สถาปัตยกรรมบน “Metaverse” ส่วนขยายของโลกแห่งความเป็นจริง

สถาปัตยกรรมบน “Metaverse” ส่วนขยายของโลกแห่งความเป็นจริง

“เมตาเวิร์ส” ยังคงเป็นคำนิยามที่กว้างมากขึ้นกับประสบการณ์และมุมมองของแต่ละคน โดยมุมมองของผู้เขียนมองว่า “เมตาเวิร์ส” เป็นการเปลี่ยนรูปแบบการปฏิสัมพันธ์กับการใช้งานกับอินเตอร์เน็ตจาก 2 มิติ สู่สภาพแวดล้อมแบบ 3 มิติ หรือ มากกว่านั้น

เช่น การเข้าไปในโลกเสมือน ไปเดิน พูดคุย ทำกิจกรรมร่วมกัน รวมถึงการช๊อปปิ้ง เล่นเกมส์ เพื่อการศึกษา หรือ Digital twin ที่เป็นการเชื่อมประสบการณ์ใช้งานระหว่างโลกจริงและและโลกเสมือนเข้าไว้ด้วยกัน

ทำไมโลกเสมือนบนเมตาเวิร์สถึงดูเหมือนเกมส์ การ์ตูน ??  เจมส์ เบิกร์ แห่งเอาท์ไลน์เออร์เวนเจอร์ ได้แบ่งหมวดหมู่โปรเจกต์เมตาเวิร์สบนโลกเสมือนออกเป็น  “โลไฟ” (Lo-Fi) โปรเจกต์ที่ออกแบบเพื่อให้ใช้อุปกรณ์และแบนด์วิดท์ระดับต่ำ รองรับการเข้าถึงของผู้ใช้งานจำนวนมากพร้อมกัน

ส่วน “ไฮไฟ” (Hi-Fi) โปรเจกต์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการสร้างประสบการณ์ มีการใช้เทคโนโลยีประมวลสภาพแวดล้อมให้สมจริงแต่ก็มีข้อจำกัดในการรองรับจำนวนผู้ใช้งาน

ด้วยเหตุนี้เราจึงเห็นหลายโปรเจกต์ที่ต้องการดึงผู้คนจำนวนมากเข้ามามีส่วนร่วมในเมตาเวิร์สอยู่ "ก้ำกึ่งระหว่างโลไฟกับไฮไฟ"  สภาพแวดล้อมที่ออกมาจึงอยู่ในลักษณะวอกเซลส์ เกมส์หรือ การ์ตูน นอกจากนั้นยังมีการแบ่งหมวดหมู่เป็นประเภท “เปิด” กับ “ปิด” ในแง่ ความมีส่วนร่วม ในความเป็นเจ้าของและการปกครอง

ในโลกจริงเราทุกคนเติบโตมากับสภาพแวดล้อมที่รายล้อมด้วยสถาปัตยกรรมอย่างไม่รู้ตัว เราใช้พื้นที่ห้อง สวน สนามหญ้า ร้านค้า โรงเรียน หรือ เมืองที่เราอาศัยอยู่ สภาพแวดล้อมเหล่านี้ส่งผลต่อการดำเนินชีวีตและคุณภาพชีวิตของเราอย่างไม่รู้ตัว

หากมองว่าเมตาเวิร์สคือการปฏิสัมพันธ์ในสภาพแวดล้อม 3 มิติ สถาปนิก นักออกแบบทางด้านสถาปัตยกรรม เป็นหนึ่งในอาชีพที่มีความคุ้นชินกับการออกแบบทางสุนทรียศาสตร์เพื่อสร้างประสบการณ์ให้กับผู้ใช้งาน

ในปัจจุบันการทำงานของนักออกแบบมักทำงานด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในรูปแบบ 3 มิติ ทั้งการออกแบบ ทดสอบต้นแบบ จำลองสถานการณ์ในสภาพแวดล้อมต่างๆ จนไปถึงการทำงานออกแบบร่วมกันผ่านระบบออนไลน์ จึงเป็นหนึ่งในอาชีพที่กำลังเข้ามามีบทบาทในการสรรค์สร้างเมตาเวิร์ส

หนึ่งในบริษัทสถาปนิกชั้นนำของโลกอย่าง Zaha Hadid Architects ได้ก้าวสู่การออกแบบสถาปัตยกรรมบนเมตาเวิร์สโดยมี

 โปรเจกต์ ที่ถือว่าเป็นเรือธงอย่าง “Liberland Metaverse”

Liberland Metaverse เป็นโลกเสมือนที่ซ้อนทับกับ Free Republic of Liberland ประเทศใหม่ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2558 บนพื้นที่ขนาด 7.2 ตารางกิโลเมตร (micronation) ตั้งอยู่บริเวณชายแดดประเทศประเทศโครเอเชียและเซอร์เบีย มีสภาพแวดล้อมเป็นพื้นที่ป่าสลับกับทุ่งหญ้าติดแม่น้ำดานูบ

แต่ในโลกเสมือน Liberland กลับมีภาพลักษณ์ที่เป็นเมืองแห่งอนาคตที่ชูความโดดเด่นเป็นศูนย์กลางทางการเงินของเศรษฐกิจดิจิทัล บล็อกเชน และ คริปโตเคอเรนซี่ 

เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนหรือนักลงทุนเข้ามาพบ พูดคุย ทางด้านการลงทุนในสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นในโลกเสมือนแห่งนี้ โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางมายังสถานที่จริง

แต่มีกฎหมายข้อกำหนดของรัฐที่ช่วยส่งเสริมรองรับการทำธุรกิจให้เกิดขึ้นได้จริง โดยเมื่อเข้าไปแล้วจะพบกับ ศูนย์บ่มเพาะเงินสกุลดิจิทัล อาคารศาลากลาง ลานพลาซ่า และนิทรรศการต่างๆ

แม้ Liberland Metaverse จะเป็นเมืองในโลกเสมือน แต่ทางผู้ออกแบบยังคงให้ความสำคัญกับกระบวนการคิดทางด้านการออกแบบสถาปัตยกรรมและผังแม่บท มีการทดลองทดสอบด้วยโปรแกรมทางคอมพิวเตอร์เพื่อให้เกิดความสอดคล้องกับบริบทของประเทศ Liberland 

 รวมไปถึงการทดลองมุมมอง ลักษณะท่าทาง ของอวตาร ที่มีต่อพื้นที่ต่างๆ ตลอดจนเลือกใช้เทคโนโลยีประมวลสภาพแวดล้อมให้สมจริงผ่านแพลตฟอร์มคลาวด์ 3 มิติ Mytaverse

ในกลางปีที่ผ่านมามีการจัดงานที่เกี่ยวกับการผสมผสานสถาปัตยกรรม เมตาเวิร์ส ศิลปะ และ ปัญญาประดิษฐ์ ชื่อว่า Meta-Holizon, The Future Now ณ Dongdaemun Design Plazaประเทศเกาหลีใต้ 

 ในงานนี้ทาง "สมาคมเมตาเวิร์สไทย" ได้มีโอกาสส่งตัวแทนเข้าร่วมชมงาน ทำให้เห็นถึงความก้าวหน้าทางด้านการออกแบบสถาปัตยกรรม วิสัยทัศน์ในการนำเมตาเวิร์สมาเป็นส่วนต่อขยายของซอฟต์พาวเวอร์ซึ่งแต่เดิมเข้มแข็งอยู่แล้วให้ต่อขยายเพิ่มขึ้นอีก

“NVIDIA Omniverse” อีกตัวอย่างการใช้งานเมตาเวิร์สจาก NVIDIA บริษัทที่เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ที่โดดเด่นในการผลิตหน่วยประมวลผลทางด้านกราฟิก (GPUs) Omniverse เป็นแพลตฟอร์มเวิร์สที่รองรับการทำงาน 3D design collaboration & simulation  

ทำให้นักออกแบบในแวดวงอุตสาหกรรมต่างๆ นักวิจัย นักพัฒนา สามารถเข้ามาสร้างสรรค์ ทดสอบ ชิ้นงานหรือโปรเจกต์ผ่าน การเรนเดอร์แบบเรียลไทม์แม้ผู้ใช้งานจะใช้โปรแกรมสำหรับออกแบบคนละโปรแกรม รวมทั้งรองรับ Digital twin ช่วยให้เกิดการทำงานร่วมกันที่ดีขึ้น การสื่อสารที่ชัดเจนยิ่งขึ้น การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่รวดเร็วขึ้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ด้วยความสามารถการเรนเดอร์แบบเรียลไทม์ในระดับคุณภาพสูงนี่เองเป็นจุดหนึ่งที่จะเป็นเครื่องยืนยันว่า เทคโนโลยีที่รองรับเมตาเวิร์สและก่อให้เกิดประสบการณ์ที่น่าจดจำแบบเสมือนจริง ( immersive experience)  กำลังถูกพัฒนาเพื่อให้เข้าใกล้กับการใช้งานให้แพร่หลายในวงกว้างทั้งในอุตสาหกรรม และ ชีวิตประจำวันของผู้คน