MONEY AND STOCK MARKET วันที่ 3-6 มกราคม 2566

MONEY AND STOCK MARKET วันที่ 3-6 มกราคม 2566

เงินบาทแข็งค่าสุดในรอบกว่า 8 เดือน ขณะที่หุ้นไทยปิดบวกในสัปดาห์แรกของปี 2566

•    เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบกว่า 8 เดือน ท่ามกลางแรงหนุนจากสัญญาณเงินทุนไหลเข้า
•    SET Index ปรับตัวขึ้นในสัปดาห์แรกของปี โดยมีแรงหนุนหลักจากแรงซื้อเก็งกำไรหุ้นกลุ่มแบงก์ก่อนประกาศงบไตรมาส 4/65

 

สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท

เงินบาทแข็งค่าทะลุแนว 34.00 ไปแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบกว่า 8 เดือนที่ 33.78 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทแข็งค่าขึ้นตามจังหวะเงินทุนไหลเข้าของนักลงทุนต่างชาติทั้งในส่วนของตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรไทย ประกอบกับเงินดอลลาร์ฯ ยังคงขาดแรงหนุนให้ฟื้นตัว หลังจากที่รายงานการประชุมเฟดเมื่อวันที่ 13-14 ธ.ค. ที่ผ่านมา สะท้อนว่า แม้เฟดจะยังจำเป็นต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อไปเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อ แต่จะเป็นลักษณะทยอยปรับขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปเพื่อลดความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจ นอกจากนี้ เงินบาทยังได้รับอานิสงส์ต่อเนื่องจากความหวังเรื่องการเปิดประเทศของจีนด้วยเช่นกัน 

อย่างไรก็ดี เงินบาทลดช่วงบวกลงบางส่วนในช่วงปลายสัปดาห์ หลังจากที่เงินดอลลาร์ฯ ได้รับแรงหนุนจากแรงซื้อคืนของนักลงทุนเพื่อปรับโพสิชันก่อนการรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร และเครื่องชี้ตลาดแรงงานอื่นๆ ของสหรัฐฯ 

MONEY AND STOCK MARKET วันที่ 3-6 มกราคม 2566

ในวันศุกร์ที่ 6 ม.ค. 2566 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 34.03 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 34.61 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (30 ธ.ค.) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 3-6 ม.ค. 2566 นั้น นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทย 7,335 ล้านบาท และมีสถานะเป็น Net Inflows เข้าตลาดพันธบัตรไทยถึง 41,571 ล้านบาท (ซื้อสุทธิ 43,548  ล้านบาท หักตราสารหนี้ที่หมดอายุ 1,977 ล้านบาท)
 

สัปดาห์ถัดไป (9-13 ม.ค. 2566) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 33.50-34.30 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ทิศทางเงินทุนต่างชาติ สถานการณ์โควิดในจีน และการเคลื่อนไหวของสกุลเงินเอเชีย ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อ (CPI) เดือนธ.ค. ดัชนีความเชื่อมั่นและตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อในมุมของผู้บริโภค (เบื้องต้น) เดือนม.ค. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามข้อมูลเศรษฐกิจจีนในเดือนธ.ค. 65 อาทิ ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต และยอดปล่อยกู้สกุลเงินหยวนด้วยเช่นกัน

 

สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย

ตลาดหุ้นไทยฟื้นตัวกลับมาได้ช่วงปลายสัปดาห์ ทั้งนี้ SET Index ดีดตัวขึ้นช่วงต้นสัปดาห์ ตามแรงหนุนหลักจากแรงซื้อเก็งกำไรในหุ้นกลุ่มแบงก์ ก่อนการทยอยประกาศผลประกอบการไตรมาสล่าสุด ก่อนจะย่อตัวลงในระหว่างสัปดาห์ โดยเผชิญแรงฉุดจากหุ้นกลุ่มพลังงาน ตามราคาน้ำมันโลกที่ปรับตัวลง และหุ้นบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์แห่งหนึ่งหลังปรับตัวขึ้นไปค่อนข้างมากในช่วงก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ดี หุ้นไทยฟื้นตัวกลับมาได้อีกครั้งช่วงปลายสัปดาห์สอดคล้องกับทิศทางตลาดหุ้นภูมิภาค ประกอบกับยังมีแรงซื้อต่อเนื่องของหุ้นกลุ่มแบงก์ช่วยหนุน ขณะที่ กลุ่มนักลงทุนต่างชาติยังคงมีสถานะซื้อสุทธิหุ้นไทยในสัปดาห์นี้  

MONEY AND STOCK MARKET วันที่ 3-6 มกราคม 2566

ในวันศุกร์ (6 ม.ค.) ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,673.86 จุด เพิ่มขึ้น 0.31% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 75,122.47 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 45.93% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 1.43% มาปิดที่ระดับ 575.78 จุด 
 

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (9-13 ม.ค. 2566) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,650 และ 1,635 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,685 และ 1,700 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ การทยอยประกาศผลประกอบการงวดไตรมาส 4/65 ของบจ. ไทย ทิศทางเงินทุนต่างชาติ และการเปิดประเทศของจีน  ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนธ.ค. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนพ.ย. ของยูโรโซน รวมถึงข้อมูลเศรษฐกิจเดือนธ.ค. ของจีน อาทิ ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ