ต่อภาษีรถยนต์อายุเกิน 7 ปี ทำผ่านออนไลน์ได้แล้ว เงื่อนไข-วิธีการ เป็นอย่างไร

ต่อภาษีรถยนต์อายุเกิน 7 ปี ทำผ่านออนไลน์ได้แล้ว เงื่อนไข-วิธีการ เป็นอย่างไร

ปัจจุบันผู้ที่มีรถยนต์อายุเกิน 7 ปี สามารถต่อภาษีรถยนต์ผ่านทางออนไลน์ได้ด้วยตนเองแล้ว แต่ยังต้องเช็กสภาพรถยนต์เหมือนเช่นเคย มีขั้นตอน วิธีการ และเงื่อนไข อย่างไร

อย่างที่ทราบกันดีว่ารถยนต์ที่ซื้อมาหากอายุการใช้งานเกิน 7 ปี จะต้องมีการตรวจสภาพรถและใช้บริการสถานตรวจสภาพรถเอกชน (ตรอ.) ให้เดินเรื่องต่อภาษีรถยนต์ให้ ซึ่งก็จะมีค่าบริการบวกเพิ่มเข้าไป หรือบางรายเลือกเดินทางไปต่อภาษีที่กรมการขนส่งทางบกเองก็จะทำให้เสียเวลาไปบ้าง

ทว่าปัจจุบันผู้ที่มีรถยนต์อายุเกิน 7 ปี สามารถต่อภาษีรถยนต์ผ่านทางออนไลน์ได้ด้วยตนเองแล้ว แต่ยังต้องเช็กสภาพรถยนต์เหมือนเช่นเคย และทำตามเงื่อนไขวิธีการต่อภาษีที่กฎหมายกำหนด

ใครมีรถยนต์ที่อายุเกิน 7 ปี สามารถเช็กขั้นตอนและเงื่อนไขได้ดังนี้

  • เงื่อนไขสำหรับการต่อภาษีออนไลน์รถยนต์เกิน 7 ปี

สำหรับรถยนต์ที่อายุการใช้งานเกิน 7 ปี หากมีความประสงค์จะต่อภาษีออนไลน์เอง จะต้องเช็กเงื่อนไขให้ดีก่อนว่า เข้าหลักเกณฑ์ที่ที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ดังนี้

- ต้องทำการตรวจสภาพรถยนต์ก่อน

- รถค้างชำระภาษีไม่เกิน 1 ปี

- รถยนต์ที่ไม่ใช้เชื้อเพลิงแก๊สทุกชนิด

- รถยนต์ทุกจังหวัดที่มีสถานะทะเบียนปกติ หรือไม่ถูกระงับทะเบียน เนื่องจากค้างชำระภาษีประจำปีนานติดต่อกันครบ 3 ปี

- รถยนต์ที่ไม่ได้รับการยกเว้นภาษี / ไม่ใช่รถของหน่วยงานราชการ  

- รถยนต์ที่ไม่ถูกอายัด

- สามารถชำระภาษีล่วงหน้าก่อนสิ้นอายุภาษีได้ไม่เกิน 90 วัน

  • อะไรบ้างที่ต้องเตรียมเมื่อต่อภาษีออนไลน์รถยนต์เกิน 7 ปี

หลักการเตรียมตัวก่อนที่จะต่อภาษีออนไลน์รถยนต์เกิน 7 ปี เจ้าของรถยนต์ต้องนำรถยนต์ที่มีอายุเกิน 7 ปี นับตั้งแต่วันที่จดทะเบียน (วันที่ได้ป้ายขาว) ไปตรวจสภาพรถที่ ตรอ. ให้เรียบร้อยก่อน โดยจะต้องเตรียมสมุดเล่มทะเบียนรถหรือสำเนาเล่มทะเบียนรถ เพื่อตรวจสอบข้อมูลและส่งไปให้กับกรมการขนส่งทางบก

ทั้งนี้ การตรวจสภาพรถยนต์นั้น ทาง ตรอ. จะตรวจตามเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งตัวรถยนต์ต้องมีสภาพที่มั่นคง แข็งแรง มีลักษณะขนาดและเครื่องอุปกรณ์ส่วนควบของรถยนต์ถูกต้องตามที่กำหนด เช่น

- ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลรถ เช่น แผ่นป้ายทะเบียนรถ ลักษณะรถ หมายเลขตัวถัง เลขเครื่องยนต์

- ตรวจสภาพของตัวรถ ทั้งตัวถัง สี อุปกรณ์เกี่ยวกับความปลอดภัย พวงมาลัย ที่ปัดน้ำฝน

- ตรวจสอบระบบบังคับเลี้ยว ระบบเบรก

- ทดสอบประสิทธิภาพการเบรก โดยตรวจสอบอุปกรณ์ทุกชิ้นให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน

- ตรวจสอบวัดโคมไฟหน้า ทิศทางการเบี่ยงเบนของแสง และวัดค่าความเข้มของแสง

- การตรวจวัดเสียงรถ ต้องไม่เกิน 100 เดซิเบล

- ตรวจสอบวัดก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ และก๊าซไฮโดรคาร์บอนของรถยนต์ส่วนบุคคลไม่เกิน 7 ที่นั่ง

โดยค่าตรวจสภาพรถยนต์จะอยู่ที่ 200 บาท สำหรับรถยนต์ที่มีน้ำหนักรถเปล่าไม่เกิน 2,000 กิโลกรัม ส่วนรถยนต์ที่มีน้ำหนักรถเปล่าเกิน 2,000 กิโลกรัม จะเสียค่าตรวจสภาพคันละ 300 บาท

เมื่อ ตรอ. ตรวจสภาพรถยนต์เสร็จเรียบร้อย จะออกใบรายงานผลการตรวจสภาพรถตามแบบที่กรมการขนส่งทางบกกำหนดให้แก่เจ้าของรถยนต์ ส่วนข้อมูลของตัวรถที่ได้รับการตรวจสภาพผ่านแล้ว จะถูกส่งไปยังกรมการขนส่งทางบกโดยอัตโนมัติ

นอกจากนี้เจ้าของรถยนต์ต้องต่อ พ.ร.บ. ประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยของปีนั้นด้วย ซึ่งอาจซื้อที่ ตรอ. ที่ไปตรวจสภาพ หรือซื้อตอนที่ต่อภาษีออนไลน์บนเว็บของกรมการขนส่งทางบกก็ได้เช่นกัน

 

  • วิธีการต่อภาษีออนไลน์...รถยนต์เกิน 7 ปี

หลักจากผ่านขั้นตอนการตรวจสภาพรถยนต์ และได้รับใบรายงานผลการตรวจสภาพมาเรียบร้อยแล้ว ให้เจ้าของรถยนต์ทำตามขั้นตอนในการต่อภาษีออนไลน์รถยนต์เกิน 7 ปี ดังนี้

1.เข้าเว็บไซต์ E-Service กรมการขนส่งทางบก

2.คลิกที่ “ลงทะเบียนสมาชิกใหม่” สำหรับคนที่ยังไม่เคยยื่นชำระภาษีออนไลน์

3.กรอกข้อมูลบัตรประชาชน ตั้งรหัสผ่าน ที่อยู่ปัจจุบันหรือที่อยู่ส่งเอกสาร เบอร์มือถือ อีเมล แล้วกดบันทึก
4.เมื่อลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว ให้ใส่หมายเลขบัตรประชาชนและรหัสผ่านที่ตั้งไว้ จากนั้นคลิก “เข้าสู่ระบบ”

5.จากนั้นให้คลิกที่ “ชำระภาษีรถประจำปี” และเลือก “ชำระภาษีรถประจำปีผ่านอินเตอร์เน็ต

6.กรอกข้อมูลการลงทะเบียนรถยนต์ โดยให้ใส่รายละเอียดเกี่ยวกับรถยนต์ จังหวัด เลขทะเบียนรถ แล้วกด “ลงทะเบียนรถ”

7.จากนั้นกรอกข้อมูล พ.ร.บ. ในกรณีที่ซื้อแล้ว ให้เลือก “มีแล้ว” แต่ถ้าต้องการซื้อ พ.ร.บ. ออนไลน์ ก็สามารถซื้อได้ในขั้นตอนนี้

8.ต่อไปให้คลิก “กรอกที่อยู่ส่งเอกสาร” โดยใส่ข้อมูลให้ครบถ้วน และคลิก “เลือกวิธีการชำระเงิน”

9.การเลือกรูปแบบการชำระเงิน สามารถเลือกจ่ายได้หลายช่องทาง เช่น หักบัญชีธนาคาร, ชำระผ่านบัตรเครดิต, ชำระผ่านเคาน์เตอร์บริการ แล้วคลิก “ตกลง”

10. ตรวจสอบข้อมูลการชะเงิน และตรวจสอบข้อมูลที่อยู่จัดส่งเอกสาร แล้วกด “ยืนยัน”

11.หากเลือกชำระผ่านเคาน์เตอร์บริการ ต้องพิมพ์แจ้งชำระภาษีรถยนต์ และนำไปชำระที่เคาน์เตอร์เซอร์วิส หรือตู้ ATM ของธนาคารที่ร่วมโครงการ

12.เมื่อชำระเงินเรียบร้อย ทางกรมการขนส่งทางบกจะส่งใบเสร็จรับเงิน ป้ายภาษี และกรมธรรม์ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถมาให้ (กรณีที่ซื้อ พ.ร.บ.ด้วย) ตามที่อยู่ที่แจ้งไว้ ภายใน 3-5 วันทำการ 

 

เพียงเท่านี้ก็สามารถต่อภาษีรถยนต์เกิน 7 ปีได้สะดวก รวดเร็ว ไม่ต้องกลัวเกินกำหนดเวลาจนเสียเงินค่าปรับ ประหยัดเงินในกระเป๋าได้มากโข

----------------------------------
Source : Inflow Accounting
อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับภาษีเพิ่มเติม คลิกที่นี่