อัปเดตปี 66 "ผู้สูงอายุ" มีรายได้ ต้อง "ยื่นภาษี" หรือไม่

อัปเดตปี 66 "ผู้สูงอายุ" มีรายได้ ต้อง "ยื่นภาษี" หรือไม่

เตรียมยื่นภาษีปี 65 สามารถ "ยื่นภาษีออนไลน์" ได้ถึง 10 เมษายน 2566 อัปเดตล่าสุด "ผู้สูงอายุ" ที่มีรายได้ ยังต้องยื่นภาษีหรือไม่ หรือยื่นอย่างไร

ปัจจุบันต้องยอมรับว่า ประเทศไทยเข้าสู่ยุคที่มีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นทุกปี ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหันมาให้ความใส่ใจคนวัยเกษียณกันมากขึ้น และออกมาตรการช่วยเหลือผู้สูงวัยในหลายๆ ด้าน รวมถึงด้านของ "ภาษี" ซึ่งปกติตามกฎหมายสำหรับผู้ที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หากใครที่มีรายได้เกิน 120,000 บาท มีหน้าที่ต้อง ยื่นภาษี และหากมีเงินได้สุทธิเกิน 150,000 บาท จะต้องเสียภาษีตามอัตราภาษีก้าวหน้า แต่ยกเว้นภาษีให้สำหรับผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปหากมีรายได้ไม่เกิน 190,000 บาท ไม่ต้องเสียภาษี

และช่วงนี้เป็นช่วงที่ผู้มีรายได้จะต้องยื่นแบบฯ ภาษีแล้วด้วย ภายในไม่เกินสิ้นเดือนมีนาคม หรือ ยื่นภาษีออนไลน์ ได้ถึงวันที่ 10 เมษายน 2566 ดังนั้น ใครที่อายุจะเข้า 65 ปี มาตรวจเช็กกันก่อนว่าคุณเข้าเกณฑ์ที่ได้ยกเว้นภาษีหรือไม่ หากไม่เข้าเกณฑ์ต้องทำอย่างไรบ้าง

  • เงื่อนไขยกเว้นภาษีสำหรับผู้สูงอายุ

ผู้สูงอายุในวัยเกษียณอายุการทำงาน หากมีรายได้ก็มีหน้าที่ต้องเสียภาษี ไม่ต่างจากคนหนุ่มสาวที่มีรายได้ แต่กฎหมายได้เอื้อประโยชน์ให้กับผู้สูงวัยในเรื่อของภาษีอายุ 65 ปีขึ้นไป โดยมีเงื่อนไขดังนี้

1.ผู้มีเงินได้มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป และเป็นผู้ที่อยู่ในประเทศไทยครบ 180 วันในปีภาษีนั้น ให้ยกเว้นเงินได้ 190,000 บาท กล่าวคือ ในปีภาษี 2565 ผู้มีรายได้จะต้องมีอายุครบ 65 ปีในปี 2565 ก่อน จึงจะใช้สิทธิได้

2.ผู้มีเงินได้สามารถใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ในปีภาษีใดหลายประเภท จะเลือกใช้สิทธิยกเว้นประเภทใดประเภทหนึ่งก็ได้ หรือจะใช้สิทธิยกเว้นเงินได้จากเงินได้หลายประเภทก็ได้ แต่เมื่อรวมแล้วต้องไม่เกิน 190,000 บาท เช่น หักจากรายได้เงินบำนาญอย่างเดียว หักจากรายได้เงินค่าเช่าอย่างเดียว หรือหักทั้ง 2 ช่องทางรวมกันต้องไม่เกิน 190,000 บาท

3.หากมีคู่สมรสอายุ 65 ปีขึ้นไป ต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ ให้หักได้คนละ 190,000 บาท แต่ถ้ามีรายได้ร่วมกัน และอยู่ร่วมกันตลอดปีภาษี ให้สิทธิสามีได้ยกเว้นภาษีเท่านั้น

4.การใช้สิทธิยกเว้นภาษี ต้องแสดงรายการเงินได้ และจำนวนเงินที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินนั้นตอนยื่นภาษี

  • รายได้ผู้สูงอายุช่องทางไหนบ้าง ได้รับยกเว้นหรือต้องเสียภาษี

ในกรณีที่ผู้สูงอายุ หรือพนักงานวัยเกษียณ หากยังทำงานได้รับเงินเดือนอยู่ รายได้จากการทำงานประจำนี้ต้องยื่นภาษีด้วย โดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนจำกัดนิติบุคคลจ่ายค่าจ้างผู้สูงอายุไม่เกิน 15,000 บาท จะสามารถนำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายได้ 2 เท่า

นอกจากนี้ยังมีรายได้อื่นๆ ที่ต้องนำมารวมคำนวณภาษีและได้รับยกเว้น ซึ่งอธิบายได้ดังนี้

1.รายได้จากสวัสดิการ

- เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ นำไปรวมคำนวณภาษี

- เงินบำนาญข้าราชการ นำไปรวมคำนวณภาษี

- บำเหน็จ/บำนาญชราภาพ ได้รับการยกเว้น ถ้าเป็นตามเงื่อนไข

- กองทุนประกันสังคม ได้รับการยกเว้น ถ้าเป็นไปตามเงื่อนไข

- บำเหน็จดำรงชีพ ได้รับการยกเว้น ถ้าเป็นไปตามเงื่อนไข

 

2.รายได้อื่นๆ

- ดอกเบี้ยเงินฝากประจำ น้อยกว่า 30,000 บาท ได้รับการยกเว้น

- ดอกเบี้ยอื่น เงินปันผล ต้องนำไปรวมคำนวณภาษี หรือเลือก Final Tax โดยหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ 15% สำหรับดอกเบี้ย และ 10% สำหรับเงินปันผล

- กำไรจาการขายหุ้น ได้รับการยกเว้นการขายในตลาดหลักทรัพย์

- เงินคืนประกันบำนาญ ได้รับการยกเว้นภาษี

 

  • ช่องทางการยื่นภาษีสำหรับผู้สูงอายุ

หากผู้สูงอายุมีรายได้ตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด จะต้องเริ่ม ยื่นภาษีประจำปี 2565 แล้ว ซึ่งสามารถยื่นแบบกระดาษได้ตั้งแต่วันนี้ – วันที่ 31 มีนาคม 2566 ที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาทุกแห่ง หรือยื่นเสียภาษีออนไลน์ได้ง่ายๆ ผ่านช่องทางผ่านระบบ e-Filing เว็บไซต์สรรพากร หรือยื่นผ่านแอพพลิเคชั่น Rd Smart Tax สำหรับผู้เสียภาษีที่ถนัดใช้สมาร์ทโฟน ได้ถึงวันที่ 8 เมษายน 2566

 

  • ขั้นตอนการยื่นภาษีผ่านระบบ e-Filing ดังนี้

1.เข้าหน้าเว็บไซต์กรมสรรพากรที่ จะเจอข้อความที่เขียนว่า “ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา’65 ตั้งแต่วันนี้ – 8 เม.ย.2565” ให้กดเข้าไป

2.เข้าสู่หน้า “ยื่นภาษีและชำระภาษีออนไลน์” สำหรับคนที่ยังไม่เคยยื่นภาษีให้กด “สมัครสมาชิก” และกรอกข้อมูลส่วนตัวก่อน ส่วนคนที่มี Username Password อยู่แล้วให้กด “เข้าสู่ระบบ”

3.กรอกเลขประจำตัวประชาชน/เลขประจำตัวผู้เสียภาษี

4.เลือกประสงค์ลงทะเบียนเพื่อ ยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ระบุ ข้อมูลผู้เสียภาษี

5.ยืนยันตัวตนด้วยรหัส OTP ทางหมายเลขโทรศัพท์หรืออีเมล

6.กำหนดรหัสผ่าน/ยืนยันรหัสผ่าน เลือกคำถาม/คำตอบ 3 ข้อ เพื่อใช้ในกรณีที่ลืมรหัสผ่าน

7.อ่านและยอมรับข้อตกลงและเงื่อนไข/ยืนยันการลงทะเบียน

8.เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้งาน (Username) และรหัสผ่าน (Password) ที่ตั้งไว้

9.กรอกข้อมูลรายได้และลดหย่อนต่างๆ ตามจริง

10. “ยืนยันการยื่นแบบ” ให้ผู้มีรายได้เช็กข้อมูลที่กรอกไปในแบบฟอร์ม หากข้อมูลถูกต้องให้กด “ยืนยันการยื่นแบบ” ระบบจะแจ้งยื่นแบบสำเร็จ

 

ดังนั้น ผู้สูงอายุ ที่มีรายได้อย่างนิ่งนอนว่าไม่ต้องเสียภาษี จำเป็นต้องเช็กเงื่อนไขต่างๆ ให้ถี่ถ้วนหากตนเองไม่เข้าเกณฑ์ที่ได้รับยกเว้นภาษี ก็ต้องรีบวางแผนภาษีเพื่อยื่นภาษีให้ถูกต้องตามเวลาที่กำหนดด้วย เพราะภาษีเป็นหน้าที่ของผู้มีรายได้ทุกคน

----------------------------------
Source : Inflow Accounting , 
ยื่นภาษีออนไลน์ บุคคลธรรมดา ระบบ E-Filing โฉมใหม่
อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับภาษีเพิ่มเติม คลิกที่นี่