ส่อง "อาชีพเสริม" ปี 2566 ทำได้หลังเลิกงาน รายได้สูง พร้อมเงื่อนไขด้านภาษี

ส่อง "อาชีพเสริม" ปี 2566 ทำได้หลังเลิกงาน รายได้สูง พร้อมเงื่อนไขด้านภาษี

ต้อนรับปี 2566 หลายคนมองหา "รายได้เสริม" เพื่อเพิ่มเงินในกระเป๋าอีกทาง ชวนอัปเดต "อาชีพเสริม" ทำเงินสูง ช่องทางไหนบ้างที่กำลังได้รับความนิยม และต้องนำมาคำนวณภาษีอย่างไร ไปหาคำตอบพร้อมกัน

ปัจจุบันช่องทางการหารายได้มีอยู่มากมายโดยไม่ต้องหาทำเล หรือเดินทางหาลูกค้าให้เหนื่อย สามารถทำได้หลังเลิกงานแบบไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง เราจึงเห็นพนักงานประจำรับจ๊อบ หารายได้เสริมหลังเลิกงานกันเป็นจำนวนมาก

แต่ขึ้นชื่อว่า อาชีพเสริม รายได้เสริม ก็อย่าเพิ่งประมาทไป เพราะรายได้ที่ได้รับอาจไม่เป็นแค่เสริมจากรายได้หลัก บางอาชีพอาจทำรายได้แซงหน้ารายได้หลักไปแบบไม่ทันตั้งตัวก็ได้ ซึ่งก่อนที่มนุษย์เงินเดือนจะเลือกอาชีพเสริมสักอย่าง ต้องเช็กก่อนว่าอาชีพเสริมของคุณจัดอยู่เงินได้พึงประเมินประเภทใด เนื่องจากรายได้เสริมเหล่านี้ จะต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาต่างกัน

ดังนั้น อาชีพเสริมหรือรายได้เสริมทำเงินสูง ช่องทางไหนบ้างที่กำลังได้รับความนิยมในตอนนี้ และต้องนำมาคำนวณภาษีอย่างไร พนักงานประจำที่กำลังทำอยู่หรือที่กำลังคิดจะทำ ไปหาคำตอบพร้อมกัน

  • อาชีพใดบ้างที่ต้องนำรายได้มาคำนวณยื่นภาษี

ตามกฎหมายรายได้จากอาชีพต่างๆ ที่ต้องนำมาคำนวณยื่นภาษี จะมีทั้งหมด 8 ประเภทเงินได้พึงประเมิน ซึ่งนอกจากรายได้หลักจากการเป็นพนักงานประจำ ที่ต้องนำมาคำนวณภาษีแล้ว ในส่วนของอาชีพเสริมหรือรายได้เสริมที่พนักงานประจำนิยมทำ จะจัดอยู่ใน 2 กลุ่มประเภทเงินได้พึงประเมิน ซึ่งนำมาลดหย่อนภาษีได้ต่างกัน ดังนี้

- เงินได้ประเภทที่ 1 มาตรา 40(1) เป็นรายได้หลักของพนักงานประจำที่ต้องยื่นภาษีอยู่แล้ว ซึ่งได้แก่ เงินเดือน โบนัส สามารถหักแบบเหมา 50% แต่เมื่อรวมหักค่าใช้จ่ายจากเงินประเภทที่ 1 และประเภทที่ 2 แล้ว ต้องไม่เกิน 100,000 บาท

- เงินได้ประเภทที่ 2 มาตรา 40(2) เป็นรายได้เสริม ค่าจ้างทั่วไป ซึ่งเป็นลักษณะรายได้ที่รับทำงานให้เป็นครั้งคราว ไม่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์เป็นเจ้านายลูกน้อง เช่น ค่าจ้างฟรีแลนซ์ ค่าคอมมิชชั่น ค่าธรรมเนียม ค่านายหน้า การรับรีวิวสินค้า ออกแบบกราฟิก งานเขียน และแปลภาษา ค่าตอบแทนของพริตตี้ พิธีกร และ MC เป็นต้น สามารถหักแบบเหมา 50% แต่เมื่อรวมหักค่าใช้จ่ายจากเงินประเภทที่ 1 และประเภทที่ 2 แล้ว ต้องไม่เกิน 100,000 บาท

- เงินได้ประเภทที่ 8 มาตรา 40(8) เป็นรายได้เสริม ซึ่งได้แก่ เงินได้จากธุรกิจ การพาณิชย์ เกษตร อุตสาหกรรม ขายอสังหาริมทรัพย์ และเงินได้ที่ไม่ได้ระบุอยู่ในเงินได้ประเภทที่ 1 – 7 เช่น ขายของออนไลน์ สามารถหักแบบเหมา 60% หรือหักตามจริง

นักแสดงสาธารณะ เช่น นักแสดงละคร ภาพยนตร์ วิทยุหรือโทรทัศน์ นักร้อง นักดนตรี นักกีฬาอาชีพ หรือนักแสดงเพื่อความบันเทิง หักค่าใช้จ่ายแบบเหมามีเพดาน 40-60%

  • ขายของออนไลน์

เป็นอาชีพเสริมที่สร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ โดยไม่ต้องเสียค่าวางสินค้า เข้าถึงลูกค้าได้ง่ายและจำนวนมาก ที่สำคัญสามารถทำหลังเลิกงานได้อย่างสบาย แค่มีเพียงมือถือหรือคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ตกามารถหาซื้อหามาขายได้แล้ว

โดยนิยมขายออนไลน์ช่วงดึก เพราะเป็นช่วงที่นักช้อปใช้เวลานี้ในการท่องโซเชียล จึงมีพนักงานประจำทำอาชีพขายของออนไลน์กันอย่าล้นหลาม ใช้เวลาช่วงดึกในการหารายได้เสริมด้วยการไลฟ์สดหรือโพสต์ขายผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ซึ่งสินค้าที่นิยมขาย เช่น เสื้อผ้า ข้าวของเครื่องใช้ในบ้าน เครื่องสำอาง สินค้ากิ๊ฟช็อป ขนม เป็นต้น

รายได้เสริมจากการขายของออนไลน์นี้ ผู้มีรายได้จะต้องนำมาคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยหักลดหย่อนตามเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 8

  • ยูทูบเบอร์

หากอาชีพเสริมอย่างยูทูบเบอร์ไม่ติดโพล ต้องมีอะไรผิดพลาดแน่ๆ เพราะไม่ว่าใครก็สามารถเป็นยูทูบเบอร์ มีช่องของตัวเองได้ เนื่องจากทุกคนต้องมีไอดีสำหรับเข้าชมยูทูบอยู่แล้ว ซึ่งก็สามารถเปลี่ยนจากการเป็นผู้ชม ลุกขึ้นมาทำช่องของตัวเองได้เลย โดยทำตามเงื่อนไขที่ยูทูบกำหนด ก็สามารถสร้างรายได้ได้ตลอดเวลาที่มีคลิปลงในช่อง

พนักงานประจำอาจใช้เวลาว่างช่วงวันหยุด คิดคอนเทนต์ถ่ายคลิปแล้วลงไว้ในช่อง ปล่อยให้คลิปทำเงินให้เรื่อยๆ โดยที่เราแทบจะไม่ต้องทำอะไรเลย ก็จะมีรายได้เข้ามาอยู่ตลอดเมื่อยอดวิวแต่ละคลิปถึงเกณฑ์ที่กำหนด

ทั้งนี้ รายได้จากการเป็นยูทูบเบอร์ มีเข้ามาจากหลายช่องทาง ซึ่งจัดอยู่เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 2 เช่น รายได้จาก Sponsor หรือ Tie-in สินค้าภายในคลิป และเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 8 เช่น รายได้จากยอด View และยอดผู้ติดตามบนช่องยูทูบ เป็นต้น

  • รับงานฟรีแลนซ์

อีกหนึ่งอาชีพเสริมที่พนักงานประจำนิยมทำ เช่น งานนายหน้า รับรีวิวสินค้า ออกแบบกราฟิก งานเขียน และแปลภาษา ค่าตอบแทนของพริตตี้ พิธีกร และ MC เป็นต้น เนื่องจากทักษะที่อาจสืบเนื่องมาจากงานประจำ อย่างเช่นงานกราฟิก งานแปลเอกสาร โดยายได้เสริมนี้สามารถทำหลังจากเลิกงานหรือทำในวันหยุดได้อย่างสบาย

โดยรายได้เสริมจากการรับงานฟรีแลนซ์ ผู้มีรายได้จะต้องนำมาคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยหักลดหย่อนตามเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 2

  • รับเขียนบทความ

เป็นอาชีพเสริมที่ทำได้ทุกที่ขอแค่มีคอมพิวเตอร์หรือโน้ตบุ๊กเพื่อใช้พิมพ์งานเขียน โดยเฉพาะยุคสมัยนี้ที่บทความออนไลน์มีความสำคัญกับธุรกิจทุกปะเภท จึงทำให้พนักงานประจำที่มีทักษะด้านการเขียน และมีความรู้รอบด้านก็มักจะรับเขียนบทความเป็นรายได้เสริมช่วงวันหยุดและช่วงมีเวลาว่าง เช่น เขียนรีวิวสินค้า เขียนท่องเที่ยว เขียนรีวิวอาหาร เขียนเรื่องสุขภาพ เป็นต้น

ดังนั้น รายได้เสริมจากการรับงานเขียน ผู้มีรายได้จะต้องนำมาคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยหักลดหย่อนตามเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 2

  • ขายอาหาร-สินค้าช่วงเย็นตามตลาดใกล้บ้าน

อาชีพเสริมยอดฮิตตลอดกาล ต้องยกให้กับการขายอาหาร-สินค้าช่วงเช้าก่อนไปทำงาน และหลังเลิกงาน โดยพนักงานประจำสามารถทำอาหารมาขายช่วงเช้าตั้งแต่ 05.00 น. ได้ และหลังจากเลิกงานก็ยังสามารถขายอาหารหรือสินค้าอื่นๆ เช่น เสื้อผ้า สินค้าแฟชั่น รองเท้า เป็นต้น ตามตลาดใกล้บ้านได้ หรือแม้แต่ช่วงวันหยุดเสาร์ - อาทิตย์ก็ยังทำได้

เพราะแค่ช่วงเวลาเพียงสั้นๆ ไม่กี่ชั่วโมงที่ขาย สามารถสร้างรายได้ไม่น้อยเลยทีเดียว แต่เวลายื่นภาษีจะต้องนำมาคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หักลดหย่อนตามเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 8

สรุป

ทั้งนี้ รายได้เสริมจากกลุ่มอาชีพที่นิยมนี้ ผู้มีรายได้จะต้องนำเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 1 และ 2 มาคำนวณภาษีรวมกันก่อน ส่วนรายได้เสริมประเภทอื่นๆ ก็แยกคำนวณตามประเภทเงินได้พึงประเมินตามที่กล่าวไปแล้วข้างต้น เนื่องจากหักลดหย่อนค่าใช้จ่ายได้ต่างกัน

จากนั้นจึงนำเงินได้สุทธิที่คำนวณได้ มาเปรียบเทียบตารางภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (อัตราภาษีก้าวหน้า) จึงจะได้เป็นภาษีที่ต้องเสียที่ถูกต้อง

----------------------------------
Source : Inflow Accounting
อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับภาษีเพิ่มเติม คลิกที่นี่