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่ม จากแนวโน้มเศรษฐกิจจีนที่สดใส และการชะลอปรับเพิ่มดอกเบี้ยของสหรัฐฯ

ปัจจัยที่ส่งผลกระทบกับราคาน้ำมัน

+ ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่ม หลังสำนักงานพลังงานสากล (IEA) กล่าวเมื่อวันพุธว่า การยกเลิกมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ในจีนจะเพิ่มอุปสงค์ทั่วโลกให้สูงเป็นประวัติการณ์ในปีนี้ เช่นเดียวกับกลุ่มโอเปค (OPEC) ที่คาดการณ์ว่าอุปสงค์ของจีนจะฟื้นตัวในปี 66 โดยล่าสุดคาดว่าความต้องการใช้น้ำมันของจีนจะเพิ่มขึ้นกว่า 510,000 บาร์เรลต่อวัน

+ ราคาน้ำมัน ยังได้รับแรงหนุนจากความหวังที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย อีกทั้งคาดว่าแนวโน้มเศรษฐกิจของสหรัฐฯ จะดีขึ้น จากการสำรวจของรอยเตอร์ระบุว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะยุติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหลังจากปรับเพิ่มขึ้น 0.25% ในการประชุมนโยบาย 2 ครั้งถัดไป และมีแนวโน้มที่จะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับดังกล่าวในช่วงที่เหลือของปี

+ Baker Hughes รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 20 ม.ค.ปรับลดลง 10 แท่นมาอยู่ที่ระดับ 613 แท่น ในขณะที่แท่นขุดเจาะก๊าซธรรมชาติปรับเพิ่มขึ้น 6 แท่นมาอยู่ที่ระดับ 156 แท่น โดยแท่นขุดเจาะทั้งหมดลดลง 4 แท่น มาอยู่ที่ระดับ 771 แท่น ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ พ.ย. 65

 

 


 

ราคาน้ำมันเบนซิน

ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่ากับ ราคาน้ำมันดิบดูไบ จากอุปทานที่ลดลงของมาเลเซีย เนื่องจากโรงกลั่นหยุดซ่อมบำรุง อีกทั้งการส่งออกที่ลดลงของจีน จากอุปสงค์ภายในประเทศที่เพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลตรุษจีน

 

ราคาน้ำมันดีเซล

ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่า ราคาน้ำมันดิบดูไบ จากน้ำมันดีเซลคงคลังสิงคโปร์ ปรับลดลง 5.61 % แตะระดับ 8.15 ล้านบาร์เรล อีกทั้งอุปทานที่ลดลงของฝรั่งเศส จากการประท้วงของพนักงานโรงกลั่น

วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน (23 ม.ค. 66)