EXIM BANK ชี้ทางรอดธุรกิจปีกระต่ายต้องรุกตลาด CLMV และตะวันออกกลาง

EXIM BANK ชี้ทางรอดธุรกิจปีกระต่ายต้องรุกตลาด CLMV และตะวันออกกลาง

EXIM BANK ชี้ทางรอดของผู้ประกอบธุรกิจ แนะปรับตัวรุกตลาด CLMV และตะวันออกกลาง ชี้มีศักยภาพและมีความต้องการสินค้าไทย ควบคู่กับการพัฒนาสินค้าตามเทรนด์โลกยุคใหม่ โดยใช้ EXIM BANK และกลไกของภาครัฐเป็นเครื่องมือพัฒนาธุรกิจสู่ตลาดโลกยุค Next Normal

นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK)ระบุ ทางรอดของผู้ประกอบการไทยในช่วงที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว เพื่อคว้าโอกาสในตลาดที่ยังมีพื้นที่สำหรับสินค้าไทย ได้แก่

1. การรุกส่งออกไปยังตลาด CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) และตะวันออกกลาง อาทิ ซาอุดีอาระเบีย ซึ่งในช่วง 10 เดือนแรก ปี 2565 การส่งออกของไทยไปตลาดดังกล่าวเติบโตกว่า 15% และ 26% ตามลำดับ

2. การส่งออกสินค้าที่เติมเต็มช่องว่างทางการตลาด เช่น สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว อาทิ อาหาร ผลไม้ เครื่องสำอาง เครื่องใช้ในบ้าน เป็นต้น และสินค้าไทยที่สามารถเจาะตลาดประเทศคู่ขัดแย้ง ทางการเมืองระหว่างประเทศ อาทิ การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าของไทยไปทดแทนสินค้าจีนในตลาดสหรัฐฯ และการย้ายฐานการผลิตออกจากจีนเข้ามาในไทยมากขึ้นในหลายอุตสาหกรรม อาทิ รถยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ เป็นโอกาสสำคัญของผู้ประกอบการไทยในการแทรกตัวเข้าไปอยู่ในห่วงโซ่การผลิตแห่ง อนาคตได้อีกด้วย

3. การส่งออกสินค้าที่เกาะกระแสเทรนด์ผู้บริโภคยุคใหม่ เช่น กระแสรักษ์สุขภาพและกระแสรักษ์ สิ่งแวดล้อมที่กลายมาเป็น New World Order

เขากล่าวว่า EXIM BANK พร้อมทำงานร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการไทย รวมถึง บุคคลธรรมดาที่ทำธุรกิจ ใช้โอกาสที่จะเข้ามาในปีหน้าขับเคลื่อนการพัฒนาธุรกิจให้เชื่อมโยงกับ Supply Chain ของโลก พัฒนากลยุทธ์และไลน์การผลิตสินค้าให้ตอบโจทย์เทรนด์ผู้บริโภคยุคใหม่ที่ต้องการสนับสนุนธุรกิจที่สร้างความยั่งยืนในมิติเศรษฐกิจควบคู่กับสังคมและสิ่งแวดล้อม สร้างคุณภาพชีวิตและสุขภาพที่ดีของผู้บริโภค นำไปสู่การพัฒนาของทุกภาคส่วนอย่างสมดุลและยั่งยืน

ทั้งนี้ ปี 2566 ยังมีปัจจัยเสี่ยงรุมเร้ามากมาย แต่โอกาสใหม่ๆ ก็แทรกตัวอยู่ในตลาดและสินค้าที่ไทยมีศักยภาพจะแข่งขันได้ EXIM BANK จึงพร้อมทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแนะนำและเครื่องมือทางการเงินครบวงจรที่จะช่วยให้ภาคธุรกิจของไทยเข้มแข็งขึ้นตั้งแต่ระดับบุคคลไปจนถึงวิสาหกิจชุมชนและกิจการทุกระดับที่มีความฝันจะขยายตลาดต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันทำได้ง่ายขึ้นบนแพลตฟอร์มการค้าออนไลน์ต่าง ๆ หัวใจสำคัญคือ ความสามารถในการปรับตัวและก้าวทันโลกยุคใหม่ โดยใช้กลไกและการสนับสนุนของภาครัฐ รวมถึง EXIM BANK ซึ่งมุ่งมั่นดำเนินบทบาทธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทยที่ 'กล้า พัฒนาเพื่อคนไทย' เพื่อเปลี่ยนประเทศไทยและโลกในวันพรุ่งนี้ให้ดีและน่าอยู่กว่าเดิม

สำหรับเศรษฐกิจไทยปี 2566 มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องที่ราว 3.5% สวนทางกับเศรษฐกิจโลกที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดว่าจะชะลอลงเหลือ 2.7% ต่ำสุดในรอบ 21 ปี (ไม่รวมปีที่เกิดวิกฤต) โดยไทยเป็นเพียงไม่กี่ประเทศในภูมิภาคที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า ด้วยแรงขับเคลื่อนสำคัญจากการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวอย่างชัดเจน เห็นได้จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดว่าจะเดินทางเข้ามาไทยมากกว่า 20 ล้านคน เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากปีก่อน รวมถึงแรงหนุนจากอุปสงค์ในประเทศ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวได้ดีตามการเพิ่มขึ้นของรายได้เกษตรกรและการจ้างงานในภาคบริการที่ฟื้นตัวตามการท่องเที่ยว

ขณะที่ ภาคการส่งออกซึ่งเคยเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยตลอด 2 ปีที่ผ่านมา เริ่มมีแนวโน้มชะลอลง สะท้อนได้จากดัชนีชี้นำการส่งออกของไทย จัดทำโดย EXIM BANK (EXIM Index) ที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ล่าสุดอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 8 ไตรมาส คาดว่า การส่งออกของไทยทั้งปี 2566 จะขยายตัวเพียง 1-2% ชะลอลงจาก 7-8% ในปี 2565 โดยมีปัจจัยกดดันมาจากอุปสงค์ในตลาดโลกที่มีแนวโน้มชะลอลง โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยทั้งสหรัฐฯ และยุโรปที่มีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) มากขึ้น รวมถึงเศรษฐกิจจีนที่มีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด

ขณะเดียวกัน ปัญหา Global Supply Chain Disruption แม้จะคลี่คลายลงบ้าง แต่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ตลอดจนความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนและความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่มีต่อเนื่องยังคงจะกดดันการส่งออกไทยในระยะถัดไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้