Thaioil Weekly Oil Market and Outlook as of 7 November 2022

Thaioil Weekly Oil Market and Outlook as of 7 November 2022

ราคาน้ำมันดิบมีแรงหนุน จากความกังวลอุปทานตึงตัว ในช่วงเข้าใกล้เส้นตายการคว่ำบาตรน้ำมันของรัสเซีย 5 ธ.ค. 65 นี้

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 86-98 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 92-104 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล


 

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (7 – 11 พ.ย. 65) 

    ราคาน้ำมันดิบเคลื่อนไหวสูงขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากตลาดจับตาการส่งออกน้ำมันของรัสเซียในช่วงเข้าใกล้เส้นตายวันที่ 5 ธ.ค. 65 และการปรับลดกำลังการผลิตครั้งใหญ่ของ OPEC+ ในเดือนพ.ย. 65 ขณะที่ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นในระดับต่ำ ส่งผลให้ตลาดกังวลอุปทานน้ำมันดิบตึงตัว ขณะที่การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ FED ในการประชุมที่ผ่านมา เป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์เอาไว้ และอาจมีแนวโน้มชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งหน้า อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในจีนยังคงกดดันตลาด หลังจีนใช้นโยบายปลอดโควิดเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดในประเทศอย่างต่อเนื่อง 
 

 

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้

-  Rystad เดือนพ.ย. 65 คาดการณ์ตลาดน้ำมันดิบโลกมีแนวโน้มขาดดุลราว 0.5-1.5 ล้านบาร์เรลต่อวันในช่วงเดือนพ.ย.-ธ.ค. 65 นี้จากอุปทานปรับลดลงหลัง OPEC+ ปรับลดกำลังการผลิต และปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่ยังคงปรับเพิ่มขึ้นในระดับต่ำ รวมถึงช่วงเข้าใกล้เส้นตายห้ามซื้อขายน้ำมันรัสเซียในวันที่ 5 ธ.ค. 65 นี้ ขณะที่ปริมาฯความต้องการใช้ที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูหนาว และจากโรงกลั่นที่ปรับเพิ่มกำลังการผลิตหลังกลับมาจากการปิดซ่อมบำรุง อย่างไรก็ตาม ปริมาณความต้องการใช้อาจถูกกดดันจากภาวะเศรษฐกิจโลก และนโยบายปลอดโควิดของจีน ที่จีนยังคงใช้เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดในประเทศอย่างต่อเนื่อง 

-  สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานประจำเดือน ต.ค. 65 คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 101.10 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรลในปี 2565 และ 95.74 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2566 โดยปรับเพิ่มขึ้นจากการคาดการณ์เดือนก่อนหน้าที่ระดับ 100.45 และ 93.70 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2565 และ 2566 ตามลำดับ เนื่องจากอุปทานที่มีแนวโน้มตึงตัว จากการปรับลดกำลังการผลิตครั้งใหญ่ของ OPEC+ และความไม่แน่นอนของการส่งออกน้ำมันของรัสเซียในช่วงเข้าใกล้เส้นตาย ขณะที่เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มถดถอย ประกอบกับการล็อกดาวน์ในจีน ยังคงส่งผลกระทบต่อปริมาณความต้องการใช้น้ำมันโลก 

-  บริษัทเบเกอร์ ฮิวจ์รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติสหรัฐฯ ในปี 2565 ปรับเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าเฉลี่ยราว 234 แท่น อย่างไรก็ตาม ตัวเลขประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 28 ต.ค. 65 ปรับลดลงมาอยู่ที่ 768 แท่น จาก 771 แท่นในสัปดาห์ก่อนหน้า ต่ำกว่าระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาดในปี 2562 ที่ระดับเฉลี่ยราว 943 แท่น เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นผลหลักจากเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นทั่วโลก ประกอบกับการขาดแคลนแรงงานการผลิตตั้งแต่ช่วงเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา 

-   การประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ในวันที่ 1-2 พ.ย. 65 ที่ผ่านมา มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องที่ 75 bps หรือ 0.75% ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ มาอยู่ที่ระดับ 3.75-4.0%  ซึ่งเป็นไปตามที่ตลาดคาดไว้ และตลาดคาดการณ์ว่า FED อาจลดระดับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งถัดไป อย่างไรก็ตาม อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ที่ยังอยู่ในระดับสูง ทำให้ต้นทุนทางการเงินสูงขึ้น ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัว ส่งผลต่อปริมาณความต้องการใช้น้ำมันโลก

-  ตลาดจับตาสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในจีน หลังพบผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มสูงขึ้นกว่า 1,000 รายตั้งแต่วันที่ 24-30 ต.ค. 65 ที่ผ่านมาในหลายเมือง ได้แก่ อู๋ฮั่น กวางโจว และเซี่ยงไฮ้ ขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อโดยรวมยังคงปรับเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะพื้นที่ในแถบตอนเหนือของจีนที่มีแนวโน้มพบผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นในช่วงเข้าใกล้ฤดูหนาว ส่งผลให้จีนยังคงใช้มาตรการล๊อกดาวน์ต่อเนื่อง ส่งผลต่อเศรษฐกิจในประเทศ และส่งผลต่อปริมาณความต้องการใช้น้ำมันโลก  

-  เศรษฐกิจน่าติดตามในสัปดาหฺนี้ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐฯ เดือนต.ค. 65 โดยตลาดคาดการณ์มีแนวโน้มปรับลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ระดับ 8.1% จากเดือนหน้าที่ระดับ 8.2% และตัวเลขที่สำคัญทางเศรษฐกิจของอังกฤษ ได้แก่ ตัวเลขภาคการผลิตและภาคอุตสาหกรรมเดือนต.ค. 65 และ GDP Q3’22 ที่ตลาดคาดการณ์มีแนวโน้มปรับลดลงอยู่ที่ระดับ -0.2% Q-o-Q จากไตรมาสก่อนหน้าที่ระดับ 0.2% Q-o-Q

 

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (31 ต.ค. - 4 พ.ย. 65)  

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่ม 6.08 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 92.61 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ปรับเพิ่ม 3.74 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 98.57 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 92.43 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลัง EIA รายงานสต็อกน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 28 ต.ค. 65 ปรับลดลง 3.1 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 436.8 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดไว้ว่าจะปรับเพิ่มขึ้นราว 0.37 ล้านบาร์เรล  ประกอบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่อ่อนค่าลง ส่งผลให้สัญญาน้ำมันดิบที่ซื้อขายในเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ มีราคาถูกลง และน่าสนใจมากขึ้นในสายตาของนักลงทุนที่ถือเงินสกุลอื่น ขณะที่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ FED ในการประชุมที่ผ่านมา เป็นไปที่ตลาดคาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในจีน ทำให้จีนกลับมาล็อกดาวน์อีกครั้ง ส่งผลต่อการฟื้นตัวของปริมาณความต้องการใช้น้ำมันโลก