BANKING SECTOR - ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่อง

BANKING SECTOR - ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่อง

กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 25bps เป็น 1.25% ซึ่งเป็นการขึ้นดอกเบี้ยติดต่อกันเป็นครั้งที่สามแล้ว เราคาดว่า ธปท. น่าจะขึ้นดอกเบี้ยต่ออีกในปี 2023 และคาดว่า NIM ของธนาคารต่าง ๆ จะขยับเพิ่มขึ้น

เราประเมินว่าธนาคารขนาดใหญ่จะได้อานิสงส์มากที่สุดจากการขึ้นดอกเบี้ย และยังคงให้น้ำหนักหุ้นกลุ่มธนาคารที่ OVERWEIGHT โดยเลือก SCB และ BBL เป็นหุ้นเด่นของเราในกลุ่มนี้

 

ธปท. ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 25bps ติดต่อกันเป็นรอบที่สาม

กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นอีก 25 bps จาก 1.00% เป็น 1.25% โดยมีผลทันที ธปท. ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยยังคงฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง จากการขับเคลื่อนของภาคการท่องเที่ยว และการบริโภคภาคเอกชน ซึ่งคาดว่าจะเป็นเครื่องยนต์หลักที่จะผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจ และช่วยบรรเทาผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2023 ทั้งนี้ ธปท. คาดว่า GDP ปีนี้จะขยายตัว 3.2% และปีหน้าจะขยายตัว 3.7% 2023 (จากเดิมที่คาด 3.3% และ 3.8% ตามลำดับ) ในขณะเดียวกัน แรงกดดันด้านเงินเฟ้อน่าจะผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว แต่อาจจะยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงก่อนที่จะปรับลงสู่เป้าหมายของนโยบายการเงิน ธปท. คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ 6.3% ในปี 2022 และจะลดลงมาอยู่ที่ 3.0% ในปี2023 (จากเดิมที่คาด 6.3% และ 2.6% ตามลำดับ) ดังนั้น ธปท. จึงเชื่อว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายแบบค่อยเป็นค่อยไปยังคงเป็นแนวทางที่เหมาะสมเมื่อพิจารณาจากแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในปัจจุบัน

 

 

 

 

ธปท. มีแนวโน้มปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่ออีกในปี 2023

การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 25bps รอบนี้เป็นไปตามที่เราและตลาดประเมิน สำหรับในระยะต่อไป เราคาดว่าธปท. จะขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 25bps อีกอย่างน้อยหนึ่งครั้ง (ในการประชุม กนง. นัดหน้าในวันที่ 25 มกราคม 2023) และคาดว่าจะขึ้นดอกเบี้ยกรณีมากที่สุดสามครั้งรวม 75bps ในปี 2023 เรามองว่าธปท. ไม่น่าจะขึ้นดอกเบี้ยแรงถึงครั้งละ 50bps แล้วเพราะมีโอกาสน้อยที่จะเกิดเงินเฟ้อระลอกสองท่ามกลางการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และราคาเชื้อเพลิงที่ลดลง

 

กลุ่มธนาคารได้ประโยชน์จาก NIM ที่จะปรับเพิ่มขึ้น

เราคาดว่าธนาคารต่าง ๆ จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ M-rate ตามการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายรอบล่าสุดของธปท. ภายใน 1-2 สัปดาห์หลังจากนี้ ดังนั้นเราประเมินว่า NIM ของธนาคารต่าง ๆ จึงน่าจะเพิ่มขึ้นได้ใน 4Q22 และภาพทั้งปีในปี 2023 เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังคงฟื้นตัวขึ้นอย่างดีต่อเนื่องท่ามกลางวัฏจักรขาขึ้นของดอกเบี้ยนโยบาย เราประเมินว่ากลุ่มธนาคารหลักขนาดใหญ่ ซึ่งได้แก่ KTB, KBANK, SCB และ BBL จะได้อานิสงส์มากที่สุดเมื่อพิจารณาจากพอร์ตสินเชื่อ และโครงสร้างเงินฝาก เรายังคงให้น้ำหนักหุ้นกลุ่มธนาคารที่ OVERWEIGHT โดยเลือก SCB และ BBL เป็นหุ้นเด่น