ธปท.เร่งคลอดเกณฑ์ Thailand Taxonomy กำกับตลาดเงินปล่อยกู้ธุรกิจสีเขียว

ธปท.เร่งคลอดเกณฑ์ Thailand Taxonomy กำกับตลาดเงินปล่อยกู้ธุรกิจสีเขียว

ธปท.เร่งคลอดเกณฑ์ Thailand Taxonomy หวังภาคธุรกิจตลาดเงินและตลาดทุนอ้างอิงปล่อยสินเชื่อและระดมทุนธุรกิจสีเขียว โดยเฉพาะการปรับตัวในช่วงเปลี่ยนผ่านภายในเวลาที่เหมาะสม ขณะที่ ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมเป้าหมาย คือ สาขาพลังงานและขนส่ง เหตุเป็นภาคที่ปล่อยคาร์บอนสูง

นางสาววิภาวิน พรหมบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)กล่าวว่า สาเหตุที่ธปท.ต้องความสำคัญกับการร่างมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมหรือThailand Taxonomy เพราะขณะนี้ ทั่วโลกรวมถึงไทยกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางด้านสิ่งแวดล้อมที่เร่งและส่งผลกระทบรุนแรงกว่าที่คาด หลังจากเรื่องภัยพิบัติและนโยบายการค้าระหว่างประเทศที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ฉะนั้น ทุกภาคส่วนในไทยต้องเตรียมตัวและปรับตัวให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพื่อช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมต่อทุกคน 

ทั้งนี้ การนำ Thailand Taxonomy ไปใช้ นั้น ธปท.เองในฐานะกำกับดูแลสถาบันการเงิน มีความคาดหวังว่า สถาบันการเงินซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการจัดสรรเงินทุนไปสู่ภาคเศรษฐกิจต่างๆจะนำตัว Thailand Taxonomy ไปใช้อ้างอิงใน 2 มิติ คือ 1.การนำไปใช้เพื่อทราบว่า ลูกค้าของสถาบันการเงินจัดอยู่ในกลุ่มไหน เพื่อออกแบบและเสนอบริการทางการเงินที่ตอบโจทย์และสนับสนุนให้ภาคธุรกิจสามารถปรับตัวให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้ดีขึ้น 2.เพื่อให้ตัวสถาบันการเงินทราบว่า สถานะพอร์ตของแบงก์ในภาพรวมนั้น มีความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมมากน้อยแค่ไหน เพื่อที่สถาบันการเงินจะจัดการบริหารความเสี่ยงเหล่านั้นต่อตัวสถาบันการเงินเองได้

 

“ในช่วงการปรับตัว จะต้องทำให้ทันการณ์ เพื่อไม่ให้กระทบรุนแรงเกินไป แต่ว่า ถ้าเร่งเกินไป ก็อาจกระทบต่อภาคธุรกิจได้ ดังนั้น ในช่วงของการปรับตัวนั้น ภาคการเงินถือเป็นส่วนสำคัญที่จะมีบทบาทช่วยสนับสนุนด้านเงินทุนแก่ภาคธุรกิจที่กำลังปรับตัวให้ธุรกิจเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทั้งนี้ การปรับตัวนั้น แต่ละองค์กรหรือภาคธุรกิจของตนเองนั้น ต้องทราบก่อนว่า ตนเองอยู่ในสถานะอย่างไรในตอนนี้ มีความเป็นสีเขียวหรือเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือยัง ถ้ายัง ถือว่า อยู่ในระดับสีเขียวหรือห่างจากสีเขียวแค่ไหน เพื่อรู้ว่า จะต้องทำอีกเท่าไหร่และปรับตัวอย่างไร” 

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ความเป็นสีเขียวแต่ละคนมีนิยามที่ไม่เหมือนกัน ฉะนั้น จึงจำเป็นต้องกำหนดมาตรฐานที่จะใช้กำหนดนิยามและจัดกลุ่มว่าใครเป็นสีเขียวมากน้อยแค่ไหน เพื่อใช้ร่วมกัน โดยในหลายประเทศได้กำหนดมาตรฐานกลางในการจัดกลุ่ม แต่ในส่วนของไทยคงไม่สามารถใช้มาตรฐานของต่างประเทศได้ตรงๆ เพราะอาจมีบางอย่างไม่เหมือนกับต่างประเทศ ด้วยเหตุนี้ ธปท.ก.ล.ต.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงเห็นถึงความสำคัญในการจัดทำ Thailand Taxonomy ขึ้นมา 

โดยจัดตั้งคณะทำงานเพื่อให้มี Thailand Taxonomy ได้เหมาะสมกับบริบทของเรา ขณะเดียวกัน ก็สอดคล้องเทียบเคียงกับสากล ซึ่งคณะทำงานจะประกอบด้วย หน่วยงานกำกับดูแล ธปท. และก.ล.ต.หน่วยงานเกี่ยวข้อง อาทิ ก.พลังงาน ก.คมนาคม สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภาคธุรกิจ ประกอบด้วย สภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ภาคการเงินประกอบด้วย สมาคมธนาคารไทย สมาคมธนาคารนานาชาติและสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ

“ขณะนี้ เราอยู่ในช่วงระยะที่ 1 จัดทำ Thailand Taxonomy โดยเริ่มจากกลุ่มกิจกรรมที่มีนัยสำคัญกับเศรษฐกิจของไทยก่อน และ เป็นภาคอุตสาหกรรมหรือภาคเศรษฐกิจที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง คือภาคพลังงานและภาคขนส่ง พร้อมทั้งมุ่งเน้นไปที่ด้าน ไคลเม็กเชง ก่อน ซึ่งตัวร่างนี้ เราได้มาเปิดรับฟังความเห็น และจะทยอยทำในภาคเศรษฐกิจอื่นๆ”

นายทยากร จิตรกุลเดชา ผู้อำนวยการ ฝ่ายตราสารหนี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)กล่าวว่า ในมุมตลาดทุนนั้น ทางสำนักงาน มีแผนยุทธศาสตร์ที่จะผลักดันเรื่องESGที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมนิเวศน์การเงินของตลาดทุนให้มีการเอื้อเฟื้อต่อการเติบโตอย่างยั่งยืน เช่น ปัจจุบันทางก.ล.ต.ได้ออกหลักเกณฑ์เกี่ยวกับกรีนบอนด์ โซเชียลบอนด์ บอนด์เพื่อความยั่งยืนต่างๆ และได้สนับสนุนการยกเว้นค่าธรรมเนียมต่างๆ ซึ่งปัจจุบันมีภาคธุรกิจได้มีการออกตราสารหนี้ดังกล่าวแล้วประมาณ 30 กว่าราย มูลค่าการเสนอขายรวม 5 แสนกว่าล้านบาท นับว่า เป็นการเติบโตต่อเนื่อง แต่หากเทียบกับสัดส่วนของตลาดตราสารหนี้แล้ว อาจมองว่า ยังไม่มากหรือราว 3% และกระจุกตัวในบริษัทขนาดใหญ่เฉพาะในบางอุตสาหกรรมเท่านั้น จึงเห็นว่า ตลาดตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืนนี้ มีโอกาสเติบโตได้อีกมาก

สำหรับประโยชน์ของ Thailand Taxonomy นั้น ก.ล.ต.มองว่า สามารถนำมาใช้อ้างอิงแก่ผู้ออกตราสารหนี้ได้ เช่น กลุ่มกรีนบอนด์ หรือ บอนด์เพื่อความยั่งยืน ในการประเมินโครงการด้านสิ่งแวดล้อม โดยการออกตราสารหนี้กลุ่มความยั่งยืนจะอ้างอิงกลุ่มมาตรฐานสากลเป็นหลัก ซึ่งเราเชื่อว่า ถ้าไทยมี Thailand Taxonomy ที่ชัดเจนแล้ว จะเป็นช่องทางให้ผู้ระดมทุนเลือกใช้อ้างอิงในเหมาะสมกับบริบทของกิจการและบริบทของประเทศไทยด้วย

นอกจากนี้ Thailand Taxonomy ยังจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ลงทุนด้วย กล่าวคือ เป็นเครื่องมือสำหรับผู้จัดการกองทุนเพื่อความยั่งยืนในการคัดเลือกหลักทรัพย์หรือจัดพอร์ตการลงทุนที่ตอบโจทย์ความยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึง ปัจจุบัน ก.ล.ต.ยังศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้ Thailand Taxonomy มาอ้างอิงกิจกรรมในหมวดหมู่ที่เป็นหมวดหมู่แอมเบอร์เพื่อสนับสนุนการเงินเพื่อการเปลี่ยนผ่านในการออกเครื่องมือต่างๆ 

นางสาวอรศรัณย์ มนุอมร ผู้แทนจาก Climate Bonds Initiatives ขณะนี้ มีการพัฒนา Taxonomy มากมายทั่วโลก เนื่องจาก ตลาดการเงินที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนได้มีการเติบโตแบบทวีคูณในหลายปีที่ผ่านมา และ เกิดการออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างๆมากมาย ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีมาตรฐานการกำหนดว่าการลงทุนแบบใดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและยั่งยืนได้ เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันและความเชื่อมั่นต่อตลาด ซึ่ง Taxonomy ที่ประกาศใช้ เช่น อียู มาเลเซีย รัสเซีย มองโกเลียเป็นต้น ส่วนอาเซียนก็มีการพัฒนา เช่น อินโดนีเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม และ ไทย ดังนั้น การพัฒนาในหลายประเทศ ก็มีข้อกังวลอาจเกิดนิยามจำนวนมากและสร้างความสับสน ดังนั้น หลักการในการออกแบบ คือ ทำให้ Taxonomy ใช้ร่วมกันได้ 

 ทั้งนี้ Taxonomy คือ ระบบการจำแนกประเภทกิจกรรม ซึ่งนำมาใช้ระบุกิจกรรม สินทรัพย์ หรือ ส่วนของรายได้ที่สอดคล้องกับเป้าหมายความยั่งยืนเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด โดยทั่วไป มี 3 ประเภท คือ1.ระบุกิจกรรมที่เฉพาะเจาะจง ใช้อยู่ในประเทศจีน รัสเซีย มองโกเลีย 2.การจัดหมวดหมู่ใช้เกณฑ์คัดกรองทางเทคนิค ใช้ในประเทศอียู แอฟริกาใต้ โคลัมเบีย และ 3.ใช้การจัดหมวดหมู่ตามหลักการกำหนดกว้างและสามารถตีความได้ว่าแบบใดเข้าเกณฑ์ ใช้ในมาเลเซีย เป็นต้น สำหรับ Taxonomy ของไทย จะใช้แบบที่ 2 คือ มีเกณฑ์ในการคัดกรองทางเทคนิคที่เป็นตัวเลขชัดจน

“Taxonomy จะมาสร้างความชัดเจน โปร่งใส เพื่อการลงทุนสีเขียว หรือการลงทุนเพื่อการเปลี่ยนผ่านต่างๆ หลีกเลี่ยงปัญหาลดความเชื่อมั่นจากกรณีการกล่าวอ้างเกินจริง จะช่วยดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศเข้ามา ช่วยภาคธุรกิจประเมินความเสี่ยงในการเปิดเผยข้อมูล และ เป็นประโยชน์ต่อรัฐบาลในการเป็นเครื่องมือส่งเสริมเป้าหมายทางความยั่งยืนต่างๆ ซึ่งรวมถึงเป้าหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”

ทั้งนี้ Taxonomy ไม่ใช่เอกสารที่จัดประเภทกิจกรรมที่ดีหรือไม่ดี โดยไม่ได้ห้ามว่า กิจกรรมอะไรทำได้หรือไม่ได้ เพียงแต่เป็นคำนิยามสำหรับผู้ต้องการนำไปใช้ และไม่ใช่เอกสารที่ทำครั้งเดียวไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่หลักการคือจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงปรับปรุงเสมอเมื่อข้อมูลทางด้านวิทยาศาสตร์มีการอัพเดทประมาณ 3-5 ปี และ ไม่สามารถทำงานได้โดยตัวเองเพราะเป็นแค่คำนิยามมาตรฐานกลางในการซึ่งการออกบอนด์ หรือ สินเชื่อใดๆจะต้องการอ้างอิงจากส่วนอื่นประกอบ

สำหรับ Thailand Taxonomy จะมี 4 องค์ประกอบ คือ 1.การเลือกวัตถุประสงค์ทางด้านความยั่งยืนที่ต้องการส่งเสริม เบื้องต้น จะใช้วัตถุประสงค์ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 2.การพิจารณาว่า ภาคเศรษฐกิจที่มีความสำคัญต่อการบรรลุวัตถุประสงค์นั้นๆ กรณีนี้ ควรเลือกภาคที่มีบทบาทสำคัญต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งไทย คือ ภาคพลังงานและขนส่ง 3.การเลือกกิจกรรมที่สำคัญ ซึ่งในภาคพลังงาน เช่น การผลิตไฟฟ้าจากแหล่งต่างๆ และ 4.การพัฒนาเงื่อนไขที่ประเมินความเป็นมิตรของกิจกรรมนั้น โดยเกณฑ์มีหลักการตั้งบนความสอดคล้องของข้อมูลทางด้านวิทยาศาสตร์และชัดเจนว่าเข้าเกณฑ์หรือไม่ เป็นต้น