"สี จิ้นผิง" ดำรงตำแหน่งสมัยที่ 3 ผู้นำคนเก่าที่มาพร้อมคณะผู้มีอำนาจชุดใหม่

"สี จิ้นผิง" ดำรงตำแหน่งสมัยที่ 3 ผู้นำคนเก่าที่มาพร้อมคณะผู้มีอำนาจชุดใหม่

เป็นที่น่าจับตาอย่างมากถึงทิศทางนโยบายเศรษฐกิจต่อจากนี้ หลัง "สี จิ้นผิง" รับตำแหน่งผู้นำสูงสุดของจีนต่อเป็นสมัยที่ 3 และมาพร้อมกับคณะผู้มีอำนาจชุดใหม่ ส่วนจะมีใคร และโปรไฟล์น่าสนใจขนาดไหน ติดตามอ่านได้จากบทความนี้

ผ่านพ้นไปแล้วกับการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งพรรคคอมมิวนิสต์ ครั้งที่ 20 โดย สี จิ้นผิง (Xi Jinping) ยังคงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นแกนนำหลักของพรรคและคณะกรรมการพรรค ในครั้งนี้ได้มีการเน้นย้ำในเรื่องการสร้างประเทศสังคมนิยมในยุคสมัยใหม่อย่างเต็มรูปแบบ ส่งเสริมการฟื้นฟูชาติในทุกด้าน อาทิ การสนับสนุนความแข็งแกร่งของเทคโนโลยี และพัฒนาความสามารถในการแข่งขันผ่านการปรับโครงสร้าง ระบบต่างๆ อาทิ AI, Biotech, และ New Energy เป็นต้น เพื่อปรับระบบให้เข้าสู่ Digital Economy มากขึ้น ประกอบกับสร้างความมั่นคงของระบบการเงินปรับปรุงตลาดทุนให้ดียิ่งขึ้น และในครั้งนี้ได้มีการแต่งตั้ง 7 สมาชิก คณะกรรมการโปลิตบูโร ชุดใหม่ โดยมี 4 คนที่มีรายชื่อเข้ามาใหม่ และ 3 คนยังเป็นคณะกรรมการชุดเก่า รวมถึง สี จิ้นผิง โดยส่วนใหญ่ถือเป็นคนใกล้ตัวของ สี จิ้นผิง ทำให้ตลาดมองว่า อาจเป็นการรวบอำนาจแบบเบ็ดเสร็จ แต่ข้อดีคือ การสานต่อนโยบาย และการบังคับใช้นโยบายจะมีประสิทธิภาพ

8 ใน 24 คนของคณะกรรมการโปลิตบูโรจบวิศวะฯ และวิทยาศาสตร์

\"สี จิ้นผิง\" ดำรงตำแหน่งสมัยที่ 3 ผู้นำคนเก่าที่มาพร้อมคณะผู้มีอำนาจชุดใหม่

ที่มา: www.abc.net.au

ทำความรู้จักกับสมาชิกคณะกรรมการโปลิตบูโร (Standing Committee) ทั้ง 6 คน  

  1. หลี่ เฉียง คาดว่าจะมานั่งตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ อดีตเคยเป็นผู้ช่วยของ สี จิ้นผิง ในสมัยที่เคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคประจำมณฑลเจ้อเจียงในปี 2004 และ ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ ประจำนครเซี่ยงไฮ้ รวมถึงเป็นผู้ที่ดูแลตลาด Star Market ซึ่งเป็นตลาดหุ้นบริษัทเทคโนโลยีขนาดกลาง-เล็ก คล้ายคลึงกับตลาดหุ้น NASDAQ ของสหรัฐฯ และ สนับสนุนการเปิดโรงงาน Tesla ในเซี่ยงไฮ้ ทั้งนี้ในช่วงล็อกดาวน์เซี่ยงไฮ้ ถือเป็นผู้มีบทบาทสำคัญทำให้นักลงทุนกังวลนโยบายด้าน COVID ของจีนจะยังไม่ผ่อนคลายโดยง่าย 
  2. จ้าว เล่อจี้ เน้นปราบปรามและแก้ปัญหาคอร์รัปชัน และเป็นผู้ที่รับผิดชอบเกี่ยวกับวินัยของพรรค
  3. หวัง ฮู่หนิง นักทฤษฎีทางด้านการเมือง เป็นผู้ที่ให้คำปรึกษาด้านการต่างประเทศแก่ สี จิ้นผิง และได้รับฉายาขงเบ้งแห่งรัฐบาลจีน
  4. ไช่ ฉี เลขาธิการพรรคจากปักกิ่ง ผู้มีความใกล้ชิดกับ สี จิ้นผิง มานานกว่า 10 ปี และเป็นผู้ที่สื่อสารกับสังคมออนไลน์ ผ่านช่องทาง Weibo (Platform Social Media อันดับ 1 ของจีน)
  5. ติง เซวียเสียง ผู้ที่ถูกมองว่าเป็นผู้ที่ใกล้ชิดกับ สี จิ้นผิง มากที่สุด จบด้านวิศวะกรรมฯ ทำงานที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี 
  6. หลี่ ซี ผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการกลางเพื่อการตรวจสอบวินัย แทน จ้าว เล่อจี้

นอกจากนี้ อีกบุคคลที่น่าสนใจหนึ่งในสมาชิกโปลิตบูโร 24 ท่านคือ เหอ ลี่เฟิง ซึ่งคาดว่าจะมีบทบาทเข้ามาในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจแทน หลิว เหอ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะกรรมการปฏิรูปและการพัฒนาแห่งชาติจีน (National Development and Reform Commission หรือ NDRC) และเป็นผู้ที่ให้การสนับสนุนกับ สี จิ้นผิง เกี่ยวกับแผนการบรรลุการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ในปี 2030

สิ่งที่ตลาดจับตาและจะเป็นปัจจัยที่หนุนเศรษฐกิจจีนในระยะข้างหน้า

  • การกลับมาเปิดเศรษฐกิจของจีน

ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะยังไม่ทราบไทม์ไลน์ที่แน่ชัดว่าจีนจะสามารถกลับมาเปิดเศรษฐกิจได้เมื่อไร แต่อย่างน้อยการที่ทางการได้ออกมาพูดถึงนโยบาย Covid-zero และความสำเร็จในช่วงที่ผ่านมา การให้ความสำคัญเกี่ยวกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ เป็นสิ่งที่ย้ำเตือนว่านโยบาย Covid-zero ท้ายสุดแล้วจะมีจุดสิ้นสุด หลังจีนเผชิญปัญหาที่ประชนมีการขยายตัวของรายได้ที่ลดลง ปัญหาการว่างงานในผู้เยาว์ที่เพิ่มขึ้น โดยเบื้องต้นนักวิเคราะห์คาดว่า จีนจะสามารถกลับมาเปิดเศรษฐกิจเร็วที่สุดช่วงฤดูใบไม้ผลิปีหน้า 

ปัจจัยที่ต้องติดตามคือ 1. การฉีดวัคซีนในผู้สูงอายุที่ยังอยู่ในระดับไม่สูง 2. วัคซีน MRNA ที่พัฒนาโดยบริษัทจีน 3. หากมีสัญญาณบวกในการเปิดประเทศ คาดว่าจะเริ่มเห็น การลดระยะเวลาการกักตัว และการเพิ่มเที่ยวบินเข้าไปในจีน 

  • ความยืดหยุ่นของนโบายภาคอสังหาริมทรัพย์ 

ช่วงปีที่ผ่านๆ มาในทุกๆ ครั้งของแถลงการณ์ จาก สี จิ้นผิง จะพูดถึง "House are for living, not speculation" หรือบ้านควรจะใช้สำหรับการอยู่อาศัย มิใช่สำหรับการเก็งกำไร อย่างไรก็ดี ครั้งนี้ใน keynote report ยังคงพูดถึงประเด็นนี้ว่าตลาดที่อยู่อาศัยจะมีความยืดหยุ่นมากขึ้นในระยะอันใกล้นี้ และจะมีการผ่อนคลายมากขึ้นเพื่อแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยที่ชะลอตัว โดยช่วงที่ผ่านมายอดขายบ้านใหม่ปรับตัวลงต่อเนื่อง ซึ่งขัดแย้งกับยอดขายบ้านมือสองที่ฟื้นตัวขึ้น ซึ่งสะท้อนถึงความไม่มั่นใจของการส่งมอบที่อยู่อาศัยและมุมมองที่เป็นลบจาก developer (บริษัทสร้างบ้าน) อย่างไรก็ดี มองว่า การสร้างสภาพคล่องยังคงมีความจำเป็น อาทิ การขยายการค้ำประกันหุ้นกู้ และการขยายสินเชื่อและเงินทุน เป็นต้น 

อย่างไรก็ดี ระยะข้างหน้า นักลงทุนกลับมาจับตาการประชุม Central Economic Work Conference (CEWC) ที่จะมีขึ้นในช่วงกลางเดือนธันวาคมในปีนี้ ซึ่งจะมีรายละเอียดชัดเจนมากขึ้นต่อทิศทางนโยบายเศรษฐกิจระยะข้างหน้า จากกลุ่มสมาชิกโปลิตบูโรชุดใหม่ ด้านนักวิเคราะห์จาก Morgan Stanley ประเมินว่าปีหน้าการขยายตัวของเศรษฐกิจจะกลับมาเติบโตได้ในระดับที่เกินกว่า 5% โดยมีปัจจัยหนุนจากความคาดหวังในเรื่องการกลับมาเปิดเศรษฐกิจ และปัญหาบ้านที่คลี่คลาย เป็นต้น

ที่มา : Morgan Stanley, www.abc.net.au, UobKayhian 

ข้อมูล บทความ บทวิเคราะห์และการคาดหมาย รวมทั้งการแสดงความคิดเห็นทั้งหลายที่ปรากฏอยู่ในรายงานฉบับนี้ทำขึ้นบนพื้นฐานของแหล่งข้อมูลที่ดีที่สุดที่ได้รับมาและพิจารณาแล้วเห็นว่า น่าเชื่อถือ แต่ทั้งนี้ไม่อาจรับรองความถูกต้อง ความสมบูรณ์ แท้จริงของข้อมูลดังกล่าว ความเห็นที่แสดงไว้ในรายงานฉบับนี้ได้มาจากการพิจารณาโดยเหมาะสมและรอบคอบแล้ว และอาจเปลี่ยนแปลงได้โดยไม่จำเป็นต้องแจ้งล่วงหน้าแต่อย่างใด บทความ บทวิเคราะห์ และการคาดหมายทั้งหลายที่ปรากฏ อยู่ในรายงานฉบับนี้เป็นการนำไปใช้โดยผู้ใช้ยอมรับความเสี่ยงและเป็นดุลยพินิจของผู้ใช้แต่เพียงผู้เดียว

ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ บลจ.ทิสโก้ หรือ TISCO Contact Center โทร. 0 2633 6000 กด 4, 0 2080 6000 กด 4 และ www.tiscoasset.com หรือ แอปพลิเคชัน TISCO My Funds