POLY เปิดแผนขายไอพีโอ เหยียบคันเร่ง 3 พอร์ตธุรกิจโต

POLY เปิดแผนขายไอพีโอ  เหยียบคันเร่ง 3 พอร์ตธุรกิจโต

วัตถุดิบยางซิลิโคน - พลาสติก เป็นหนึ่งใน “จิ๊กซอว์” ประกอบในสินค้าต่างๆ ในชีวิตประจำวันของมนุษย์ ดังนั้น ตลาดดังกล่าวจึงมี “มูลค่ามหาศาล” และมีทิศทางการเติบโตต่อเนื่อง ! และหนึ่งในไอพีโอ ผู้ประกอบการกำลังได้ผลบวกดังกล่าว

            วัตถุดิบยางซิลิโคน - พลาสติก เป็นหนึ่งใน “จิ๊กซอว์” ประกอบในสินค้าต่างๆ ในชีวิตประจำวันของมนุษย์ ดังนั้น ตลาดดังกล่าวจึงมี “มูลค่ามหาศาล” และมีทิศทางการเติบโตต่อเนื่อง ! และหนึ่งในผู้ประกอบการกำลังได้ผลบวกดังกล่าว คงต้องยกให้ บริษัท โพลีเน็ต จำกัด (มหาชน) หรือ POLY ผู้ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยางซิลิโคน และพลาสติกขึ้นรูปตามความต้องการของลูกค้า

 

          หุ้น  POLY เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO)จำนวน 120 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 6.80 บาท มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์)1 บาทต่อหุ้น หรือคิดเป็น 26.7% ของจำนวนหุ้นที่ออก และเรียกชำระแล้วทั้งหมดภายหลังการเพิ่มทุน คาดจะเข้าซื้อขายวันแรก (เทรด) ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) 16 พ.ย.2565 นี้

          “กาญจนา เหลารัตนา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โพลีเน็ต (POLY) ให้สัมภาษณ์ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า การเข้าระดมทุนในตลาดหุ้นคราวนี้ ! คาดจะนำเงินที่ได้จากจำนวน 785 ล้านบาท เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบกิจการ 370 ล้านบาท ใช้สำหรับจ่ายคืนหนี้สินเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน 320 ล้านบาท และใช้สำหรับลงทุนในโครงการขยายโรงงาน และลงทุนเครื่องจักรเพิ่มเติม 95 ล้านบาท ตามโครงการในอนาคต เพื่อรองรับโอกาสทางธุรกิจ เพิ่มศักยภาพในการเติบโตอย่างแข็งแกร่งต่อไป

สำหรับโครงการในอนาคตของ POLY ประกอบด้วย “โครงการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์” (พลาสติก) ในอาคารผลิต โรงงานที่ 1 สนับสนุนกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นประมาณ 550 ตันต่อปี เพิ่มขึ้น 16.6% จากกำลังการผลิตทั้งหมดในปี 64 แบ่งเป็น ค่าปรับปรุงบริเวณสายการผลิต ค่าระบบสาธารณูปโภค 19.5 ล้านบาท และเครื่องจักรผลิตตั้งแต่ 250 ตันถึง 650 ตัน จำนวน 11 เครื่อง เครื่องมืออุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องรวม 124.1 ล้านบาท ผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับ IRR 19% คาดจำนวนปีที่คืนทุน ประมาณ 5 ปี

        อนึ่ง ปัจจุบัน POLY มีโรงงาน 2 แห่ง อยู่ที่ อ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ ณ สิ้นปี 2564 กำลังการผลิต 2 โรงงาน รวมประมาณ 3,300 ตันต่อปี อัตราการใช้กำลังการผลิตรวมประมาณ 60% ขณะที่ไตรมาส 2/2565 อัตราการใช้กำลังการผลิตรวมเพิ่มขึ้นอยู่ที่ประมาณ 70%

       “กาญจนา” บอกต่อว่า ปัจจุบันธุรกิจอยู่ใน 3 อุตสาหกรรม “อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์” จะเน้นสินค้าประเภท Interior Part อาทิ หน้ากากช่องแอร์ ยางขอบประตู และอื่นๆ โดยลูกค้าส่วนใหญ่ของบริษัทจะเป็นลูกค้าในธุรกิจ Car Maker ทางญี่ปุ่น เช่น Toyota, Honda, Nissan รวมถึงค่ายรถชั้นนำของยุโรปด้วยอย่าง BMW และ Audi

“อุตสาหกรรมเครื่องมือ และอุปกรณ์ทางการแพทย์” ซึ่งผู้บริโภคนึกถึงเพียงแค่ สายน้ำเกลือ หรือ กระบอกฉีดยา แต่ทางบริษัทมีผลิตภัณฑ์ที่มากกว่านั้น เพราะสิ่งที่ POLY ทำคือ เป็นสินค้านวัตกรรม อาทิ ชิ้นส่วนเครื่องควบคุมการให้สารละลายทางหลอดเลือด (Elastomeric Pump), ชิ้นส่วนเครื่องให้ออกซิเจน (Breathe Pillow Entrainment Interface) หรือตัวล็อกเข็มฉีดยา (Q-FLO, Q-LOCK) เพื่อลดความเสี่ยงต่อการสัมผัสยาโดยตรง เป็นต้น

          “เรามองอุตสาหกรรม Medical ยังสามารถเติบโตได้อีกมาก แม้การ Validation จะใช้ระยะเวลาค่อนข้างนานหลายปี แต่บริษัทก็ยังมุ่งมั่น และพร้อมที่จะเติบโตไปในแนวของนวัตกรรมที่จะทำให้ผู้ป่วยเจ็บปวดน้อยลงในหลายๆ ผลิตภัณฑ์ต่อไป”

          และ “อุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภค” บริษัทผลิตสินค้าให้กับแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าชั้นนำต่างๆ อาทิ Sharp Panasonic และ Toshiba เป็นสินค้าประเภทซีลยางในกระติกน้ำร้อน - หม้อหุงข้าว เป็นต้น แต่ปัจจุบันบริษัทเริ่มมีนวัตกรรมใหม่ๆ ตามเมกะเทรนด์โลกอย่างการรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

          ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้ารายได้ 3 ปีข้างหน้า (2566-2568) เติบโตเฉลี่ยปีละ 25-30% ด้วยกลยุทธ์มุ่งเน้นเรื่องคุณภาพของสินค้า และบริการ รวมถึงการคิดค้นนวัตกรรมการผลิตใหม่ๆ เข้ามาเพิ่มความสามารถในการทำกำไรโดยตั้งเป้ามีสัดส่วนรายได้จากกลุ่มยานยนต์ในอีก 3 ปีข้างหน้า แตะระดับ 30% จากปัจจุบันมีสัดส่วนประมาณเกือบ 50% โดยไม่ลดปริมาณรายได้จากการขายโดยกลุ่มดังกล่าวมีมาร์จิ้นประมาณ 20%

           ขณะที่ ตั้งเป้าสัดส่วนรายได้กลุ่ม Non-Auto ในอีก 3 ปีข้างหน้าแตะระดับ 70% ซึ่งแบ่งเป็นจากการขายในกลุ่มเครื่องมือ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ซึ่งมาร์จิ้น 60% และสินค้าอุปโภคบริโภคมีมาร์จิ้น 25% และเตรียมพร้อมสำหรับขยายไปยังอุตสาหกรรมที่เป็นโอกาสที่มีความยั่งยืน

            ท้ายสุด “กาญจนา”บอกไว้ว่า จากการขยายธุรกิจเข้าสู่กลุ่มอุปกรณ์การแพทย์และกลุ่มสินค้าอุปโภค บริโภค ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มการเติบโตสูง และปรับกลยุทธ์ในด้านกำลังการผลิตใหม่ ส่งผลให้อนาคตการเติบโตจะมีนัยสำคัญ และเป็นการกระจายความเสี่ยงไม่พึ่งพิงกลุ่มลูกค้ารายใหญ่รายเดียว !

 

 


พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์