'กูรูเตือน‘ศก.จีน’ยังน่าห่วง จี้ส่งออกไทยหาตลาดชดเชย

'กูรูเตือน‘ศก.จีน’ยังน่าห่วง  จี้ส่งออกไทยหาตลาดชดเชย

นักเศรษฐศาสตร์ ประเมินสถานการณ์ประท้วง - คุมโควิดในจีน แม้เริ่มคลี่คลายแต่ยังต้องจับตาใกล้ชิด เหตุจำนวนคนได้รับวัคซีนยังน้อย ห่วงผู้ติดเชื้อพุ่งสร้างปัญหาใหม่ พร้อมประเมินเศรษฐกิจจีนส่อโตชะลอ สะเทือนถึงไทย แนะเร่งหาตลาดส่งออกใหม่มาชดเชย

แม้สถานการณ์ในจีนทั้งการล็อกดาวน์โควิด และการประท้วงเริ่มมีสัญญาณเชิงบวกมากขึ้น จากการผ่อนคลายมาตรการคุมโควิดในบางพื้นที่ อันเนื่องมาจากเหตุการณ์ประท้วงทางการเมือง แต่การเปิดเมืองของจีน ยังมีประเด็นที่น่ากังวล และต้องจับตาใกล้ชิด

นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ KKP Research บล.เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน)  กล่าวว่า ประเด็นที่ยังต้องติดตามดูจากนี้ไป คือ 1. จำนวนคนจีนที่จะได้รับการฉีดวัคซีน mRNA จะเพิ่มขึ้นได้แค่ไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนสูงวัย และ 2.ในช่วงผ่อนคลายมาตรการคุมโควิดไปจนถึงขั้นเปิดเมืองได้นั้น ต้องรอดูจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดจะกลับมาสร้างความวุ่นวายได้อีกหรือไม่ 

แนะ “ท่องเที่ยว-ส่งออก”หาตลาดใหม่ชดเชย

ดังนั้นเราเชื่อว่า จีนน่าจะทยอยเปิดเมืองได้ แต่ต้องใช้เวลา คาดว่าช่วงปลายปีหน้าถึงจะเปิดเมืองได้เต็มรูปแบบหลังจากนั้นถึงจะเปิดประเทศ เราคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีหน้าไว้ที่ 19 ล้านคน เป็นนักท่องเที่ยวจีนเพียง 1 ล้านคนเท่านั้น แน่นอนว่า การท่องเที่ยวไทยต้องหาตลาดใหม่มาชดเชย นักท่องเที่ยวต่างชาติในตลาดใหญ่ อย่างสหรัฐ ยุโรป และจีนที่จะหายไป   

นายพิพัฒน์ กล่าวด้วยว่า ยังมีความเสี่ยงเศรษฐกิจจีนชะลอตัวปีหน้า โต 3-4% ใกล้เคียงปีนี้คาดโต 2-3% ชะลอตัวลงจากเดิมคาดไว้ที่ 5% ส่งผลกระทบต่อส่งออกไทยช่วงปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้ายังเหนื่อย ครึ่งปีแรกส่งออกจะติดลบมากกว่าครึ่งปีหลัง และทั้งปีหน้าคาดส่งออกไทย ยังติดลบระดับ 2% ฉุดเศรษฐกิจไทยปีหน้าขยายตัวได้เพียง 2.8% 

แต่สถานการณ์จีนยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด  หากมีความเสี่ยงมากกว่าที่คาดมีโอกาสฉุดส่งออก และเศรษฐกิจไทยปรับตัวลงได้  แนะว่า  ส่งออกไทย ต้องหาตลาดใหม่ที่มีศักยภาพขึ้นอยู่กับแต่ละสินค้า พร้อมกับพิจารณาในเรื่องปรับปรุงคุณภาพสินค้า และควบคุมต้นทุน ยังเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถสินค้าไทยยังแข่งขันได้ 

เหตุประท้วงแค่ปัจจัยลบชั่วคราว

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า สถานการณ์ในจีนทั้งการประท้วง และล็อกดาวน์โควิดถือเป็นปัจจัยลบชั่วคราว จะกระทบเศรษฐกิจจีนไตรมาส 4 ปีนี้ซึ่งจะทำให้การเติบโตอาจต่ำกว่าคาดเนื่องจากการบริโภคในประเทศชะลอลง ห่วงโซ่อุปทานหยุดชะงักจึงไม่สามารถผลิตได้ตามเป้า

ปัจจัยดังกล่าวส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยผ่านการส่งออก ทำให้การส่งออกไทยในไตรมาส 4 ปีนี้เติบโตลดลง และปีหน้าก็ยังไม่สดใสนัก ซึ่งเป็นผลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ทำให้การนำเข้าสินค้าต่างๆ จากอาเซียนลดลง นับเป็นความเสี่ยงต่อการส่งออกของไทย ขณะเดียวกันไทยยังต้องเผชิญกับเศรษฐกิจโลกที่เติบโตต่ำลง จากประเทศเศรษฐกิจหลักที่มีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอย ทั้ง สหรัฐ และยุโรป

นายอมรเทพ กล่าวว่า ภาคการส่งออกไทยจึงต้องเตรียมรับมือวางกลยุทธ์ที่ดีในปีหน้าโดยมองว่า ภาครัฐจำเป็นต้องเร่งการเจรจาการค้าเสรี (FTA ) กับทั้งสหรัฐ และยุโรป เพราะหนีไม่พ้นที่ไทยยังต้องค้าขายกับตลาดใหญ่ของโลก และยังต้องเร่งการดึงดูดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) เข้ามา เพื่อที่จะช่วยในเรื่องการพัฒนาสินค้าของไทยให้สามารถส่งออกได้แม้ในภาวะที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว

“เรายังมองสถานการณ์ในจีนตอนนี้เป็นปัจจัยชั่วคราว สิ่งที่สำคัญระยะถัดไปของจีน ไม่ใช่แค่จีนจะอยู่ร่วมกับโควิดอย่างไร แต่น่าห่วงกว่าคือ กระแสโลกาภิวัตน์ตีกลับ ภาคตะวันตก คือ สหรัฐ และยุโรป จะกีดกันการค้า และการลงทุนกับจีนต่อ ยิ่งเป็นการกดดันเศรษฐกิจจีนให้เติบโตช้าในระยะยาว จีนตอนนี้มีทั้งศึกนอก และศึกในต้องติดตามจากปัจจัยเปลี่ยนได้ตลอดเวลา คาดจีดีพีจีนปีหน้าโต 3-4%”

“จีนคุมโควิด”มีทั้งโอกาส-ความเสี่ยง

นายอมรเทพ กล่าวว่า กรณีการล็อกดาวน์โควิดในจีนที่ผ่านมา ทำให้อุปสงค์การใช้น้ำมันลดลง ฉุดราคาน้ำมันปรับตัวลดลง ส่งผลต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และสินค้าภาคเกษตรของไทยปรับตัวลดลงด้วย

แต่ขณะนี้ทางการจีน ได้เริ่มผ่อนคลายล็อกดาวน์โควิดในพื้นที่บางส่วน ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดไม่สูงจนน่าตกใจแล้วนั้น มองว่า ทางการจีนคงไม่กลับไปล็อกดาวน์เข้มขึ้น และเมื่อมีสัญญาณเชิงบวกของการกลับมาเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจในจีนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องได้

เราคาดหวังว่า จีนน่าจะกลับมาเริ่มเปิดเมืองได้ในที่สุดช่วงกลางปีหน้า และหวังว่าในช่วงครึ่งหลังของปีหน้าน่าจะเริ่มเห็นนักท่องเที่ยวจีนกลับมาท่องเที่ยวในไทยมากขึ้น ซึ่งท่องเที่ยวจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจไทยปีหน้า

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์คุมโควิดในจีนปีหน้า มองเป็นทั้งโอกาส และความเสี่ยง เพราะว่าการเปิดประเทศของจีน อาจทำไม่ได้รวดเร็วนัก จนกว่าประชากรของจีนจะฉีดวัคซีนโควิดได้ครอบคลุมมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ นี่ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่มีโอกาสทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีหน้าไปไม่ถึง 20 ล้านคน ตามที่คาดไว้ จากปีนี้ที่ 10 ล้านคน

แนะดึงนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่

นายอมรเทพ กล่าวว่า ในปีหน้านอกจากเราต้องเน้นนักท่องเที่ยวต่างชาติในประเทศใกล้เคียง เช่น มาเลเซียและอินเดีย แล้ว แต่ยังต้องพยายามพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงลึกมากขึ้น เปิดตลาดดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มใหม่ๆ เข้ามาอยู่ในไทยให้นานขึ้นเพื่อมีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เช่น นักท่องเที่ยวตะวันออกกลาง กลุ่มที่มาเกษียณแล้วเข้ามาอยู่ในไทย นอกเหนือที่เดินทางเข้ามารักษาพยาบาล หรือกลุ่มคนทำงานที่สามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้ เป็นต้น

“ทุกวันนี้ต้องยอมรับว่า กลุ่มโรงแรมระดับ 4 และ 5 ดาวได้ประโยชน์ แต่ท่องเที่ยวในต่างจังหวัด เช่น โรงแรมระดับ 3 ดาวและกลุ่มเอสเอ็มอียังไม่ฟื้นตัวเท่าไรนัก”

จีนเปิดเมืองช่วยเศรษฐกิจในประเทศก่อน   

นายเชาว์ เก่งชน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า เมื่อทางการจีนส่งสัญญาณปรับมาตรการคุมโควิด และเริ่มผ่อนคลายมาตรการในบางพื้นที่แล้ว เพื่อลดแรงกดดันจากประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากมาตรการล็อกดาวน์  

 แต่เป้าหมายของการผ่อนคลายมาตรการคุมโควิดครั้งนี้ มองว่า เป็นเพียงการเปิดเมือง เพื่อช่วยเหลือเศรษฐกิจ และคนจีนในประเทศก่อนเรื่องท่องเที่ยวที่ต้องเปิดประเทศให้คนจีนเดินทางอย่างเสรี จนเป็นบวกต่อไทยนั้นยังต้องใช้เวลา 

 มองจีนจะเปิดประเทศได้ขึ้นกับ 2 เงื่อนไขสำคัญ คือ  1.การอนุมัติฉีดวัคซีน mRNA และจัดฉีดให้ครอบคลุมประชากรจีนทั้งประเทศที่มากพอ โดยเฉพาะกลุ่มประชากรสูงวัย และ 2.ยังต้องติดตามตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่จะเพิ่มขึ้นอย่างไร หลังผ่อนคลายมาตรการคุมโควิด 

อย่างไรก็ตาม เป้าหมายจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในไทยปีหน้าที่ 20 ล้านคน เป็นคนจีนยังน้อยมาก ก็ถือว่าเพียงพอแล้วช่วยให้เศรษฐกิจไทยปีหน้า ยังขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 3%  ซึ่งในปีหน้าเศรษฐกิจโลกชะลอตัว คงไม่เอื้อต่อการทำตลาด  แต่สถานการณ์ปรับดีขึ้นนักท่องเที่ยวจีนมาได้ ถือว่าเป็นอัพไซด์ต่อการท่องเที่ยวของไทยเพิ่มเติม

แนะส่งออกเน้นตั้งรับ เร่งหาตลาดใหม่ 

นายเชาว์ กล่าวว่า แม้จีนจะคลายล็อกดาวน์แต่เศรษฐกิจจีนยังไม่กลับมาปกติ และเศรษฐกิจของโลก สหรัฐและยุโรป จะชะลอตัวช่วง 4-5 เดือนแรกปีหน้า และยังมีความเสี่ยงถดถอยบ้างไตรมาส ทำให้กำลังซื้อเศรษฐกิจหลักของโลกชะตัวลง 

เบื้องต้นประเมินว่า ปีหน้าส่งออกไทย ยังโตได้ 1% หรือทรงตัวจากปีนี้  แต่ยังต้องรอดูเหตุการณ์ และทบทวนประมาณการ ทุก 3-4 เดือน หลังจากนี้  แนะส่งออกไทย ตั้งรับเฉพาะหน้า หาตลาดใหม่ในภูมิภาคอาเซียน และจำเป็นต้องมีการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนผันผวนให้ดี โดยเฉพาะการกลับทิศของเงินบาทแข็งค่าเร็ว แต่ยังดีที่เป็นทิศทางสอดคล้องกับภูมิภาค เชื่อว่าทางการจะมาดูแลให้เงินบาทมีเสถียรภาพไม่อ่อนค่าหรือแข็งค่าไปมากกว่าสกุลเงินในภูมิภาคเทียบกับดอลลาร์    

ศก.จีนส่งสัญญาณชะลอตัว

นายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)กล่าวว่า สศค.ได้ประเมินผลกระทบจากการประท้วงโควิดล็อกดาวน์ในประเทศจีนต่อเศรษฐกิจของจีน และไทย โดยสถานการณ์เศรษฐกิจจีนล่าสุดนั้น พบว่า เศรษฐกิจจีนส่งสัญญาณชะลอตัว โดยยังได้รับแรงกดดันจากการดำเนินนโยบายซีโร่โควิด และมีปัจจัยเสี่ยงด้านอสังหาริมทรัพย์เพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ สะท้อนจากเศรษฐกิจไตรมาสที่ 3 ปี 65ขยายตัวได้เพียง 3.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ถือว่า เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวอยู่ที่ 0.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือคิดเป็นการขยายตัวที่ 2.2% เมื่อเทียบจากไตรมาสก่อนหน้า

สศค.คาดว่า ในปี 2565 เศรษฐกิจจีนจะขยายตัวที่ 3.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอลงจากปีก่อนหน้า สำหรับปี 2566 คาดว่า เศรษฐกิจจีนจะขยายตัวได้ดีขึ้น 4.5% แต่ชะลอลงจากปีก่อนหน้า เนื่องจากสถานการณ์โควิดจะยังคงท้าทายอยู่ในช่วงต้นปี 2566

สำหรับผลกระทบจากการประท้วงดังกล่าวนั้น สศค.ประเมินว่า สถานการณ์ความไม่สงบจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในประเทศจีน ทั้งนี้ ในช่วงก่อนหน้านี้ รัฐบาลประกาศยึดมั่นในนโยบายปลอดโควิดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากสถานการณ์ความไม่สงบยืดเยื้อ และรุนแรงมากขึ้นก็มีความเป็นไปได้ที่อาจจะกระทบต่อการลงทุน และการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ จึงยังต้องติดตามการประกาศที่ชัดเจนของทางการจีนอีกครั้ง

ทั้งนี้สำหรับผลกระทบต่อประเทศไทยในระยะสั้น กรณีที่สถานการณ์ไม่บานปลาย คาดว่า จะยังไม่ส่งผลกระทบมากนัก เนื่องด้วย ประเทศไทยมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ การเงินการคลัง และด้านต่างประเทศที่แข็งแกร่ง

ในกรณีที่การประท้วงบานปลาย (ซึ่งมีโอกาสเกิดค่อนข้างน้อย) จะส่งผลกระทบต่อการส่งออก และภาคอุตสาหกรรมของไทย เนื่องจาก จีนเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญ และมีห่วงโซ่อุปทานที่เชื่อมโยงกับภาคการผลิตของทั้งสองประเทศอยู่ค่อนข้างมาก และจะส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวของไทยไม่ฟื้นตัวเต็มศักยภาพจากการหดหายของนักท่องเที่ยวจีน

       

    

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์