Thaioil Weekly Oil Market and Outlook as of 21 November 2022

Thaioil Weekly Oil Market and Outlook as of 21 November 2022

ราคาน้ำมันดิบผันผวนในระดับที่ต่ำลง จากความกังวลนโยบาย zero-COVID ของจีน ขณะที่ปริมาณการผลิตของกลุ่มโอเปคปรับลด

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 78 – 89 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 85 – 97 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

Thaioil Weekly Oil Market and Outlook as of 21 November 2022

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (21 – 25 พ.ย. 65) 

    ราคาน้ำมันดิบผันผวนในระดับที่ต่ำลง จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด – 19 ในประเทศจีนที่ยังไม่คลี่คลาย หลังพบผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นในบางพื้นที่ ส่งผลให้จีนยังคงอาจล็อกดาวน์และใช้มาตรการเข้มงวดตามนโยบาย Zero-COVID ที่จีนใช้เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงกังวลอุปทานน้ำมันดิบโลกตึงตัวหลังปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มโอเปคเดือนต.ค. 65 ปรับตัวลดลง และคาดการณ์ว่าการผลิตในเดือนพ.ย. 65 อาจมีแนวโน้มปรับลดลงต่อ จากแผนการปรับลดโควต้าการผลิตของกลุ่มลง 2.0 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลง ส่งผลให้สัญญาน้ำมันดิบที่ซื้อขายในเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ มีความน่าสนใจมากขึ้นในสายตาของนักลงทุนที่ถือเงินสกุลอื่น
 

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้

-  สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในจีนยังไม่คลี่คลาย หลังเกิดเหตุประท้วงของผู้คนจำนวนมากในเมืองกวางโจวประเทศจีน เนื่องจากรัฐบาลประกาศล็อกดาวน์และใช้มาตรการจำกัดการเดินทางตั้งแต่วันที่ 5 พ.ย. 65 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่ไม่สามารถเดินทางหรือใช้ชีวิตได้ตามปกติ ขณะที่นโยบาย Zero-COVID ยังคงใช้เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดในประเทศอย่างต่อเนื่องตามที่ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้กล่าวไว้ในการประชุมพรรคคอมมิวนิสต์ที่ผ่านมา แม้จะมีการปรับลดจำนวนวันในการกักตัวลงบ้างแล้วก็ตาม

-  Energy Aspects รายงานเดือนพ.ย. 65 คาดการณ์ปริมาณการผลิตของ non-OPEC ปรับเพิ่มขึ้น 1.74 และ 1.54 ล้านบาร์เรลต่อวันเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า สู่ระดับที่ 65.58 และ 67.12 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2022 และ 2023 ตามลำดับ ทั้งยังปรับเพิ่มคาดการณ์การผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ และรัสเซียในปี 2022 ขึ้น 0.01 และ 0.07 ล้านบาร์เรลต่อวันจากการคาดการณ์ของเดือนก่อนหน้า สู่ระดับ 18.93 และ 10.93 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตามลำดับ 

- การผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มโอเปคเดือนต.ค. 65 ปรับลดลง 0.21 ล้านบาร์เรลต่อวันเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าสู่ระดับ 29.49 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากการผลิตของซาอุดิอาระเบียและแองโกลาที่ปรับลดลง 0.15 และ 0.08 ล้านบาร์เรลต่อวันสู่ 10.84 และ 1.07 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตามลำดับ ขณะที่การผลิตของไนจีเรียปรับเพิ่มขึ้น 0.03 ล้านบาร์เรลต่อวันสู่ 1.06 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากท่าส่งออกน้ำมัน Forcados and Brass กลับมาดำเนินงานตามปกติ
 

-  Morgan Stanley คาดการณ์ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องในปลายปี 2022 และปี 2023 เนื่องจาก FED เริ่มชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หลังอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ เริ่มส่งสัญญาณดีขึ้น ส่งผลให้สัญญาน้ำมันดิบที่ซื้อขายในเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ มีความน่าสนใจมากขึ้นในสายตาของนักลงทุนที่ถือเงินสกุลอื่น

-   เศรษฐกิจน่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นของยุโรปเดือนพ.ย. 65 และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐฯ เดือนพ.ย. 65 โดยตลาดคาดว่าอาจปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า

 

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (14 พ.ย. - 18 พ.ย. 65)  

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 5.79 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 80.08 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ปรับลดลง 5.52 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 87.62 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 84.49 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลัง EIA รายงานสต็อกน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 11 พ.ย. 65 ปรับลดลง 5.4 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 435.4 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ว่าจะปรับลดลงเพียง 0.044 ล้านบาร์เรล ขณะที่ตลาดกังวลอุปทานน้ำมันดิบตึงตัวระยะสั้น หลังท่อส่งน้ำมัน Southern Druzhba หยุดการดำเนินงานชั่วคราว จากการโจมตีสถานีน้ำมันในยูเครน ก่อนที่ปัจจุบันท่อส่งน้ำมันดังกล่าวจะกลับมาดำเนินงานตามปกติ นอกจากนี้ตลาดยังคงกังวลสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในจีน หลังพบผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นในบางพื้นที่ ขณะที่จีนเพิ่งประกาศผ่อนปรนมาตรการควบคุมโควิดบางส่วน หากจีนกลับมาล็อกดาวน์และใช้มาตรการเข้มงวดอีกครั้งอาจส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ และปริมาณความต้องการใช้น้ำมันโลก