วงการ"คริปโท"เตือน "MetFi" เสี่ยงเข้าข่าย "แชร์ลูกโซ่"

วงการ"คริปโท"เตือน "MetFi"  เสี่ยงเข้าข่าย "แชร์ลูกโซ่"

แม้ว่ากระแสคริปโทเคอเรนซีและ NFT จะเริ่มคลายความร้อนแรงลงไปบ้างแล้ว แต่มีโปรเจคหนึ่งที่กำลังได้รับความนิยมในหมู่นักลงทุนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่ง ซึ่งมีนักลงทุนไทยจำนวนไม่น้อยเข้าไปลงทุนในโปรเจคนี้ด้วย นั่นคือ “MetFi”

โดย MetFi เป็นโปรเจคNFT ที่เน้นลงทุนใน Web3.0 และ Metaverse ซึ่งเจ้าของโปรเจคอ้างว่าสามารถสร้างรายได้ได้ถึง 1,000% รวมทั้งการันตีผลตอบแทนคงที่แต่จะต้องถือโทเคน หรือสเตกโทเคน MFT ที่มีมูลค่าประมาณเหรียญละ 8,000 ดอลลาร์ ตามข้อตกลงที่กำหนดไว้ ซึ่งลงทุนน้อยได้ผลตอบแทนน้อย ลงทุนมากได้ผลตอบแทนมาก การให้ผลตอบแทนที่สูงในลักษณะนี้โดยที่ต้องหาผู้ลงทุนใหม่เติมเข้ามาเรื่อยๆ ดูไปแล้วคล้ายกับกลยุทธ์ของ “แชร์ลูกโซ่” ซึ่งเริ่มมีนักวิชาการและผู้คนในแวดวงคริปโตเริ่มออกมาเตือนถึงการลงทุนในโปรเจคนี้บ้างแล้ว 

“MetFi” เข้าข่ายแชร์ลูกโซ่หรือไม่ ?

นายณัฐ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และผู้ช่วยผู้จัดการหัวหน้ากลุ่มงานปฏิบัติการเทคโนโลยีสารสนเทศ ชวนตั้งข้อสังเกต “MetFi” เข้าข่ายแชร์ลูกโซ่อย่างไรบ้าง ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยระบุว่า จากข้อมูล สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง เผยวิธีสังเกต แชร์ลูกโซ่ คือ มีการเปิดระดมทุนไม่อั้น การันตีผลตอบแทนสูงมาก ตรวจสอบข้อมูลทางการเงินไม่ได้ เชียร์ให้รีบตัดสินใจลงทุน จัดอบรมสัมนาใหญ่โต อ้างว่ามีบุคคลที่มีชื่อเสียงร่วมทุนด้วย

วงการ\"คริปโท\"เตือน \"MetFi\"  เสี่ยงเข้าข่าย \"แชร์ลูกโซ่\"

เทียบกับกรณีของ MetFi ที่เปิดระดมทุนไม่อั้น อยากซื้อกุ้ง ปู ปลา ปลาฉลาม ปลาวาฬ สามารถซื้อได้เลย ไม่มีข้อจำกัด และการันตีผลตอบแทนสูงถึง 100 - 1000% ต่อปี ยิ่งหาลูก ๆ ใหม่ได้มาก และยิ่ง upgrade NFT ของตัวเองให้สูงขึ้น ยิ่งมีโอกาสได้ผลตอบแทนมาก แต่ของต้อง stake ไว้สูงถึง 5 ปี เพื่อให้ได้ผลตอบแทนมาก ๆ ทั้งยังตรวจสอบข้อมูลการเงินไม่ได้ ถึงแม้ข้อมูลจะถูกบันทึกอยู่บน blockchain แต่คนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจว่าเงินมาจากไหน และอยู่ในต่างประเทศ

จากข้อมูลพบว่า ยังมีการเชียร์ให้รีบตัดสินใจลงทุน หลังสมัครมีเวลาเพียง 30 วันในการหาสมาชิก เพื่อให้ได้ bonus พิเศษ ถ้ากลัวโดนลูก ๆ ในสายแซง ก็ต้อง upgrade NFT ของตัวเองให้ใหญ่กว่าลูก ๆ รวมทั้งมีการจัดอบรมสัมมนาใน zoom, facebook, youtube อยู่สม่ำเสมอ แถมมีการจัดอบรมใหญ่โตใน กทม.​ พิษณุโลก และเชียงใหม่ และอ้างว่ามีบุคคลที่มีชื่อเสียงร่วมลงทุนด้วย มีตำรวจ ทหาร ทั้งในและนอกราชการ รวมถึงอดีตนักธุรกิจร่วมลงทุนด้วย

โดย MetFi เรียกตัวเองว่าเป็น Decentralized Autonomous Organization (DAO) ที่เปิดตัวบน Binance Smart Chain เมื่อวันที่ 21 พ.ค. 2565 และระบุบนเว็บไซต์ https://metfi.io/ ว่านักลงทุนจะได้รับอัตราผลตอบแทนต่อปีคงที่ และทบต้นสูงถึง 1,000% ต่อปีด้วย MetFi NFTs ถือว่าเป็นผลตอบแทนที่เยอะมาก

รวมทั้งนายณัฐ เปิดเผย ข้อมูลการลงทะเบียนเข้าแพลตฟอร์ม MetFi ของนักลงทุนชาวไทย เริ่มตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม และเพิ่มจำนวนขึ้นสู่ 2,600 คนในปัจจุบัน

ผลตอบแทนสูง-ความเสี่ยงสูง

ผลตอบแทนที่สูงมากจนน่าตกใจ ผู้เชี่ยวชาญในตลาดคริปโทกล่าวถึงเสมอว่าโปรเจกต์ที่ใดๆก็ตามที่มีผลตอบแทนสูง ความเสี่ยงย่อมสูงตามไปด้วย

นายสัญชัย ปอปลี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทคริปโตมายด์ แอดไวเซอรี่ จำกัด หรือ Cryptomind เปิดเผยว่า แชร์ลูกโซ่ มีรูปแบบการนำเอาดิจิทัลแอสเสทเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่ง “MetFi” มีโอกาสสูงมากที่เข้าข่ายแชร์ลูกโซ่ จากผลตอบแทนที่สูงเกินความเป็นจริง ซึ่งในตลาดคริปโทก็มี “Crypto Scam” เกิดขึ้นอยู่เสมอ

นายชานน จรัสสุทธิกุล ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Forward Holdings (ฟอร์เวิร์ด โฮลดิ้งส์) เปิดเผยว่า “แชร์ลูกโซ่” กับ“ตลาดคริปโท” เกิดขึ้นเรื่อยแม้ตลาดจะอยู่ในช่วงขาลง ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่คริปโทเคอรร์เรนซี่ได้รับความนิยม จากกระบวนการแชร์ลูกโซ่เป็นที่นิยมในหมู่นักลงทุนชาวไทย แม้ว่าจะรู้ถึงความเสี่ยงและรู้ว่าเป็นแชร์ลูกโซ่ แต่ก็เลือกที่จะเข้าไปลงทุน เนื่องจากใช้เงินลงทุนต่ำแต่มีผลตอบแทนที่สูงในเวลาอันรวดเร็ว มักลงทุนทีละน้อยและนำผลตอบแทนที่ได้ในครั้งแรกไปต่อยอดในครั้งถัดไป

เช่นเดียวกับ “MetFi” เมื่อได้เห็นหน้าตาแล้ว ทั้งไม่น่าลงทุนและเห็นถึงความเสี่ยงในการลงทุน แม้ว่าจะมีรายละเอียดเกี่ยวกับโปรเจกต์ต่างๆมากมาย รวมทั้งโทเคนประจำโปรเจกต์อย่าง MetFi (MFI) ถูกลิสต์อยู่ในกระดานเทรดธรรมดา ที่มีราคาสูงถึง 8,330.97 ดอลลาร์ (ราคา ณ วันที่ 26 ต.ค.2565) สิ่งเหล่านี้สามารถปั่นราคาและวอลุ่มการซื้อขายได้ทั้งหมด หรือสร้างขึ้นเพื่อเสริมความน่าเชื่อถือของโปรเจกต์

หากย้อนกลับไปเมื่อ 9 ปีก่อน “การขุดบิตคอยน์” ได้รับความนิยมมาก ก็มีแชร์ลูกโซ่รูปแบบของการขุดบิตคอยน์ด้วยเช่นกัน รวมทั้งตลาดคริปโทในช่วง “Bull run” มีแชร์ลูกโซ่ในตลาดมากมาย ถึงขั้นมีกระดานแสดงแรงกิ้งของแชร์ลูกโซ่ว่าแชร์ไหนได้ผลตอบแทนสูงสุดหรือมีผู้เข้าร่วมมากที่สุด

กฎหมาย“แชร์ลูกโซ่”

ทั้งนี้ประเทศยังไม่มีกฎหมายที่ออกมาจัดการกับแชร์ลูกโซ่โดยตรง แต่ต้องอาศัยกฎหมายข้างเคียงมาจัดการ ก็ต่อเมื่อมีผู้เสียหายเท่านั้น ซึ่งกฎหมายเหล่านี้ มีผู้รับผิดชอบดูแล แตกต่างกันออกไป แถมยังไม่ได้มีการระบุหน้าที่ในการติดตามเฝ้าระวังการกระทำที่ผิดกฎหมายที่ชัดเจน จึงไม่มีเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบในเรื่องดังกล่าว

เจ้าหน้าที่จึงมักจะไม่ดำเนินการทางกฎหมายกับผู้กระทำผิด จนกระทั่งเรื่องดังกล่าวตกเป็นข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ หรือเป็นข่าวบนโลกโซเชียล ยิ่งไปกว่านั้น เวลาที่มีผู้เข้าร่วมแชร์ลูกโซ่เป็นจำนวนมาก ยังแยกได้ยากอีกด้วยว่าใครเป็นเหยื่อ ใครเป็นผู้กระทำความผิด เพราะจริง ๆ ใคร ๆ เข้าร่วมก็ควรถือว่าผิดทั้งนั้น แต่ในความเป็นจริง เจ้าหน้าที่ก็มักจะเลือกฟ้องเฉพาะผู้ที่มีชื่อเสียง หรือต้นตอของกระบวนการเท่านั้น