คลังเอเปคออกแถลงการณ์ร่วมไม่ได้เหตุความเห็นสงครามขัดแย้ง

คลังเอเปคออกแถลงการณ์ร่วมไม่ได้เหตุความเห็นสงครามขัดแย้ง

“อาคม” เผยคลังเอเปค ออกแถลงการณ์ร่วมไม่ได้ เหตุความเห็นขัดแย้งกรณีสงครามรัสเซีย - ยูเครน ขณะที่มีความเห็นตรงกันในเรื่องการสร้างความยั่งยืนทางการคลัง และเศรษฐกิจชะลอตัวในปีหน้า พร้อมนำเสนอที่ประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค เดือนพ.ย.นี้

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงผลการเป็นเจ้าภาพการประชุมรัฐมนตรีคลังเอเปค ครั้งที่ 29 ว่า ที่ประชุมสามารถบรรลุฉันทามติได้ในเนื้อหาส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมไม่สามารถบรรลุฉันทามติในบางประเด็น ในการนี้ จึงจำเป็นต้องออกแถลงการณ์ประธานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อเป็นเอกสารผลลัพธ์ของการประชุม

“การประชุมครั้งนี้ ไม่สามารถออกแถลงการณ์ร่วมของที่ประชุมได้ ซึ่งออกได้เพียงแถลงการณ์ของประธานการประชุม เนื่องจาก ที่ประชุมมีความเห็นไม่ตรงกันในเรื่องความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน แต่ในเรื่องเศรษฐกิจและการบริหารการคลัง มีความเห็นตรงกันในเรื่องการสร้างความยั่งยืนทางการคลัง พร้อมกับจะนำเสนอผลการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปคที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในเดือนพ.ย.นี้”

สำหรับประเด็นเศรษฐกิจที่หารือกันนั้น ส่วนใหญ่มีความเห็นตรงกันเรื่องภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวในปีหน้า แต่ไม่ได้เกิดขึ้นในทุกประเทศ เพราะบางประเทศ เศรษฐกิจมีอัตราเติบโต เช่น ประเทศไทย โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ)​ ​ได้ปรับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจโลกปีนี้อยู่ที่ 3.2 % และปีหน้า 2.7 %  ขณะที่เศรษฐกิจไทย ยังคงมีอัตราเติบโตที่ 3-3.5 % และปีหน้า 3.7 %

“ที่ประชุมเป็นห่วงเรื่องราคาพลังงาน ภาวะเงินเฟ้อ ที่เกิดจากราคาอาหารแพง และราคาน้ำมันแพง  และผลพวงจากวิกฤติโควิด ที่แต่ละประเทศ กู้เงินมาใช้ช่วงดังกล่าว จนหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น  ดังนั้น ทุกประเทศเห็นพ้องร่วมกัน ที่ต้องปฏิรูปการจัดเก็บรายได้  เพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บ รวมถึงให้เอกชนเข้ามามีบทบาทในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศด้วย”

สำหรับรายละเอียดผลการประชุม มีดังนี้ 1.ประเด็นเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจภูมิภาคเอเปคประเด็นเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจภูมิภาคเอเปค แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จะคลี่คลายลงแต่ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลให้เกิดการชะลอตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเปค ได้แก่ ภาวะเงินเฟ้อที่มีผลต่อราคาพลังงาน และราคาอาหารสถานการณ์ด้านภูมิรัฐศาสตร์สภาวะชะงักงันของอุปทานรวมถึงภาวะทางการเงินที่เข้มงวดยิ่งขึ้น
2.การเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสำหรับทุกภาคส่วนเป็นสิ่งสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างครอบคลุม และยั่งยืน และจะสามารถนำไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

3.การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อมุ่งสู่การเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล การพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ในการดำเนินนโยบายช่วยเหลือต่างๆ มีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในช่วงของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รวมถึงเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน และผู้ประกอบการในการเข้าถึงบริการของภาครัฐ อาทิ การจัดการด้านภาษี การระดมทุนผ่านระบบดิจิทัล

4.การดำเนินการตามแผนปฏิบัติการเซบูส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปคในการเสนอนโยบายที่จะดำเนินการภายใต้ยุทธศาสตร์การนำแผนปฏิบัติการเซบูสู่การปฏิบัติฉบับใหม่ โดยแต่ละเขตเศรษฐกิจได้เลือกประเด็นที่จะดำเนินการภายใต้เสาหลักของแผนปฏิบัติการเซบูซึ่งได้แก่ การส่งเสริมการรวมกลุ่มทางการเงิน การเร่งรัดการปฏิรูป และเพิ่มความโปร่งใสทางการคลัง การเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางการเงิน และการเร่งรัดการลงทุน และการระดมทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

5.ประเด็นอื่นๆ เช่น การบริหารความเสี่ยง และการประกันภัยเพื่อรองรับความเสี่ยงจากภัยพิบัติ การเพิ่มความร่วมมือกับภาคเอกชนในการดำเนินงานของเอเปค การร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศในการจัดทำเอกสารข้อมูลจากสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปค และการพัฒนาการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพ และนำไปสู่ความยั่งยืน เป็นต้น

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้รับทราบการจัดทำเอกสารจำนวน 6 ฉบับ ซึ่งเอกสารทั้ง 6 ฉบับดังกล่าว เป็นผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมสำหรับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การเงิน และการคลัง ในปีนี้ และเป็นการสานต่อความร่วมมือระหว่างเขตเศรษฐกิจเพื่อการมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนทางเศรษฐกิจ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

สำหรับผลการหารือระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค กับสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค(APEC Business Advisory Council) ที่ประชุมได้หารือถึงแนวทางในการสร้างระบบนิเวศน์ที่เอื้อต่อการให้บริการทางการเงินดิจิทัลที่ครอบคลุมทุกภาคส่วนมากยิ่งขึ้นใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1.การพัฒนาระบบข้อมูลเปิดที่เชื่อมโยงกัน (Inter-operable Open Data) ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก 2.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของตลาดดิจิทัลสำหรับสินเชื่อหมุนเวียน (Supply Chain Finance) เพื่อช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

3.การส่งเสริมการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลางที่เชื่อมโยงกัน (Inter-Operable Central Bank Digital Currencies (CBDCs) เพื่อสนับสนุนให้มีสกุลเงินในรูปแบบดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางสำหรับการทำธุรกรรมด้านการเงิน และด้านธุรกิจ

ด้านการหารือทวิภาคี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้หารือทวิภาคีกับ Mr. Christopher Hui Ching-yu, Secretary for Financial Services and the Treasury หัวหน้าคณะผู้แทนเขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยได้หารือในประเด็นหลักเกี่ยวกับมุมมองเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเปค รวมถึงการสนับสนุนในด้านการเชื่อมโยงระบบการชำระเงิน และการดำเนินงานด้านการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะการระดมทุนเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานผ่านพันธบัตรสีเขียว และตราสารทางการเงินเพื่อการพัฒนาอื่นๆ รวมทั้ง เห็นพ้องร่วมกันในการพัฒนาความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ การเงินและการคลัง ระหว่างกัน และยกระดับความร่วมมือดังกล่าวให้เข้มแข็ง และสร้างผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้นในอนาคตอันใกล้

“การประชุม APEC FMM ครั้งที่ 29 สะท้อนความพยายามในการร่วมมือกันขับเคลื่อนไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของภูมิภาคเอเปค และถือเป็นโอกาสอันดีที่สมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปคได้หารือ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวมถึงรับทราบแนวโน้มสถานการณ์เศรษฐกิจโลก ความคืบหน้าในการดำเนินการด้านการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อมุ่งสู่การเป็นเศรษฐกิจดิจิทัลของทั้งภาครัฐและภาคเอกชนรวมถึงแนวทางในการดำเนินนโยบายที่เอื้อต่อการไปสู่เป้าหมายด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมที่เป็นรูปธรรมต่อไปในอนาคต”

สำหรับการประชุม APEC FMM ครั้งต่อไป สหรัฐอเมริกาจะทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพ โดยคาดว่าจะจัดขึ้นในช่วงเดือนตุลาคม 2566

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์