ดอกเบี้ยสูง ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเข้าใกล้จุดสูงสุด สินทรัพย์ใดบ้างที่จะได้ประโยชน์?

ดอกเบี้ยสูง ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเข้าใกล้จุดสูงสุด สินทรัพย์ใดบ้างที่จะได้ประโยชน์?

วิเคราะห์ทิศทางและแนวโน้มการลงทุน เมื่อดอกเบี้ยปรับตัวสูง และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเข้าใกล้จุดสูงสุด สินทรัพย์อะไรบ้างที่จะได้ประโยชน์หลังจากนี้?

เข้าสู่ช่วงสุดท้ายของปี 2022 ซึ่งถือว่าเป็นปีที่เข้มข้นมาก โดยเฉพาะตลาดทุนทั่วโลกที่ถูกกดดันจากการเพิ่มความเข้มงวดในนโยบายการเงินของ ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Fed เพื่อสู้กับ เงินเฟ้อ ที่เร่งตัวขึ้น และยังคงอยู่ในระดับสูงมาตลอดทั้งปี ทำให้ Fed จำเป็นต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยไปแล้วถึง 6 ครั้ง สู่ระดับ 3.75% - 4.0% ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยที่สูงสุดในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โดยในปีนี้จะเหลือการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ อีก 1 ครั้ง นั่นก็คือ วันที่ 13 - 14 ธ.ค. นี้ ซึ่งจะต้องมาลุ้นกันว่า ตัวเลขเงินเฟ้อ และตัวเลขการจ้างงานระหว่างนี้จะยังคงร้อนแรงต่อหรือเริ่มแผ่วลง โดยในครั้งนี้จะเป็นจุดชี้ชะตาว่า นโยบายการเงินจะเข้าสู่ช่วงปลายวัฏจักรแล้วหรือไม่  

ดอกเบี้ยปรับขึ้นมาสู่ช่วงปลายวัฏจักรแล้วหรือยัง?

​การที่ดอกเบี้ยปรับขึ้นมาหลายครั้งตลอดทั้งปีจนขึ้นมาสู่จุดสูงสุดในรอบ 10 ปีนั้น ไม่ได้เป็นตัวบ่งชี้ว่า Fed จะต้องหยุดขึ้นดอกเบี้ยในเร็วๆ นี้ แต่สิ่งที่ Fed ใช้พิจารณาเป็นหลัก นั่นคือ ตัวเลขเงินเฟ้อ และตัวเลขการจ้างงาน หากพิจารณาจากเงินเฟ้อ (CPI) ของสหรัฐฯ จะเห็นว่า มีการเร่งตัวขึ้นสูงสุด +9.1% YoY ในช่วงเดือน มิ.ย. และหลังจากนั้นเริ่มชะลอลง แต่ยังคงขยายตัวอยู่ที่ระดับสูงกว่า +8% YoY จนล่าสุดตัวเลขเงินเฟ้อเดือน ต.ค. รายงานออกมา +7.7% YoY นับว่าเป็นการขยายตัวต่ำกว่า 8% เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน มี.ค. 2022 โดยหลักๆ เป็นผลมาจากราคาน้ำมันที่เริ่มมีทิศทางชะลอลงชัดเจน รวมถึงปัจจัยสำคัญอย่างค่าเช่าที่อยู่อาศัย (Shelter) ที่เร่งตัวขึ้นแต่เริ่มมีอัตราที่คงที่มากขึ้น ไม่เร่งแรงเหมือนช่วงครึ่งปีแรก

ทั้งนี้ ค่าเช่าที่อยู่อาศัย (Shelter) ถือว่ามีส่วนสำคัญในตระกร้าเงินเฟ้อ (CPI) อย่างมาก เนื่องจากมีสัดส่วนในการคำนวณกว่า 30% แต่ในระยะข้างหน้านักวิเคราะห์จาก Goldman Sachs เริ่มมองว่า ค่าเช่าที่อยู่อาศัยจะเริ่มชะลอลงในไตรมาสแรกของปี 2023 สนับสนุนว่า เงินเฟ้อสหรัฐฯ น่าจะเริ่มชะลอลงตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้

​ดังนั้น หากทิศทางราคาน้ำมัน และค่าเช่าบ้าน เริ่มชะลอลงชัดเจนก็อาจจะทำให้ เงินเฟ้อ มีทิศทางชะลอลง แต่อาจจะยังยากที่จะกลับสู่เป้าหมายเงินเฟ้อของ Fed ภายในปี 2023 ที่ตั้งไว้ 2% รวมถึงถ้าหากตลาดแรงงานไม่ได้ร้อนแรงไปมากกว่านี้ ซึ่งเป็นผลมาจากความเสี่ยงด้าน เศรษฐกิจถดถอย ในปีหน้าก็จะมีความเป็นไปได้สูงที่ Fed จะเริ่มขึ้นดอกเบี้ยในอัตราที่ลดลง โดยล่าสุดตลาดเริ่มมองว่า Fed อาจจะขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมเดือน ธ.ค. ซึ่งจะเป็นการลดความร้อนแรงลงครั้งแรกหลังจากปรับขึ้นในอัตรา 0.75% มา 4 ครั้งติดต่อกัน โดยจะมีการขึ้นอีก 0.25% ในเดือน ก.พ. ปี 2023 และขึ้นอีก 0.25% ในเดือน มี.ค. 2023 จนดอกเบี้ยไปสุดทางอยู่ที่ 4.75% - 5.0% และคงดอกเบี้ยระดับนี้ไปจนถึงสิ้นปี ซึ่งหากในเดือน ธ.ค. นี้ Fed เริ่มขึ้นดอกเบี้ยในอัตราที่ลดลงจริงก็อาจจะเป็นสัญญาณที่บ่งบอกได้ว่า "เป็นการเข้าสู่ช่วงปลายวัฏจักรของการขึ้นดอกเบี้ยในรอบนี้แล้ว"

ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับขึ้น สะท้อนความเสี่ยงไปมากแล้ว

จากภาพจะเห็นว่าผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล ทั้งอายุ 2 ปี และ 10 ปี ปรับตัวขึ้นมาชัดเจนตั้งแต่ช่วงต้นปีหลังจาก Fed มีการส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ย จนมาทะยานขึ้นแรงในช่วงเดือน มี.ค. ในช่วงที่ Fed ประกาศขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกที่ 0.25% จากนั้นก็ปรับขึ้นมาโดยตลอดสู่ระดับ 4.3% และ 3.8% ตามลำดับ (as of 11 พ.ย. 2022) ซึ่งเป็นจุดสูงสุดในรอบ 10 ปี เช่นเดียวกับดอกเบี้ยนโยบาย

ภาพแสดงอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 2 ปี และ 10 ปี

ดอกเบี้ยสูง ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเข้าใกล้จุดสูงสุด สินทรัพย์ใดบ้างที่จะได้ประโยชน์?

ที่มา : Bloomberg as of 10 Nov 2022

​อย่างไรก็ตาม ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ทั้งอายุ 2 ปี และ 10 ปี ก็ได้สะท้อนทั้งนโยบายการเงินที่เข้มงวด และเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ฟื้นตัวมาระดับหนึ่งแล้ว แต่หลังจากที่ Fed ขึ้นดอกเบี้ยมาเร็วและแรงมากขนาดนี้ ความเสี่ยงที่รออยู่ข้างหน้าคงหนีไม่พ้น ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ที่ปัจจุบันนักเศรษฐศาสตร์มองว่า มีโอกาสถึง 60% ที่เศรษฐกิสหรัฐฯ จะเกิดการถดถอยในอีก 12 เดือนข้างหน้า จากต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด และจากการศึกษาข้อมูลในอดีตพบว่า ตั้งแต่ปี 1970 เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยอยู่ 8 ครั้ง ซึ่ง 6 ใน 8 ครั้ง ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ปรับตัวลงค่อนข้างชัดเจนในแต่ละช่วงเวลาดังกล่าว ดังนั้น มองว่าจากการที่ Fed ขึ้นดอกเบี้ยขึ้นมามากและใกล้เข้าสู่ช่วงปลายวัฏจักร ประกอบกับความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยในปีหน้า จะทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวลงในระยะข้างหน้า ซึ่งสอดคล้องกับทาง TISCO Economic Strategy Unit (ESU) ที่ได้มีการคาดการณ์ไว้ว่า ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี น่าจะทำจุดสูงสุดที่ระดับราวๆ 4% หลังจากนั้นจะค่อยๆ ปรับตัวลงในปี 2023 บนสมมุติฐานที่ว่า Fed ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสู่ระดับสููงสุดที่ราวๆ 5% โดยคงดอกเบี้ยเหนือ 4% จนถึงสิ้นปี 2024 และ Fed จะมีการปรับลดดอกเบี้ยระยะยาวในปี 2025 โดยยังคงทำ QT เดือนละ $95 พันล้านไปจนอย่างน้อยถึงสิ้นปี 2023

ภาพแสดงการเปลี่ยนแปลงของผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ในช่วงเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ตั้งแต่ปี 1970

ดอกเบี้ยสูง ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเข้าใกล้จุดสูงสุด สินทรัพย์ใดบ้างที่จะได้ประโยชน์?

ที่มา : Bloomberg as of 10 Nov 2022

สินทรัพย์อะไรได้ประโยชน์จากการที่ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลมีแนวโน้มปรับตัวลง?

​หลายท่านคงอยากทราบแล้วว่า ภาวะแบบนี้สินทรัพย์อะไรน่าจะได้ประโยชน์ จริงๆ แล้วในภาวะปกติการที่ผลตอบแทน พันธบัตรรัฐบาล มีแนวโน้มปรับตัวลงจะดีกับสินทรัพย์เสี่ยง เช่น หุ้น รวมไปถึงสินทรัพย์เสี่ยงกลาง-ต่ำ อย่าง ตราสารหนี้ ด้วย เนื่องจากราคาของทั้งคู่มีความสัมพันธ์ที่ค่อนข้างตรงข้ามกันกับผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล อธิบายให้ชัดขึ้นคือ ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวลง ราคาหุ้น และราคาตราสารหนี้ มักจะปรับเพิ่มขึ้น แต่เนื่องด้วยกำลังเผชิญกับภาวะดอกเบี้ยสูงและน่าจะยังคงสูงต่อเนื่อง เศรษฐกิจเริ่มชะลอจนมีโอกาสถดถอย ทำให้ "หุ้น" อาจจะได้รับแรงกดดัน และผันผวนได้ต่อ ดังนั้น สถานการณ์แบบนี้จึงเหมือนกับเป็นการบังคับให้นักลงทุน โดยเฉพาะที่รับความเสี่ยงได้ระดับกลาง เบนความสนใจมาที่สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น ตราสารหนี้ โดยเฉพาะตราสารหนี้ภาครัฐหรือที่เรียกกันว่า พันธบัตรรัฐบาล โดยสนับสนุนจากสถิติในอดีตที่พบว่า ทั้งก่อนและหลังจาก Fed หยุดขึ้นดอกเบี้ย ในช่วงที่เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยตั้งแต่ปี 1984 ราคาพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ มักจะปรับตัวขึ้นได้ดีกว่าดัชนี S&P500 โดยเฉพาะช่วงก่อนหยุดขึ้นดอกเบี้ย 6 เดือน และหลังหยุดขึ้นดอกเบี้ยไป 3 เดือน

ภาพแสดงการเปรียบเทียบผลตอบแทนจากการเปลี่ยนแปลงของราคาระหว่าง ดัชนี S&P500 และราคาพันธบัตรรัฐบาล อายุ 10 ปี

ดอกเบี้ยสูง ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเข้าใกล้จุดสูงสุด สินทรัพย์ใดบ้างที่จะได้ประโยชน์?

ที่มา : Bloomberg, TISCO Economic Strategy Unit (ESU)

​ดังนั้น หากพอจะคาดการณ์ได้ว่า การขึ้นดอกเบี้ยน่าจะเข้าใกล้จุดสิ้นสุดแล้ว ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล มีแนวโน้มปรับตัวลง และในปีหน้าอาจจะต้องเจอกับ ภาวะเศรษฐกิจถดถอย สินทรัพย์ที่น่าจะได้ประโยชน์ที่สุด และค่อนข้างปลอดภัย คงเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจาก พันธบัตรรัฐบาล และด้วยความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยที่เพิ่มขึ้นพร้อมๆ กันทั่วโลก จึงจำเป็นต้องเลือกพันธบัตรรัฐบาลของประเทศที่มั่นคงและปลอดภัยที่สุด โดย พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่เหมาะสม ด้วย Credit Rating ระดับ AAA (อ้างอิงจากการจัดอันดับของ Fitch) ให้ผลตอบแทนสูงราวๆ 4%(อ้างอิงจากผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 10 ปี) จึงมองว่าน่าจะเป็นโอกาสลดความผันผวนโดยรวมของพอร์ต และสร้างผลตอบแทนได้ดีในปี 2023

ภาพแสดงความสัมพันธ์ระหว่างผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล อายุ 10 ปี กับ ราคากองทุน ETF ที่ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ

ดอกเบี้ยสูง ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเข้าใกล้จุดสูงสุด สินทรัพย์ใดบ้างที่จะได้ประโยชน์?

ข้อมูล บทความ บทวิเคราะห์และการคาดหมาย รวมทั้งการแสดงความคิดเห็นทั้งหลายที่ปรากฏอยู่ในรายงานฉบับนี้ทำขึ้นบนพื้นฐานของแหล่งข้อมูลที่ดีที่สุดที่ได้รับมาและพิจารณาแล้วเห็นว่า น่าเชื่อถือ แต่ทั้งนี้ไม่อาจรับรองความถูกต้อง ความสมบูรณ์ แท้จริงของข้อมูลดังกล่าว ความเห็นที่แสดงไว้ในรายงานฉบับนี้ได้มาจากการพิจารณาโดยเหมาะสมและรอบคอบแล้ว และอาจเปลี่ยนแปลงได้โดยไม่จำเป็นต้องแจ้งล่วงหน้าแต่อย่างใด บทความ บทวิเคราะห์ และการคาดหมายทั้งหลายที่ปรากฏ อยู่ในรายงานฉบับนี้เป็นการนำไปใช้โดยผู้ใช้ยอมรับความเสี่ยงและเป็นดุลยพินิจของผู้ใช้แต่เพียงผู้เดียว

ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ บลจ.ทิสโก้ หรือ TISCO Contact Center โทร. 0 2633 6000 กด 4, 0 2080 6000 กด 4 และ www.tiscoasset.com หรือแอปพลิเคชัน TISCO My Funds