แบงก์ขึ้นดอกเบี้ยพร้อมเพรียง ลดภาระต้นทุน - กำไรดีขึ้น

แบงก์ขึ้นดอกเบี้ยพร้อมเพรียง   ลดภาระต้นทุน - กำไรดีขึ้น

ความปั่นป่วนตลาดการเงินทั่วโลกสัปดาห์ที่ผ่านมา จากการเข้าแทรกแซงค่าเงินของแต่ละประเทศสู้ค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าเป็นประวัติการณ์ จนส่งผลต่อการลงทุน เนื่องจากกระทบค่าเงิน และอัตราผลตอบแทนพันธบัตร หรือ Bond Yield  ล้วนมาจากนโยบายการเงินเร่งขึ้นดอกเบี้ยเข้มงวด

       

           ภาพที่ธนาคารสหรัฐ (FED) และ ธนาคารกลางยุโรป (ECB)  ส่งสัญญาณแบบไม่ต้องแปลคือ ภารกิจต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยไปสกัดเงินเฟ้อที่ยังไม่หมดฤทธิ์ว่าจะถึงจุดพีคอย่างที่ตลาดคาดการณ์ไว้ก้อนหน้านี้ ไม่ว่าตัวเลขเงินเฟ้อผู้บริโภคสหรัฐ (ไม่รวมราคาอาหารและพลังงาน) 4.9% เดือนส.ค. และเงินเฟ้อยูโรโซนแตะ 10%  เดือนก.ย.ทำสถิติใหม่เป็นที่เรียบร้อย

            สำหรับไทยแรงกดดันดังกล่าวยังไม่รุนแรงแต่ยังอยู่ในโหมดเฝ้าระวัง สะท้อนได้จากการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)  ที่ขึ้นดอกเบี้ยในรอบ 2 ปี ตั้งแต่เดือนส.ค. ที่ 0.25%  และเดือนก.ย. อีก 0.25%

 

             ถือได้ว่าเป็นการขึ้นดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไปตามที่ ธปท. มีมุมมองเศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัว เงินเฟ้อไม่น่าห่วงมาก เนื่องจากเป็นผลจากราคาพลังงาน   แต่หนี้ครัวเรือนยังเป็นปัญหาใหญ่สำหรับเศรษฐกิจไทย  จึงดำเนินนโยบายดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไปไม่ทำให้เกิด Behind the curve หรือการ ขึ้นดอกเบี้ยช้าเกินไป  แต่จะเป็นลักษณะการใช้นโยบาย  Smooth Takeoff

            บรรดาแบงก์ขายรับทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยขาเงินฝาก และเงินกู้ รายล่าสุด ธนาคารกรุงไทย (KTB) ขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำระหว่าง 0.15% - 0.825% ต่อปี สำหรับเงินฝากประจำ 24 เดือน และ 36 เดือน เพิ่มขึ้นสูงสุด 0.825% ต่อปี เป็น 1.20% ต่อปีพร้อมคงอัตรา  ส่วนดอกเบี้ยเงินกู้รายย่อย (MRR) โดยปรับขึ้นเฉพาะอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (MLR) 0.25% ต่อปี เป็น 5.50% ต่อปี และอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทวงเงินเบิกเกินบัญชี (MOR) 0.25% ต่อปี เป็น 6.07% ต่อปี มีผลตั้งแต่วันที่ 4 ต.ค. 2565

            บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์  ธนาคารเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยตามกนง. ดีต่อ Net Interest Margin ของธนาคารขนาดใหญ่ หลัง กนง.ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% จาก 0.75% เป็น 1% ตามทิศทางเดียวกับธนาคารกลางทั่วโลกเพื่อรับมือกับภาวะเงินเฟ้อเป็นการยืนยันแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้นชัดเจน ซึ่งคาดว่าประเทศต่างๆ ทั่วโลกยังคงต้องอยู่ในโหมดปรับดอกเบี้ยขึ้นอย่างต่อเนื่อง

           โดย BBL นำร่องประกาศขึ้นดอกเบี้ยทั้งเงินกู้ และเงินฝากแล้วเป็นรายแรก ซึ่งคาดว่าหลายๆ ธนาคารต้องปรับดอกเบี้ยขึ้นตาม    ซึ่งจะส่งผลดีต่อธนาคารขนาดใหญ่ที่สินเชื่อส่วนใหญ่ใช้อัตราดอกเบี้ยลอยตัว   ขณะที่เงินฝากมีส่วนที่เป็นเงินฝากประจำซึ่งต้องครบระยะเวลาถึงปรับขึ้นได้ทำให้เป็นบวกต่อ Net Interest Margin ของธนาคาร ขนาดใหญ่

            ขณะที่ธนาคารขนาดเล็กที่ปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อเป็นส่วนใหญ่มองว่าจะได้รับผลกระทบเชิงลบค่อนข้างจำกัดจากการปรับขึ้นดอกเบี้ย เนื่องจากอยู่ในธุรกิจนี้มานานรู้วิธีการปรับต้นทุนทางการเงิน   โดยการระดมเงินทุนระยะยาวที่มีอัตราดอกเบี้ยคงที่ เพื่อลดผลกระทบดังกล่าวแล้ว

             คำแนะนำและหุ้นเด่น  “Neutral” Top Picks คือ BBL KKP และ TISCO สถานการณ์โควิดในปัจจุบันที่คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น การเปิดเมือง เปิดประเทศ รวมถึงการจับจ่ายใช้สอยที่ฟื้นตัวและคึกคักมากขึ้น ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมของ ไทยฟื้นตัวขึ้นมากในช่วงหลัง

            อย่างไรก็ดียังคงมีประเด็นที่ต้องจับตามองคือภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้นของทั้งโลกทำให้กดดันให้มีการปรับดอกเบี้ยขึ้นสูง จนเกิดการชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก ซึ่งปัจจัยเงินเฟ้อยังกดดันให้ไทยปรับดอกเบี้ยขึ้นตามด้วย ยังคงน้ำหนักการลงทุนในหุ้นกลุ่มธนาคารที่ “Neutral”

            โดย Top Picks คือ  BBL (TP=163บ.) ถือเป็นธนาคารที่มีราคาถูกมาก เทรดเพียง 0.5XPBV ยัง laggard กลุ่ม และคาดกำไรไตรมาส 3 ปี 2565  ยังโตดีทั้ง QoQ และ YoY , KKP (TP =82 บาท) คาดกำไรไตรมาส 3 ปี2565  โตสูง +43%  (YoY )จากสินเชื่อที่โตโดดเด่นสุด และจาก ธุรกิจหลักทรัพย์รวมถึงกำไรจากพอร์ตการลงทุน และ TISCO (TP=122 บาท) ถือเป็นธนาคารที่มีความสามารถในการทำกำไร

 

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์