Thaioil Weekly Oil Market and Outlook as of 10 October 2022

Thaioil Weekly Oil Market and Outlook as of 10 October 2022

ราคาน้ำมันดิบผันผวนในกรอบสูง หลังกลุ่มโอเปคปรับลดกำลังการผลิตครั้งใหญ่ ท่ามกลางความกังวลเศรษฐกิจถดถอย

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 87-97 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 93-105 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

Thaioil Weekly Oil Market and Outlook as of 10 October 2022

 

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (10 – 14 ต.ค. 65) 

    ราคาน้ำมันดิบผันผวน หลัง OPEC+ มีมติปรับลดกำลังการผลิตลงถึง 2.0 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือนพ.ย. 65 เพื่อรักษาระดับราคาน้ำมันดิบในตลาด ขณะที่ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของรัสเซียไปยังยุโรปมีแนวโน้มปรับลดลงในช่วงเข้าใกล้เส้นตายห้ามซื้อขายน้ำมันดิบของรัสเซียในวันที่ 5 ธ.ค. 65 นอกจากนี้จีนยังประกาศโควตาการนำเข้าน้ำมันดิบเพิ่มเติม ภายหลังจากประกาศโควตาการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปครั้งใหม่ สนับสนุนปริมาณความต้องการน้ำมันดิบโลก อย่างไรก็ตาม ตลาดจับตาแผนการปล่อยน้ำมันจากคลังสำรองยุทธศาตร์ของสหรัฐฯ (SPR)และความกังวลเศรษฐกิจโลกถดถอย ที่ยังเป็นปัจจัยกดดันราคาน้ำมัน

 

 

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้

- OPEC+ มีมติปรับลดกำลังการผลิตที่ 2.0 ล้านบาร์เรลต่อวันสำหรับเดือนพ.ย. 65 หรือคิดเป็น 2% ของปริมาณความต้องการใช้น้ำมันโลกเมื่อ วันที่ 5 ต.ค. 65 ซึ่งมากกว่าที่ตลาดคาดไว้ว่าจะปรับลดลงแค่ 1.0 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นการปรับลดครั้งใหญ่นับตั้งแต่ปี 2563 เพื่อรักษาระดับราคาน้ำมันดิบในตลาด เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ตาม ปริมาณการผลิตจริงยังคงต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ เนื่องจากข้อจำกัดด้านกำลังการผลิตสำรองที่อยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้ตลาดยังคงกังวลอุปทานตึงตัว

-  FGE รายงานปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของรัสเซียผ่านทางทะเลไปยังยุโรปอยู่ที่เฉลี่ย 0.8 ล้านบาร์เรลต่อวันในช่วง 3 อาทิตย์แรกของเดือนก.ย. 65 โดย 0.53 ล้านบาร์เรลต่อวันส่งไปเมดิเตอร์เรเนียนและทะเลดำ (Black Sea) 0.25 ล้านบาร์เรลต่อวันส่งออกไปยยุโรปเหนือ และ 0.2 ล้านบาร์เรลต่อวันส่งไปบัลแกเรีย ซึ่งมากกว่าครึ่งหนึ่งของปริมาณดังกล่าวส่งไปโรงกลั่นในยุโรปที่เป็นเจ้าของโดยรัสเซีย โดยตลาดคาดการส่งออกมีแนวโน้มปรับลดลงในช่วงเข้าใกล้เส้นตายในวันที่ 5 ธ.ค. 65 อย่างไรก็ตาม การส่งออกไปยังประเทศ จีน อินเดีย ตุรกี ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง

-  จีนประกาศโควตาการนำเข้าน้ำมันดิบเพิ่มเติม 2.89 ล้านตัน (21 ล้านบาร์เรล) ให้กับโรงกลั่นอิสระ 7 โรงในเมืองชานตง เพื่อสอดคล้องกับโควตาการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปครั้งล่าสุดปริมาณ 13.25 ล้านตันสำหรับ Gasoline, Diesel and Jet/Kero และอีก 1.75 ล้านตันสำหรับ VLSFO เพื่อส่งออกในไตรมาส 4/22 และอาจขยายไปถึงไตรมาส 1/23 ส่งผลให้ตลาดคาดว่าจีนจะเร่งนำเข้าน้ำมันดิบมากขึ้น 
 

 

 

 

-  ตลาดจับตาแผนปล่อยน้ำมันจากคลังสำรองยุทธศาตร์ของสหรัฐฯ (SPR) ครั้งใหม่ ก่อนการเลือกตั้ง mid-term election 2022 ของสหรัฐฯ ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 8 พ.ย. 65 นี้ เพื่อบรรเทาอุปทานน้ำมันดิบที่ตึงตัว และราคาน้ำมันดิบที่ยังคงทรงตัวในระดับสูง หลังจากที่มีการขยายระยะเวลาเสนอขาย SPR ปริมาณ 10 ล้านบาร์เรลโดยจะส่งมอบในเดือน พ.ย. 65 แทนแผนเดิมที่จะสิ้นสุดในเดือน ต.ค. 65 อย่างไรก็ตาม สต็อกน้ำมันดิบ SPR ของสหรัฐฯ ในปัจจุบันปรับลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบกว่า 38 ปีแล้ว 

-  ดัชนีราคาผู้บริโภคของยุโรปเบื้องต้น (CPI) ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 9.1% มาอยู่ที่ 10.0% เดือนก.ย. 65 จากราคาพลังงานที่ยังผันผวนอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะราคาก๊าซในยุโรปที่ปรับตัวสูงขึ้นเนื่องจากอุปทานที่ตึงตัว ทำให้ธนาคารกลางอาจต้องเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องในการประชุมวันที่ 27 ต.ค. 65 ขณะที่ตลาดจับตาการประกาศตัวเลขเงินเฟ้อเดือนก.ย. 65 ของสหรัฐฯ ในวันที่ 11 ต.ค. 65 นี้ ซึ่งตลาดคาดว่าอาจปรับลดลงเล็กน้อยจากระดับ 8.3% ในเดือนส.ค. 65 มาอยู่ที่ระดับ 8.1% ในเดือนก.ย. 65 อย่างไรก็ตาม ยังคงสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายที่ระดับ 2.0% ทำให้ FED มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องในการประชุมครั้งถัดไป เพื่อชะลอเงินเฟ้อ ส่งผลให้ตลาดยังคงกังวลเศรษฐกิจโลกถดถอย

-  ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลง หลังจากผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ปรับลดลง อย่างไรก็ตาม ดัชนีดอลลาร์สหรัฐฯ (the dollar index) เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุล ยังคงอยู่ในระดับสูงที่ราว 110.0 ในรอบกว่า 20 ปี เนื่องจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ประกอบกับสัญญาน้ำมันดิบที่ซื้อขายกันในเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ยังคงผันผวนในระดับสูง ทำให้ค่าเงินดอลลาร์ยังคงแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่น ส่งผลให้สัญญาน้ำมันดิบมีราคาแพงขึ้น และมีความน่าดึงดูดน้อยลง สำหรับนักลงทุนที่ถือเงินสกุลอื่น 

-  เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ตัวเลขภาคการผลิตเดือนส.ค. 65 ของยุโรป โดยตลาดคาดการณ์มีแนวโน้มปรับลดลงจากเดือนก่อนหน้า และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (core CPI) เดือนก.ย. 65 ของสหรัฐฯ โดยตลาดคาดการณ์มีแนวโน้มปรับลดลงจากเดือนก่อนหน้า แต่ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูง

 

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (3 - 7 ต.ค. 65)  

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 9.01 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 92.64 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ปรับเพิ่มขึ้น 9.06 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 97.92 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 94.54 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลัง OPEC+ มีมติปรับลดกำลังการผลิตมากถึง 2.0 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในการประชุมที่ผ่านมา ส่งผลให้ตลาดกังวลอุปทานตึงตัว ขณะที่ EIA รายงานสต็อกน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย. 65 ปรับลดลง 1.4 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 429.2 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดไว้ว่าจะปรับเพิ่มขึ้น 2.1 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงกังวลเศรษฐกิจถดถอย จากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางทั่วโลก เพื่อชะลออัตราเงินเฟ้อ