JSP ลุ้นกำลังซื้อฟื้นตัวเด่น หนุนออเดอร์ ‘รับจ้างผลิต’ พุ่ง

JSP ลุ้นกำลังซื้อฟื้นตัวเด่น หนุนออเดอร์ ‘รับจ้างผลิต’ พุ่ง

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้คนหันมาใส่ใจ และรักสุขภาพมากยิ่งขึ้น... และหนึ่งในผู้ประกอบการที่ได้รับ “ปัจจัยบวก” ดังกล่าว ต้องยกให้ บริษัท โรงงานเภสัชอุตสาหกรรม เจเอสพี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ JSP

ผู้ดำเนินธุรกิจพัฒนา ผลิตและจำหน่าย ยาแผนปัจจุบัน ยาแผนโบราณ ผลิตภัณฑ์สมุนไพร และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแบบครบวงจร

“ดร.สิทธิชัย แดงประเสริฐ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โรงงานเภสัชอุตสาหกรรม เจเอสพี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ JSP เปิดเผยว่า ในช่วงไตรมาส 4 ปี 2565 ที่ผ่านมา ถือเป็นช่วงไฮซีซั่น ของธุรกิจ อีกทั้งผลิตภัณฑ์อาหารเสริม จากเจ้าของแบรนด์ซึ่งมีการเจรจากันในช่วงครึ่งปีแรก ดังนั้น สินค้าถูกผลิต และนำออกสู่ตลาดจำนวนมาก และสอดคล้องกับ “กำลังซื้อ” ของผู้บริโภคกลับมา และส่งผลให้ออเดอร์การ “รับจ้างผลิต” (OEM)เพิ่มขึ้นสอดคล้องกันไป

โดยปัจจุบันสัดส่วน OEM มีออเดอร์เกิน 50% ซึ่งบริษัทมีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยผลิตภัณฑ์สินค้าภายใต้ แบรนด์ของตัวเอง (Own Brand) คาดปี 2565 จะเติบโตสูงขึ้นเช่นกัน เนื่องจากบริษัทมีผลิตภัณฑ์ Own Brand ติดตลาด และสามารถสร้างยอดขายให้กับบริษัทได้ค่อนข้างสูงในอนาคต คาดสัดส่วนยอดขายผลิตภัณฑ์ Own Brand จะเพิ่มขึ้นมาใกล้เคียงกับผลิตภัณฑ์ OEM ที่ 50:50 จากปัจจุบันมีสัดส่วนยอดขายที่ 38.2%

ทั้งนี้ บริษัทมีเป้าหมายก้าวสู่การเป็นบริษัทชั้นนำด้านการวิจัย ผลิตและจำหน่ายยา และอาหารเสริมครบวงจร โดยจากความร่วมมือสถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ และเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อยกระดับนวัตกรรมผลิตภัณฑ์เพื่อพัฒนาสินค้าภายใต้ Own Brand รวมทั้งการมองหาโอกาสตลาดใหม่ๆ เพิ่มเติม

เขาบอกต่อว่าหลังจากที่ JSP ได้ลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิตไลน์ที่ 2 คาดว่าหลังเปิดใช้งานไลน์ที่ 2 จะทำให้ผลการดำเนินงานของ JSP เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญสำหรับในส่วนของผลิตภัณฑ์ยาน้ำปัจจุบัน JSP มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 7 แสนขวดต่อเดือน เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 5 แสนขวดต่อเดือน และในปี 2566 มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอีก

ขณะที่ ผลประกอบการในงวดไตรมาส 3 ปี 2565 บริษัทมีรายได้จากการขาย 104.83 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% จากไตรมาส 2 ที่ผ่านมา สาเหตุหลักเกิดจากผลิตภัณฑ์เสริมอาหารประเภท OWN Brand ซึ่งมาจากการโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้จักในลูกค้าวงกว้าง มีผลขาดทุนสุทธิ  4.7 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ซึ่งขาดทุนสุทธิจำนวน 7.1 ล้านบาท เพราะมีต้นทุนในการจำหน่ายลดลง แต่ค่าบริหารเพิ่มขึ้นเนื่องจากค่าใช้จ่ายพนักงานเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจตามแผนงาน

อย่างไรก็ดี กำไรขั้นต้นที่เพิ่มขึ้น 55.6% ในงวดไตรมาส 3 นี้ ส่งผลให้ EBITDA ของบริษัทเพิ่มขึ้นจำนวน 9.8 ล้านบาท

โดยรายได้ และกำไรที่ลดลงมีสาเหตุหลักมาจากความไม่แน่นอนจากสถานการณ์ต่างๆ ทั้งในระดับประเทศและระดับโลก สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของบริษัท เช่น กำลังซื้อลดลง ต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้น เป็นต้น

โดยที่ผ่านมาบริษัทได้ดำเนินการหลายอย่างเพื่อลดผลกระทบทางลบจากสถานการณ์ดังกล่าว เช่น การขยายช่องทางการตลาดแบบออนไลน์ การควบคุมต้นทุนวัตถุดิบและค่าก่อสร้าง เป็นต้น

 นอกจากนี้ ล่าสุด ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) มีมติอนุมัติการเข้าทำรายการได้มาซึ่งสินทรัพย์ ประเภทอาคารคลังสินค้าซึ่งจะก่อสร้างบนที่ดินตั้งอยู่ที่เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร และเป็นบริเวณเดียวกันกับสำนักงานใหญ่ของบริษัทโดยมีมูลค่าโครงการประมาณ 50 ล้านบาท

ทั้งนี้ เพื่อให้บริษัทมีพื้นที่จัดเก็บ และกระจายสินค้าให้เพียงพอสำหรับการขยายธุรกิจตามแผนธุรกิจระยะยาว คลังสินค้าดังกล่าวสามารถรองรับการจัดเก็บสินค้าทุกประเภท ยาแผนปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และผลิตภัณฑ์สมุนไพร โดยคู่สัญญาในโครงการนี้ทั้งหมดไม่เป็นบุคคลเกี่ยวโยงกับบริษัท

โดยแหล่งเงินทุนในการทำรายการนี้จะมาจากการกู้ยืมสถาบันการเงิน ซึ่งบริษัทอยู่ระหว่างการเจรจากับสถาบันการเงิน อย่างไรก็ตาม บริษัทมีแผนที่จะใช้เงินทุนหมุนเวียนเพื่อการดำเนินการตามโครงการนี้ หากไม่ได้รับการอนุมัติเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน

ท้ายสุด “ดร.สิทธิชัย” บอกไว้ว่า เรา IPO ช่วงที่มีการระบาดของโควิดการเข้าตลาดหุ้นก็ทำให้ลูกค้าเชื่อมั่นเรามากขึ้น มีออเดอร์มามากขึ้น ตอนนี้มีแบ็กล็อคพอสมควร หลังได้ทุนจาก IPO ทำให้เรามีทุนสำหรับขยายกำลังการผลิต

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์