MONEY AND STOCK MARKET วันที่ 16-20 มกราคม 2566

MONEY AND STOCK MARKET วันที่ 16-20 มกราคม 2566

เงินบาทแข็งค่า ขณะที่หุ้นไทยปรับตัวลงจากสัปดาห์ก่อน เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 10 เดือน ขณะที่ตลาดรอติดตามผลการประชุมกนง. วันที่ 25 ม.ค. 2566 ส่วนเงินดอลลาร์ฯ ยังขาดแรงหนุน หลังข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาอ่อนแอ ย้ำมุมมองเฟดชะลอขนาดการขึ้นดอกเบี้ยรอบแรกของปีนี้

•    SET Index ร่วงลงแรงช่วงปลายสัปดาห์ ตามแรงฉุดจากหุ้นกลุ่มแบงก์ หลังผลประกอบการล่าสุดออกมาต่ำกว่าตลาดคาดการณ์ 

 

สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท

เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 10 เดือนครั้งใหม่ที่ 32.70 บาทต่อดอลลาร์ฯ  

โดยเงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงแรกท่ามกลางกระแสการคาดการณ์ว่าเฟดมีแนวโน้มที่จะชะลอขนาดการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ (หลังข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาอ่อนแอ) อย่างไรก็ดีเงินบาทเผชิญแรงขายเป็นระยะในระหว่างสัปดาห์จากสถานะขายสุทธิพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ ประกอบกับสกุลเงินเอเชียบางส่วนอ่อนค่าลงตามเงินหยวน ซึ่งมีปัจจัยลบจากข้อมูลเศรษฐกิจจีนที่ออกมาอ่อนแอ สะท้อนผลกระทบจากนโยบายโควิดเป็นศูนย์ของจีน 


อย่างไรก็ดี เงินบาทกลับมาแข็งค่าและทดสอบแนว 32.70 บาทต่อดอลลาร์ฯ อีกครั้งในช่วงปลายสัปดาห์ ท่ามกลางทิศทางแข็งค่าของสกุลเงินเอเชีย ขณะที่ตลาดกลับมารอติดตามสัญญาณดอกเบี้ยของไทยจากผลการประชุมกนง. ในวันที่ 25 ม.ค. อย่างใกล้ชิด

MONEY AND STOCK MARKET วันที่ 16-20 มกราคม 2566

 

ในวันศุกร์ที่ 20 ม.ค. 2566 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 32.78 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 32.97 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (13 ม.ค.) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 16-20 ม.ค. 2566 นั้น นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทย 1,529 ล้านบาท และมีสถานะเป็น Net Outflows ออกจากตลาดพันธบัตรไทย 29,264 ล้านบาท (ขายสุทธิ 26,714 ล้านบาท รวมกับตราสารหนี้ที่หมดอายุ 2,550 ล้านบาท) 

 

สัปดาห์ถัดไป (23-27 ม.ค. 2566) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 32.50-33.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการประชุมกนง. ทิศทางเงินทุนต่างชาติ และการเคลื่อนไหวของสกุลเงินเอเชีย ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ยอดขายบ้านใหม่ ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย อัตราเงินเฟ้อที่คำนวณจาก PCE/Core PCE Price Indices เดือนธ.ค. จีดีพีไตรมาส 4/65 (ครั้งที่ 1)  ดัชนีความเชื่อมั่นและตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อของผู้บริโภคเดือนม.ค. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามดัชนี PMI (เบื้องต้น) เดือนม.ค. ของยูโรโซน อังกฤษ และสหรัฐฯ ด้วยเช่นกัน

 

สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย

ดัชนีตลาดหุ้นไทยร่วงลงแรงช่วงปลายสัปดาห์ ทั้งนี้ หุ้นไทยแกว่งตัวในกรอบแคบช่วงต้นสัปดาห์ เนื่องจากไร้ปัจจัยใหม่ๆเข้ามาสนับสนุนหลังตอบรับปัจจัยบวกไปพอสมควร โดยเฉพาะประเด็นที่เฟดอาจปรับขึ้นดอกเบี้ยเพียง 0.25% ในการประชุมปลายเดือนนี้ อย่างไรก็ดี SET Index ดีดตัวขึ้นช่วงสั้นๆระหว่างสัปดาห์ตามแรงซื้อเก็งกำไรหุ้นรายตัว โดยเฉพาะหุ้นบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ประกอบกับมีแรงซื้อของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติเข้ามาช่วยหนุนภาพรวมตลาด กระนั้นก็ดีหุ้นไทยร่วงลงแรงอีกครั้งในช่วงปลายสัปดาห์ตามแรงฉุดหลักจากหุ้นกลุ่มแบงก์ หลังผลประกอบการงวดล่าสุดของแบงก์ใหญ่บางแห่งออกมาต่ำกว่าตลาดคาด 

 

MONEY AND STOCK MARKET วันที่ 16-20 มกราคม 2566

ในวันศุกร์ (20 ม.ค.) ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,677.25 จุด ลดลง 0.27% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 60,891.46 ล้านบาท ลดลง 22.46% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 0.86% มาปิดที่ระดับ 594.73 จุด

 

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (23-27 ม.ค. 2566) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,670 และ 1,650 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,700 และ 1,710 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ การประชุมกนง. (25 ม.ค.) ตัวเลขส่งออกเดือนธ.ค. ของไทย ผลประกอบการงวดไตรมาส 4/65 ของบจ. ไทย รวมถึงทิศทางเงินทุนต่างชาติ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ยอดขายบ้านใหม่ รายได้และรายจ่ายส่วนบุคคล ดัชนี PCE/Core PCE Price Index เดือนธ.ค. ดัชนี PMI ภาคการผลิตและการบริการเดือนม.ค. (เบื้องต้น) รวมถึงตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/65  ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ดัชนี PMI ภาคการผลิตและการบริการเดือนม.ค. (เบื้องต้น) ของญี่ปุ่น ยูโรโซน อังกฤษ