ให้บริษัทเช่ารถส่วนตัว ต้องรู้ ต้องเสียภาษีอะไรบ้าง

ให้บริษัทเช่ารถส่วนตัว ต้องรู้  ต้องเสียภาษีอะไรบ้าง

ใช้รถส่วนตัวไปทำงานให้บริษัท ไม่ว่าจะขับใกล้หรือไกล หากต้องการคิดค่าเช่ากับบริษัท ก็สามารถทำได้ แต่จะต้องมี “ภาษี” เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยหลายประเด็น เงื่อนไขเป็นอย่างไร

มักเป็นเรื่องปกติสำหรับพนักงานที่มีรถยนต์เป็นของตนเอง ก็จะนำมาใช้ในการทำงานด้วย เช่น เดินทางไปกลับบ้านและบริษัท หรือมีการใช้เดินทางไปปฏิบัติงานต่างจังหวัด บางรายก็ใช้รถยนต์ของตนเองขับไปรับเอกสาร สินค้า หรืองานอื่นๆ ตามที่บริษัทมอบหมายให้ไป

กรณีนี้หากพนักงาน เจ้าของรถยนต์ต้องการคิด "ค่าเช่า" กับบริษัท ก็สามารถทำได้ แต่จะต้องมีภาษีเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยหลายประเด็น ทั้งในส่วนของบริษัทที่เช่ารถยนต์และตัวพนักงานผู้ให้เช่าเอง เช่น ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และอีกหลายเงื่อนไขดังนี้

  • บริษัทนิติบุคคล “ผู้เช่ารถยนต์”

สำหรับบริษัทนิติบุคคลที่ได้ทำการเช่ารถยนต์ส่วนตัวของพนักงาน เพื่อใช้ในการปฏิบัติงานของกิจการ จะถือเป็นค่าใช้จ่ายของกิจการ ซึ่งมีข้อดีคือเป็นการตัดปัญหาในเรื่องการจัดการต่างๆ เช่น กิจการไม่ต้องรับภาระดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายในการประกันภัย ไม่ต้องเสียค่าซ่อมบำรุงหรือตรวจเช็กสภาพรถยนต์ และไม่ต้องเสียเงินก้อนใหญ่เพื่อซื้อรถยนต์ แต่จะมีเรื่องภาษีเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยดังนี้

1.ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ถ้าหากพนักงานส่งมอบการครอบครองรถยนต์ให้กับบริษัทนิติบุคคล จะถือว่าบริษัทได้เช่ารถยนต์ของพนักงาน ดังนั้น บริษัทจะต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย 5% ทันทีที่จ่ายเงินค่าเช่ารถยนต์ พร้อมออกเอกสารใบหักภาษี ณ ที่จ่ายให้กับพนักงานทุกครั้งที่มีการจ่ายเงิน และต้องนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่าย ภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไป โดยยื่นแบบ ภ.ง.ด.3 สำหรับผู้รับเงินที่เป็นบุคคลธรรมดา และยื่นด้วยแบบ ภ.ง.ด.53 สำหรับผู้รับเงินที่เป็นนิติบุคคล

2.ภาษีเงินได้นิติบุคคล บริษัทผู้เช่ารถยนต์สามารถนำค่าเช่านี้มาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิของบริษัท เพื่อเสียภาษีนิติบุคคลได้ โดยแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ

2.1 ค่าเช่าทรัพย์สินประเภทรถยนต์นั่ง และรถยนต์โดยสารที่นั่งไม่เกิน 10 คน สามารถนำมาหักเป็นรายจ่ายได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินคนละ 36,000 บาท/เดือน  

2.2 ค่าเช่าทรัพย์สินประเภทรถยนต์เชิงพาณิชย์ คือรถยนต์ที่ใช้เพื่อดำเนินการทางการค้า เช่น การขนส่งสินค้า การขนส่งวัสดุ วัตถุดิบ และอื่นๆ ที่ใช้ในการผลิต จากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง เป็นรถยนต์ที่ใช้เพื่อการเช่า หรือใช้เพื่องานรับจ้าง ทั้งรับจ้างรับส่งผู้โดยสาร และรับจ้างอื่นๆ สามารถนำค่าเช่ารถยนต์นี้มาหักเป็นรายจ่ายได้ได้ไม่จำกัดจำนวน

3.ภาษีมูลค่าเพิ่ม หากเป็นรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน จะถือเป็นภาษีซื้อต้องห้าม ไม่สามารถนำมาหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ แต่ภาษีซื้อที่เกิดจากการเช่ารถยนต์นี้ สามารถนำมาหักเป็นรายจ่ายเพื่อคำนวณกำไรสุทธิได้

หรือถ้าเช่ารถยนต์เชิงพาณิชย์ ไม่ถือเป็นภาษีต้องห้าม สามารถนำมาหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้  

  • พนักงาน “ผู้ให้เช่ารถยนต์”

เมื่อใดก็ตามที่พนักงานได้ทำการให้บริษัทเช่ารถยนต์ส่วนตัวของตนเองเพื่อใช้ในกิจการ มีการทำสัญญาเช่า จะต้องเสียภาษี 2 ส่วนด้วยกันคือ

1.ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จะถือเป็นรายได้มาตรา 40(5) ประเภทค่าเช่า โดยยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 2 ช่วง ด้วยกันคือ

- ภาษีครึ่งปี (ภ.ง.ด.94) ภายในกำหนดเวลาการยื่นตั้งแต่เดือนกรกฎาคม – กันยายน ของปีภาษี

- ภาษีสิ้นปี (ภ.ง.ด.90) ภายในกำหนดเวลาตั้งแต่เดือนมกราคม – มีนาคม ของปีภาษีถัดไป

ทั้งนี้ พนักงานผู้ให้เช่าสามารถนำรายการค่าเช่ารถยนต์มาหักเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยลดหย่อนภาษีได้ 2 กรณีคือ

1.1 กรณีที่พนักงานเป็นเจ้าของผู้ให้เช่า สามารถนำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายได้ 30% และผู้มีรายได้ลดหย่อน

1.2 กรณีพนักงานเช่ารถยนต์มาอีกที สามารถนำมาหักค่าใช้จ่ายได้เฉพาะค่าเช่าที่เสียให้แก่ผู้ให้เช่าเดิม หรือผู้ให้เช่าช่วงเท่านั้น

และเมื่อถึงเวลายื่นแบบฯ ภาษีสิ้นปีแก่กรมสรรพากร หากคำนวณแล้วรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษี หรือหากต้องเสียภาษีแต่ได้หักภาษี ณ ที่จ่ายไว้เกิน ก็สามารถขอคืนภาษีหัก ณ ที่จ่ายได้

2.อากรแสตมป์ เมื่อมีการทำสัญญาเช่ารถยนต์ พนักงานผู้ให้เช่าต้องเป็นผู้เสียค่าอากรแสตมป์ในอัตราร้อยละ 0.1 ของค่าเช่า  

สรุป

​เพราะไม่ว่าจะเป็นธุรกิจประเภทไหน ก็มีความจำเป็นต้องมีรถยนต์เพื่อใช้ในการปฏิบัติงานของบริษัท ดังนั้น หากพนักงานจำเป็นต้องใช้รถยนต์ส่วนตัวของตนเองในการปฏิบัติงานให้กับบริษัท ก็สามารถทำสัญญาเช่ารถยนต์ได้

บริษัทผู้เช่ารถยนต์ก็ได้รับประโยชน์คุ้มค่าจากการเช่า มากกว่าการซื้อรถยนต์สำหรับบริษัท ส่วนพนักงานผู้ให้เช่ารถยนต์ ก็มีรายได้เพิ่มจากการให้เช่ารถยนต์ด้วย แต่ทั้งหมดทั้งมวลก็ต้องจัดการเรื่องภาษีที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วนด้วย

-----------------------------------
Source : Inflow Accounting
อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับภาษีเพิ่มเติม คลิกที่นี่