WARRIX จ่อขายไอพีโอ มุ่ง ‘ผู้นำ’ ธุรกิจกีฬา และสุขภาพ

WARRIX จ่อขายไอพีโอ มุ่ง ‘ผู้นำ’ ธุรกิจกีฬา และสุขภาพ

วิกฤติโควิด-19 ทำให้คนทั่วโลก และไทย “ตื่นตัว” ในเรื่องของสุขภาพ และหนึ่งในกิจกรรมที่ช่วยสนับสนุนคือ “การออกกำลังกาย” ทำให้กีฬากลายเป็นหนึ่งในเทรนด์มาแรงและหนุนธุรกิจดังกล่าวขยายธุรกิจจากเข้าตลาดหุ้น...

ธุรกิจเสื้อผ้าและอุปกรณ์กีฬา”ในประเทศซึ่งมีมูลค่ากว่า 30,000 ล้านบาท  เป็นตลาดที่มีแนวโน้มเติบโตระดับสูงอย่างมีนัยสำคัญหนึ่งในผู้ประกอบการผลิตเสื้อผ้า และอุปกรณ์กีฬาชั้นนำของไทย ภายใต้แบรนด์ “วอริกซ์” (WARRIX) กำลังจะเข้าระดมทุนในตลาดหุ้น บริษัท วอริกซ์สปอร์ต จำกัด (มหาชน) หรือ WARRIX ซึ่งมีความแข็งแกร่งการดำเนินธุรกิจจำหน่ายเสื้อผ้า อุปกรณ์กีฬา และบริการศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬา

         โดยจะเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนไม่เกินจำนวน 180 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วนไม่เกิน 30% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออก และชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทมูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 0.50 บาทต่อหุ้น ในราคาหุ้นละ 6.30 บาท คาดว่าจะเข้าซื้อขายวันแรก (เทรด) ในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (Mai) 21 ธ.ค. 2565 คิดเป็นมูลค่าการเสนอขายรวม 1,134 ล้านบาท!

ณ ปัจจุบัน WARRIX มีผลิตภัณฑ์ 2 กลุ่มหลัก คือ Licensed Product อาทิ สินค้า และผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับฟุตบอลทีมชาติ การสนับสนุนทีมสโมสร และองค์กรกีฬาชั้นนำต่างๆ ในประเทศไทย และต่างประเทศ โดยบริษัทเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ชุดกีฬาของสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปัจจุบัน, สิทธิสนับสนุนชุดกีฬาของสมาคมบาสเกตบอลแห่งประเทศไทย ทีมชาติต่างประเทศ และกลุ่ม Non-Licensed Product เป็นสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน และปรับเปลี่ยนตามความนิยม เช่น สินค้าคลาสสิก ได้แก่ เสื้อโปโล สินค้าคอลเลกชัน สินค้า Made to order

       นอกจากนี้ WARRIX ยังมีผลิตภัณฑ์เครื่องกีฬา และอุปกรณ์อื่นๆ เช่น ลูกฟุตบอล รองเท้ากีฬา นาฬิกาแบบสปอร์ต รวมถึงคลินิกกายภาพวอริกซ์ ‘Warrix Physiotherapy & Performance Studio’ ซึ่งให้บริการรักษา และฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายแก่นักกีฬา และบุคคลทั่วไป ด้วยทีมนักกายภาพบำบัดที่เชี่ยวชาญ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัย

      “วิศัลย์ วนะศักดิ์ศรีสกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วอริกซ์สปอร์ต จำกัด (มหาชน) หรือ WARRIX  ให้สัมภาษณ์ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า การเข้าระดมทุนในตลาดหุ้นครั้งนี้ !เพื่อตอกย้ำความเป็น “ผู้นำ”ในธุรกิจ Sport - Health & Lifestyle แบบครบวงจรของไทยสะท้อนผ่านเงินระดมทุนขยายการลงทุนเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน

ประกอบด้วย “โครงการก่อสร้างศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬาและสำนักงาน” ถนนพระราม 9 ในปี 2566 - 2567 คาดว่าจะใช้เงินลงทุนอยู่ที่ประมาณ 50 ล้านบาท และส่วนที่เหลือจะนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการขยายกิจการ และดำเนินการโครงการต่างๆ ในอนาคต

        สอดคล้องกับเป้าหมายของ WARRIX ที่จะเป็นผู้นำทางด้านธุรกิจวิทยาศาสตร์การกีฬา และสุขภาพครบวงจร และมีความเป็นมืออาชีพในระดับภูมิภาคอาเซียน และมุ่งเน้นเป็นผู้ริเริ่มพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ของเสื้อผ้ากีฬาที่มีคุณภาพดีเป็นเลิศตอบสนองความต้องการของลูกค้าโดยบริษัทมีแผนใน “การขยายฐานลูกค้า” ให้ครอบคลุมกลุ่มลูกค้าที่หลากหลายมากขึ้น ซึ่งการเพิ่มสินค้าให้หลากหลาย เพื่อตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ และความต้องการของลูกค้า โดย WARRIX มีแผนพัฒนาธุรกิจ ใน 5 ด้าน ได้แก่ Sports, Active & Lifestyle, Health, Explorer และ Web 3.0

        “วิศัลย์” บอกต่อว่า เพื่อก้าวสู่เป้าหมาย และขยายธุรกิจให้ครบวงจร บริษัทจึงมี “2โปรเจกต์” ในอนาคตคือ แผนพัฒนาโครงการศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬา และสำนักงาน บริเวณถนนพระราม 9 ซึ่งเป็นทำเลยุทธศาสตร์ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยมีแผนสร้างอาคารศูนย์สุขภาพ และกายภาพบำบัดแห่งใหม่ เพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าในอนาคต

         รวมถึงพัฒนาโครงการ Warrix Lifestyle @ Siam Square เพื่อยกระดับแบรนด์ และผลิตภัณฑ์เข้าสู่ตลาดระดับพรีเมียมโดยเน้นกลุ่มลูกค้าวัยรุ่น คนทำงาน และผู้หญิง บนพื้นที่ตั้งใจกลางสยามสแควร์ซึ่งเป็นแหล่งรวมกิจกรรมไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่

         ทั้งนี้ บริษัทเป็นผู้นำทางด้าน “สปอร์ตไลเซนซิ่ง” (Sport Licensing)โดยเป็นผู้ได้รับสิทธิเป็นผู้ผลิตเสื้อฟุตบอลทีมชาติไทย เป็นระยะเวลา 12 ปี ตั้งแต่ปี 2560-2571 นอกจากนี้ที่ผ่านมา Warrixยังเป็นผู้สนับสนุน สโมสรกีฬา, องค์กรกีฬาชั้นนำทั้งภายในประเทศ และต่างประเทศ กว่า 30 แห่ง อาทิ AFF Suzuki Cup 2020, Myanmar Football Federation สโมสรบีจีปทุมยูไนเต็ด สมาคมบาสเกตบอลแห่งประเทศไทย สมาคมเทเบิลเทนนิส แห่งประเทศไทย และโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน เป็นต้น

        ท้ายสุด “วิศัลย์” บอกไว้ว่า จากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ทำให้กิจกรรมกีฬา และการใช้ชีวิตของผู้คนเริ่มกลับเข้าสู่สภาวะปกติ และบริษัทยังมีการบริหารจัดการต้นทุนสินค้าที่มีประสิทธิภาพจากปริมาณการสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นด้วย

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์