"ดอกเบี้ยขาขึ้น"แบงก์ไหนได้ประโยชน์ที่สุด?

"ดอกเบี้ยขาขึ้น"แบงก์ไหนได้ประโยชน์ที่สุด?

เป็นไปตามคาดกับการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% เป็นครั้งที่สองติดต่อกัน ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยขยับจาก 0.75% เป็น 1%

โดยในการประชุมครั้งนี้มติออกมาเป็นเอกฉันท์ ถือว่าสร้างเซอร์ไพรส์เล็กน้อย เพราะก่อนหน้านี้หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าเสียงน่าจะแตก น่าจะมีคณะกรรมการบางท่านสนับสนุนให้ขึ้นดอกเบี้ยมากกว่านี้ เพื่อสกัดเงินไหลออกและคุมเงินบาทที่กำลังอ่อนค่าแรงที่สุดในรอบ 16 ปี

แต่ดูเหมือนว่าแบงก์ชาติจะให้น้ำหนักกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมากกว่าเงินบาท โดยมองว่าการขึ้นดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไปน่าจะเหมาะกับเศรษฐกิจไทยที่อยู่ระหว่างการฟื้นตัว ขณะที่การอ่อนค่าของเงินบาทยังไม่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ

เงินบาทที่อ่อนค่าเร็วและแรงสอดคล้องกับสกุลเงินภูมิภาค เป็นผลมาจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ซึ่งเป็นปัจจัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุม ขณะที่นโยบายอัตราดอกเบี้ยไม่สามารถดูแลค่าเงินได้โดยตรง

ดูแล้วการขึ้นดอกเบี้ยคงไม่ได้หยุดอยู่เพียงเท่านี้ เพราะธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องไปถึงปีหน้า โดยมีเป้าหมายว่าสิ้นปี 2565 ดอกเบี้ยจะอยู่ที่ 4.4% และปี 2566 ที่ 4.6% โดยปีนี้เฟดยังเหลือการประชุมอีก 2 ครั้ง ซึ่งน่าจะขึ้นดอกเบี้ยอีกรวม 1.25%

เมื่อเฟดยังขึ้นดอกเบี้ยแรงก็ยากที่เราจะสวนกระแสไปได้ ขณะเดียวกันเมื่อแบงก์ชาติขึ้นดอกเบี้ยก็จะส่งต่อนโยบายมายังสถาบันการเงินอื่นๆ ถือว่าขณะนี้เข้าสู่ยุคดอกเบี้ยขาขึ้นอย่างเต็มรูปแบบ 

- ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL เป็นธนาคารแรกที่นำร่องปรับขึ้นดอกเบี้ยทั้งสองขา โดยขึ้นดอกเบี้ยเงินฝาก 0.15-0.50% ต่อปี และเงินกู้ทั้งลูกค้ารายใหญ่และรายย่อย 0.30-0.40% ต่อปี ตั้งแต่ 29 ก.ย. ที่ผ่านมา

-  ตามด้วยค่ายสีเขียว ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ขึ้นดอกเบี้ยเงินฝาก 0.10% - 0.50% และดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ 0.25% เริ่ม 3 ต.ค. นี้ แต่ยังตรึงดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยไว้ก่อน 

- ด้านธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TTB ขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ 0.20-0.25% และดอกเบี้ยเงินฝาก 0.15-0.80% มีผล 1 ต.ค. นี้

- ส่วนธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY ขึ้นดอกเบี้ยเงินฝาก 0.10-0.50% และดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ 0.25% โดยยังตรึงดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับลูกค้ารายย่อย มีผล 4 ต.ค. นี้ (ข้อมูลถึง 30 ก.ย. เวลา 18.30 น.)

\"ดอกเบี้ยขาขึ้น\"แบงก์ไหนได้ประโยชน์ที่สุด?

- ด้านบล.กรุงศรี ระบุว่า ธปท. น่าจะขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องไปถึงปี 2566 ซึ่งการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจะทำให้ NIM ค่อยๆ ขยับสูงขึ้น

โดย KTB, KBANK, SCB และ BBL จะเป็นกลุ่มที่ได้อานิสงส์มากที่สุดเมื่อพิจารณาจากพอร์ตสินเชื่อและโครงสร้างเงินฝาก คาดว่าภายในสัปดาห์นี้ธนาคารขนาดใหญ่จะทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยตาม BBL 

โดยฝ่ายวิจัยได้ปรับเพิ่มน้ำหนักหุ้นกลุ่มธนาคารจาก “เท่ากับตลาด” เป็น  “มากกว่าตลาด” เลือก SCB และ KTB เป็นหุ้นเด่นในกลุ่ม เนื่องจากราคาหุ้น SCB มี Discount อย่างมาก ส่วน KTB โมเมนตัมกำไรมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้น

ด้านบล.ดาโอ (ประเทศไทย) ระบุว่า ให้น้ำหนักการลงทุนกลุ่มธนาคาร  “มากกว่าตลาด” โดยแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นจะส่งผลดีต่อกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่โดยตรง คาดดอกเบี้ยจะเป็นขาขึ้นจนถึง 2.00% ภายในครึ่งปีแรกปี 2566 ซึ่งจะเป็นอัปไซด์ต่อกำไรสุทธิกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ 5-8% แต่เป็นดาวน์ไซด์ต่อกลุ่มธนาคารขนาดเล็กอยู่ที่ -5% เพราะสินเชื่อเช่าซื้อคิดอัตราดอกเบี้ยคงที่) ภายใต้ Base Case ที่มีการใส่ Credit Cost ที่ 0.10% เพราะมีโอกาสที่จะเกิด NPL เพิ่มมากขึ้นได้ในอนาคต

ขณะที่แนวโน้มกำไรปี 2565 ยังเติบโตต่อเนื่อง 13% YoY จากการตั้งสำรองที่ลดลง เนื่องจากมีการตั้งสำรองเผื่อฯ มาเยอะแล้วในช่วง 2 ปีที่ผานมา ประกอบกับการเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบช่วยให้สินเชื่อและรายได้ค่าธรรมเนียมกลับมาฟื้นตัวได้ดี ด้าน NPL คงไม่เร่งตัวขึ้นแบบก้าวกระโดด แต่จะค่อยๆ ทยอยปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 3.40% จากปี 2564 ที่ 3.11%

เลือก KBANK เป็นหุ้นเด่นหลังสินเชื่อภาคท่องเที่ยวฟื้นตัวดีและเป็นธนาคารที่เดินหน้าสู่การเป็นผู้นำด้านดิจิทัล และ KTB จาก valuation ปัจจุบันยังอยู่ในระดับต่ำเพียง PBV ที่ 0.65 เท่า เทียบกับกลุ่มธนาคารซื้อขายที่ 0.70 เท่า และยังมีอัปไซด์จากการใช้ดาต้าในแอพพลิเคชั่นเป๋าตัง

ด้านบล.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ระบุว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยจะส่งผลดีต่อธนาคารขนาดใหญ่ที่สินเชื่อส่วนใหญ่ใช้อัตราดอกเบี้ยลอยตัว ขณะที่เงินฝากมีส่วนที่เป็นเงินฝากประจำซึ่งต้องครบระยะเวลาถึงปรับขึ้นได้ทำให้เป็นบวกต่อ NIM ของธนาคารขนาดใหญ่ 

ขณะที่ธนาคารขนาดเล็กที่ปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อเป็นส่วนใหญ่ มองว่าจะได้รับผลกระทบเชิงลบค่อนข้างจำกัดจากการปรับขึ้นดอกเบี้ย เนื่องจากอยู่ในธุรกิจนี้มานาน รู้วิธีการปรับต้นทุนทางการเงินโดยการระดมเงินทุนระยะยาวที่มีอัตราดอกเบี้ยคงที เพื่อลดผลกระทบดังกล่าวแล้ว