ก.ล.ต. กับการพัฒนา Web Portal ประตูสู่โครงสร้างพื้นฐานตลาดทุนดิจิทัล

ก.ล.ต. กับการพัฒนา Web Portal  ประตูสู่โครงสร้างพื้นฐานตลาดทุนดิจิทัล

ก.ล.ต. กับการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานกลาง เพื่อมุ่งสู่ตลาดทุนดิจิทัล (ตอนที่ 2)"* โดย นางสาวอาชินี ปัทมะสุคนธ์ ผู้ช่วยเลขาธิการสายสื่อสารองค์กรและเครือข่ายตลาดทุน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

โดย นางสาวอาชินี ปัทมะสุคนธ์ ผู้ช่วยเลขาธิการสายสื่อสารองค์กรและเครือข่ายตลาดทุน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
    ในคราวที่แล้วผู้เขียนได้เล่าถึงการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล (Digital Infrastructure) ของตลาดทุนไทยที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้พัฒนาร่วมกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อผลักดันตลาดทุนไทยให้ก้าวสู่ยุคดิจิทัล ที่มีการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้อย่างเต็มรูปแบบ (ก.ล.ต. การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานกลาง เพื่อมุ่งสู่ตลาดทุนดิจิทัล ตอนที่ 1) 

ก.ล.ต. กับการพัฒนา Web Portal  ประตูสู่โครงสร้างพื้นฐานตลาดทุนดิจิทัล

ในบทความครั้งนี้จะเล่าถึงความคืบหน้าของการดำเนินการในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการหารือกันเพื่อรวบรวมประเด็นปัญหาต่างๆ ความต้องการของผู้ใช้งาน และพัฒนาระบบภายใต้โครงการ Digital Infrastructure ในระยะแรกที่เรียกว่าระบบ “Web Portal” 
     ระบบ Web Portal เปรียบเสมือนประตูที่จะนำไปสู่ถนนกลางของระบบโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ของตลาดทุนไทย ซึ่งตามแผนการพัฒนาในระยะแรกจะสามารถรองรับธุรกรรมในตลาดตราสารหนี้ประเภทหุ้นกู้เอกชนทั่วไปที่ไม่มีความซับซ้อน (plain vanilla) และรองรับการจัดการข้อมูลในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมตราสารหนี้ในตลาดแรก โดยครอบคลุมกระบวนการต่างๆ ดังนี้ 

    1. การออกและเสนอขายตราสารหนี้ (Bond filing) ผู้ที่ประสงค์จะออก และเสนอขายตราสารหนี้ หรือเรียกว่า issuer ต้องยื่นข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพื่อขออนุมัติจาก ก.ล.ต. ผ่านระบบ
     2. การขึ้นทะเบียนกับสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA Bond Registration) เมื่อตราสารหนี้ได้รับอนุมัติจาก ก.ล.ต. แล้ว ระบบจะนำส่งข้อมูลให้ ThaiBMA เพื่อการขึ้นทะเบียน และออก Bond Symbol
     3. การรับจองซื้อหลักทรัพย์ (Subscription) ระบบจะช่วยรวบรวมข้อมูลการจองซื้อ และจัดสรรตราสารหนี้ของผู้ลงทุนกับผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์แต่ละรายเพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน
     4. การจัดทำทะเบียนหลักทรัพย์ (Bond Registration) ระบบจะช่วยรวบรวมข้อมูลการจัดสรรตราสารหนี้ของผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์เพื่อนำส่งให้นายทะเบียนเพื่อนำไปจัดทำทะเบียนผู้ถือตราสารหนี้ 
     5. การฝากตราสารหนี้บนระบบไร้ใบ (Scripless Crediting) ในขั้นตอนนี้ระบบจะนำส่งข้อมูลตราสารหนี้หลังจากที่ได้ทำทะเบียนแล้วให้ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (Depository) เพื่อนำฝากตราสารหนี้เข้าสู่ระบบ scripless ซึ่งผู้ลงทุนถือครองหลักทรัพย์ในรูปแบบที่ไม่มีใบหลักทรัพย์
     6. การรายงานภายหลังการขาย (Post sales report) เมื่อกระบวนการขายข้างต้นเสร็จสิ้น ระบบจะส่งข้อมูลรายงานผลการขายต่อ ก.ล.ต. โดยอัตโนมัติ
     ระบบ Web Portal จะเปลี่ยนกระบวนการทำงานร่วมกันระหว่างผู้ออกตราสารหนี้ ผู้ประกอบธุรกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เป็นแบบดิจิทัล โดยปรับปรุงการจัดการข้อมูลจากเดิมที่อยู่ในรูปกระดาษให้อยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งใช้ชุดข้อมูล (standard file format) ที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งอุตสาหกรรมทำให้ข้อมูลอยู่ในรูปแบบที่สามารถนำไปประมวลผลต่อได้ ปรับปรุงการลงนามจากเดิมที่ใช้ปากกาเป็นการลงนามแบบ e-signature ที่มีความปลอดภัย และสะดวกมากขึ้น รวมทั้งช่วยสร้างข้อมูลแบบอัตโนมัติ (auto-generated report) เพื่อลดภาระในการจัดทำข้อมูลต่างๆ
     ทั้งนี้ การพัฒนาระบบ Web Portal คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงต้นปี 2566 และเพื่อให้มั่นใจในความพร้อมใช้งานของระบบดังกล่าว จะมีการทดสอบระบบทั้งในด้านเทคนิค และด้านการใช้งานจริงจากผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มั่นใจว่าระบบต่างๆ ทำงานร่วมกันได้อย่างถูกต้อง หลังจากนั้นจะเปิดให้ผู้ใช้งานจริงเข้าใช้ได้ภายใต้โครงการ Sandbox ของ ก.ล.ต. ต่อไป
     นอกจากนี้ ก.ล.ต. ยังได้มีการออกหลักเกณฑ์เพื่อรองรับกลุ่มผู้ออกหลักทรัพย์ และผู้ประกอบธุรกิจที่เข้าร่วมโครงการให้สามารถทดสอบการให้บริการร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีการปฏิบัติงานเป็นมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งผู้ออกหลักทรัพย์ ผู้ประกอบธุรกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ได้ร่วมพัฒนาระบบ สามารถยื่นความประสงค์ในการขอเริ่มทดสอบได้ โดยจะมีระยะเวลา 1 ปี ในการให้บริการภายใต้โครงการ Sandbox หลังจากที่ ก.ล.ต. อนุมัติให้มีการเริ่มทดสอบระบบ
     เมื่อการทดสอบให้บริการในระยะแรกแล้วเสร็จ ในระยะถัดไประบบ Web Portal จะพัฒนาขยายการให้บริการรองรับตราสารหนี้ประเภทที่มีความซับซ้อน โดยเมื่อสามารถให้บริการครอบคลุมตราสารหนี้ทุกประเภทแล้ว ก็จะเปิดให้บริการกับผู้ใช้งานจริงในวงกว้าง ทั้งนี้ ในอนาคตจะมีการขยายระบบให้ครอบคลุมถึงการทำธุรกรรมในตลาดรอง ตลอดจนหลักทรัพย์ประเภทอื่นๆ ต่อไป

***********************************
หมายเหตุ : ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์