ถอนบทเรียน ‘ญี่ปุ่น’ ทุ่มพยุงเงินเยน ควรเรียนรู้อะไร?

ถอนบทเรียน ‘ญี่ปุ่น’   ทุ่มพยุงเงินเยน ควรเรียนรู้อะไร?

การเข้าแทรกแซงค่าเงินเยนของรัฐบาลญี่ปุ่นที่ใช้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศไปกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่พยุงค่าเงินได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น กรณีนี้ทำให้เกิดคำถามถึงความคุ้มค่าในการแทรกแซงค่าเงิน ที่เป็นกรณีศึกษาว่าเราควรเรียนรู้อะไรจากเรื่องนี้บ้า

       เรียกได้ว่าไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในรอบ 24 ปี สำหรับการเข้าแทรกแซง “ค่าเงินเยน” ของรัฐบาลญี่ปุ่นที่ใช้เงินจำนวนมหาศาลกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือราว 2.8 ล้านล้านเยน ในการเข้าดูแลค่าเงินเยนไม่ให้อ่อนค่ามากจนเกินไป

     ปรากฎการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 ก.ย.ที่ผ่านมา รัฐบาลญี่ปุ่นได้เข้าแทรกแซงค่าเงินเยนในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนทันทีหลังจากที่เงินเยนอ่อนค่าทะลุระดับ 145 เยนต่อดอลลาร์ ซึ่งนับเป็นการอ่อนค่ามากสุดในรอบ 25 ปี ท่ามกลางความกังวลของคนในรัฐบาลที่แสดงความเป็นห่วงว่า เงินเยนที่อ่อนค่าลงต่อเนื่องและรุนแรงเช่นนี้ จะทำให้ค่าครองชีพของคนญี่ปุ่นสูงขึ้นตามไปด้วย

      ผลจากการแทรกแซงดังกล่าวส่งผลให้เงินเยนแข็งค่าขึ้นราว 1.1% ในทันทีมาอยู่ที่ระดับ 142.48 เยนต่อดอลลาร์ หลังจากนั้นก็ยังแข็งค่าขึ้นอีกเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับ 140.35 เยนต่อดอลลาร์

      มองผิวเผินดูเหมือนว่าการแทรกแซงเงินเยนของรัฐบาลญี่ปุ่นในครั้งนี้จะได้ผล เพราะทำให้ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นในทันที ทั้งยังมีนักเก็งกำไรค่าเงินไม่น้อยที่เจ็บตัวจากการแทรกแซงค่าเงินของรัฐบาลญี่ปุ่น

      แต่ทว่า การแข็งค่าของเงินเยนดูเหมือนจะกินระยะเวลาเพียงแค่ช่วงสั้นๆ เท่านั้น เพราะหลังจากนั้นไม่นาน ค่าเงินเริ่มกลับมาอ่อนค่าลงอีกครั้ง กระทั่งล่าสุดเมื่อวานนี้(10ต.ค.) เงินเยนอ่อนค่าจนทะลุระดับ 145 เยนต่อดอลลาร์อีกครั้ง มาแตะระดับ 145.50 เยนต่อดอลลาร์ เกือบเท่ากับระดับที่ญี่ปุ่นเข้าไปแทรกแซงค่าเงินเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนแล้ว

     เท่ากับว่าค่าเงินเยนเริ่มกลับมาเคลื่อนไหวที่ระดับเดิมก่อนที่ทางการญี่ปุ่นจะเข้าไปดำเนินการแทรกแซง โดยใช้ระยะเวลาเพียงแค่ 2 สัปดาห์เศษๆ เท่านั้น ในขณะที่ เงินทุนสำรองระหว่างประเทศของญี่ปุ่นลดลงไปแล้วกว่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือลดลงจากระดับ 1.29 ล้านล้านดอลลาร์ มาอยู่ที่ระดับ 1.24 ล้านล้านดอลลาร์ ในช่วงสิ้นเดือนก.ย.ที่ผ่านมา

      คำถาม คือ การเข้าแทรกแซงค่าเงินเยนของญี่ปุ่นในครั้งนี้คุ้มค่าหรือไม่ แล้วอะไรคือสาเหตุที่แท้จริงซึ่งทำให้เงินเยนอ่อนค่าลงต่อเนื่อง “กรุงเทพธุรกิจ” พาไปถอดบทเรียนการทุ่มแทรกแซงค่าเงินเยนของรัฐบาลญี่ปุ่นในครั้งนี้กัน

       ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า การอ่อนค่าของเงินเยนในครั้งนี้เกิดจากปัจจัยใดบ้าง ซึ่งเท่าที่สำรวจความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่มองว่า เกิดจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ

      1.พื้นฐานเศรษฐกิจญี่ปุ่นไม่ได้เข้มแข็งเหมือนในอดีต โดยญี่ปุ่นเผชิญกับเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่ำต่อเนื่องเป็นเวลานาน สาเหตุสำคัญเป็นเพราะจำนวนประชากรของญี่ปุ่นอยู่ในอัตราคงที่มานานหลายปีและยังมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง

      ซึ่งหมายความว่า ญี่ปุ่นกำลังเผชิญกับปัญหา ‘สังคมสูงวัย’ ขณะเดียวกันญี่ปุ่นยังเผชิญกับการขาดดุลงบประมาณอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งญี่ปุ่นยังถือได้ว่าเป็นประเทศที่มีหนี้สาธารณะสูงสุดในโลก ปัจจุบันมีสัดส่วนต่อจีดีพีอยู่ที่ระดับ 266% ทำให้รัฐบาลไม่มีงบประมาณมากเพียงพอที่จะกระตุ้นให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างคึกคัก​

      2.ด้วยการที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นขยายตัวในระดับต่ำ อีกทั้งนโยบายการคลังไม่สามารถเข้ามาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่ ดังนั้นนโยบายการเงินจึงต้องรับศึกหนัก ทำให้ธนาคารกลางญี่ปุ่น(BOJ) จำเป็นต้องดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายต่อเนื่อง ปัจจุบันญี่ปุ่นถือเป็นเพียงประเทศเดียวที่ยังใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบที่ระดับ -0.1%

      3.ในขณะที่ญี่ปุ่นยังคงใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากเป็นพิเศษ แต่หลายประเทศเริ่มใช้นโยบายการเงินตึงตัวเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อ นำโดยธนาคารกลางสหรัฐ(Fed) ซึ่งขึ้นดอกเบี้ยในอัตราเร่งมาตั้งแต่เดือนมี.ค.2565 โดยปัจจุบันดอกเบี้ยนโยบายของเฟดอยู่ที่ระดับ 3.00-3.25% ส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ย Fed กับ BOJ จึงต่างกันค่อนข้างมาก ทั้งหมดนี้จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ค่าเงินเยนอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว

      น่าสนใจว่าทั้งพื้นฐานเศรษฐกิจและการดำเนินนโยบายการเงินของญี่ปุ่น ดูคล้ายกับไทยค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสังคมสูงอายุและการขยายตัวทางเศรษฐกิจซึ่งเป็นเพียงไม่กี่ประเทศที่ จีดีพี ยังไม่กลับขึ้นมาเท่ากับช่วงก่อนโควิด จะมีเพียงเรื่องนโยบายการเงินที่ ญี่ปุ่น ยังคงไว้ระดับเดิม แต่ของไทยแม้ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายไปบ้างแล้ว แต่ยังน้อยและช้ากว่าประเทศอื่นอยู่มาก

      ถ้าดูระดับทุนสำรองระหว่างประเทศของไทย ณ สิ้นเดือนก.ย.2565 ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 199,444 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นระดับต่ำสุดในรอบ 5 ปี ซึ่งหากเทียบกับเดือนก่อนหน้านั้นที่อยู่ระดับ 213,461 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับว่าภายในระยะเวลาแค่ 1 เดือน ทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยลดลงมากว่า 14,017 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นการลดลงถึง 6.5%

      กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทยและกรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ แสดงความเห็นผ่านเฟสบุ๊ก Kobsak Pootrakool โดยสรุปประเด็นได้ว่า การเข้าแทรกแซงค่าเงินเยนของญี่ปุ่นถือเป็นบทเรียนที่ดีสำหรับไทย ซึ่งญี่ปุ่นใช้เงินกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือราว 7.5 แสนล้านบาท ในการดูแลค่าเงิน ผลคือช่วยซื้อเวลาให้ญี่ปุ่นได้เพียง 2 วันเท่านั้น

      “ทันทีที่เข้าแทรกแซง ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นจาก 146 เยนต่อดอลลาร์ มาที่ 140 เยนต่อดอลลาร์ แต่เพียง 5 ชั่วโมงให้หลัง ค่าเงินเยนก็เริ่มอ่อนค่าลงอีกครั้ง และในอีก 3 ชั่วโมงต่อมา กลับมาที่ 142 เยนต่อดอลลาร์ หลังจากนั้น ใน 2 วันให้หลัง ค่าเงินเยนก็กลับไปที่ 144.75 เยนต่อดอลลาร์

      เท่ากับว่า เงิน 2 หมื่นล้านดอลลาร์ได้สลายหายไป ละลายไปในแม่น้ำ สิ่งที่ได้มาก็คือ ช่วยผู้นำเข้าที่ลำบากเพราะค่าเงินเยนอ่อน ให้ออกตัวได้ในช่วงสั้นๆ แต่ช่วงนาทีทองดังกล่าว ก็ได้เปิดโอกาสให้นักเก็งกำไร สามารถเข้าเก็งกำไรได้ง่ายๆ !!!” กอบศักดิ์เขียนระบุในเฟสบุ๊ก

      นอกจากนี้ เขายังย้ำด้วยว่า กรณีดังกล่าวนับเป็นบทเรียนให้ประเทศอื่นๆ รวมถึงไทย ให้ตระหนักว่า “เราเล็กเกินไป เงินเรามีน้อยเกินไปที่จะไปฝืนตลาด” โดยเฉพาะในช่วงที่ดอลลาร์แข็ง จากความแตกต่างของนโยบายระหว่างประเทศหลัก

      ดังนั้นจึงควรเก็บเงินสำรองไว้ดีกว่า เพราะปีหน้าเราจะมีความจำเป็นที่ต้องมีเงินสำรองให้มากพอที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน ว่าฐานะของเรายังมั่นคง และเราได้เห็นมาแล้วว่า ประเทศที่มีเงินสำรองน้อย (อย่างศรีลังกา) สุดท้ายก็ตกเป็นเหยื่อของนักเก็งกำไร