Thaioil Weekly Oil Market and Outlook as of 24 October 2022

Thaioil Weekly Oil Market and Outlook as of 24 October 2022

ราคาน้ำมันดิบผันผวนในกรอบลดลง จากความกังวลเศรษฐกิจถดถอย และนโยบายปลอดโควิดของจีน ส่งผลต่อเศรษฐกิจในกดดันความต้องการใช้น้ำมันโลก

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 78 - 90 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 84 - 96 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

Thaioil Weekly Oil Market and Outlook as of 24 October 2022

 

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (24 – 28 ต.ค. 65) 

    ราคาน้ำมันดิบผันผวน หลังตลาดกังวลเศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรปเข้าสู่ภาวะถดถอยจากการเร่งใช้นโยบายเข้มงวดทางการเงินเพื่อชะลออัตราเงินเฟ้อ ขณะที่นโยบายปลอดโควิดของจีนส่งผลต่อเศรษฐกิจในประเทศ และกดดันปริมาณความต้องการใช้น้ำมันโลก นอกจากนี้ตลาดจับตาการปล่อย SPR ครั้งใหม่ของสหรัฐฯ ที่อาจเกิดขึ้นในสิ้นปีนี้ด้วย อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงกังวลอุปทานน้ำมันดิบตึงตัว จากการปรับลดกำลังการผลิตครั้งใหญ่ของ OPEC+ และความไม่แน่นอนของการส่งออกน้ำมันดิบของรัสเซียในช่วงเข้าใกล้เส้นตายยุติการนำเข้าโดยยุโรปจากราคาแก๊สที่ยังทรง

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้

-  อัตราเงินเฟ้อของอังกฤษเดือนก.ย. 65 แตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 40 ปี ที่ 10.1% เพิ่มขึ้นอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องจาก 9.9% ในเดือนส.ค. 65 เนื่องจากราคาอาหารและพลังงานที่ยังคงปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ธนาคารกลางอังกฤษจำเป็นต้องใช้นโยบายเข้มงวดทางการเงินโดยการขายพันธบัตรรัฐบาลเพื่อชดเชยอัตราเงินเฟ้อหรือเรียกว่า TIPS หรือ Gilts เพื่อดึงเงินออกจากระบบเศรษฐกิจ ทำให้ตลาดกังวลว่าเศรษฐกิจในยุโรปและเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย และกดดันปริมาณความต้องการใช้น้ำมันโลก 

-  จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในเมืองเซี่ยงไฮ้เพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 3 เดือน ส่งผลให้จีนใช้นโยบายจำกัดการเดินทางในเมืองเซี่ยงไฮ้ และเมืองอื่นๆ ต่อเนื่อง โดยประธานาธิบดี สี จิ้นผิงย้ำจุดยืนในการใช้นโยบายโควิดเป็นศูนย์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดในประเทศ ในการประชุมพรรคคอมมิวนิสต์ของจีนในวันที่ 16 ต.ค. 65 ที่ผ่านมา ด้าน Energy Aspect คาดการณ์ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันโลกเดือนพ.ย.-ธ.ค. 65 มีแนวโน้มปรับลดลงเฉลี่ยราว 0.45 ล้านบาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับการคาดการณ์ครั้งก่อนหน้า จากการแพรระบาดในจีนที่จำนวนผู้ติดเชื้ออาจมีแนวโน้มสูงขึ้นในช่วงฤดูหนาว 

-  สำนักงานพลังงานสากลสหรัฐฯ (IEA) คาดการณ์ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันโลกใน Q4’65 ปรับลดลง 340,000 บาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และความต้องการใช้ปี 2565 และ 2566 ปรับลดลง 60,000 และ 470,000 บาร์เรลต่อวันตามลำดับ เนื่องจากผลกระทบของภาวะเศรษฐกิจโลก ที่มีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะถดถอย รวมถึงการใช้นโยบายปลอดโควิดของจีน ส่งผลกดดันปริมาณความต้องการใช้น้ำมันโลก

 

อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบได้แรงหนุนจากปริมาณความต้องการใช้ในช่วงฤดูหนาวที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นในระดับสูง ส่งผลให้ผู้บริโภคมีแนวโน้มหันมาใช้น้ำมันแทนแก๊สธรรมชาติเพิ่มขึ้น (gas-to-oil switching) 

-  สหรัฐฯ เตรียมแผนปล่อยน้ำมันจากคลังสำรองยุทธศาตร์ (SPR) อีกเกือบ 15 ล้านบาร์เรลในสิ้นปีนี้ จากทั้งหมด 180 ล้านบาร์เรล และกำลังพิจารณาแผนปล่อยอีกกว่า 25 ล้านบาร์เรลในปีหน้า เพื่อบรรเทาอุปทานตึงตัว และราคาน้ำมันที่ยังทรงตัวในระดับสูง หลัง OPEC+ ปรับลดกำลังการผลิตครั้งใหญ่ในการประชุมที่ผ่านมา

-  FGE เดือนก.ย. 65 คาดการณ์รัสเซียเตรียมจัดหาเรือบรรทุกน้ำมันขนาดใหญ่กว่า 50 ลำหรือความจุมากกว่า 100 ล้านบาร์เรล เพื่อส่งออกน้ำมันในช่วงหลังของปี ซึ่งสอดคล้องกับที่ Rosneft บริษัทน้ำมันรายใหญ่ของรัสเซีย ได้เตรียมจัดหาเรือบรรทุกน้ำมัน รวมถึงจัดการด้านค่าขนส่งและค่าประกันภัยทางเรือ ในช่วงเข้าใกล้เส้นตายของยุโรปที่จะยุตินำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย เพื่อส่งออกไปยังประเทศคู่ค้ารายอื่นๆ ได้แก่ เอเชีย แอฟริกาและอเมริกาใต้ โดยเฉพาะจีนและอินเดียที่นำเข้าน้ำมันจากรัสเซียอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่สงครามรัสเซียยูเครน 

-  เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีภาคการผลิตและการบริการเบื้องต้นของยุโรปเดือนต.ค. 65 ที่ตลาดคาดการณ์มีแนวโน้มปรับลดลงจากเดือนก่อนหน้า และดัชนีภาคการผลิตและการบริการเบื้องต้นของสหรัฐฯ เดือนต.ค. 65 ขณะที่ตัวเลขทางเศรษฐกิจของจีน ได้แก่ ตัวเลข GDP ไตรมาส 3/65 และดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมและการบริการเดือน ก.ย. 65 ที่เลื่อนประกาศ เนื่องจากการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนที่จัดขึ้นในสัปดาห์ที่ผ่านมา

 

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (17 - 21 ต.ค. 65)  

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 0.41 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 85.05 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ปรับเพิ่มขึ้น 1.88 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 93.50 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 90.89 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เนื่องจากสหรัฐฯ เสนอขายน้ำมันจากคลังสำรองยุทธศาตร์ (SPR) ส่วนที่เหลืออีกเกือบ 15 ล้านบาร์เรล จากแผนทั้งหมด 180 ล้านบาร์เรล เพื่อบรรเทาอุปทานตึงตัวและราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ในขณะที่ตลาดยังคงกังวลเศรษฐกิจโลกถดถอย จากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางทั่วโลก เพื่อชะลอเงินเฟ้อ อย่างไรก็ตาม EIA รายงานสต็อกน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 14 ต.ค. 65 ปรับลดลง 1.7 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 437.4 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ว่าจะปรับลดลง 1.2 ล้านบาร์เรล