ธปท.ย้ำภารกิจ ดึง ‘เงินเฟ้อ’กลับสู่กรอบเป้าหมาย3% ปีหน้า

ธปท.ย้ำภารกิจ ดึง ‘เงินเฟ้อ’กลับสู่กรอบเป้าหมาย3% ปีหน้า

ผู้ว่าธปท.ย้ำ ไม่ได้มีการกำหนดเป้า ว่าระดับภาวะปกติ ดอกเบี้ยไทยต้องอยู่ตรงไหน ชี้เป้าหมายหลักของธปท.คือการดูแลเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบ3% แต่ระยะยาว ดอกเบี้ยแท้จริงต้องเป็นบวกเพื่อสนับสนุนการออม ย้ำประชุมกนง.วาระพิเศษเกิดขึ้นได้หากสถานการณ์เปลี่ยน

      นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า ในส่วนอัตราดอกเบี้ยของไทย จะเข้าสู่ระดับ normalization หรือภาวะปกติเมื่อไหร่นั้น สิ่งที่ธปท.ดูเป็นเป้าหมายหลัก คือเงินเฟ้อว่าเข้ากรอบที่ 1-3% หรือไม่ มากกว่าการไปกำหนดเป้า Terminal Rate ว่าต้องอยู่ตรงไหน เพราะหากบางประเทศที่เศรษฐกิจร้อนแรง จำเป็นต้องเอาดอกเบี้ยให้สูงกว่าระดับ Neutral rate หรืออัตรดอกเบี้ยที่สมดุล

      ดังนั้นสิ่งที่เป็นเป้าของธปท.คือ การพยายามดูแลให้เงินเฟ้อ กลับสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้

      ขณะเดียวกัน ระดับดอกเบี้ยที่แท้จริงในระยะยาว มองว่า ท้ายที่สุด เมื่อเศรษฐกิจกลับสู่ระดับศักยภาพ มีการสูบฉีดเต็มที่ ดอกเบี้ยที่แท้จริงควรเป็นบวก เพื่อสร้างแรงจูงใจในการออมไม่ให้ผิดเพี้ยน เพราะหากดอกเบี้ยติดลบ จะสร้างแรงจูงใจที่ผิดเพี้ยน

      ทั้งนี้ด้าน Policy space ไม่ใช่แค่การขึ้นดอกเบี้ย แต่เป็นการสร้าง Buffer ให้เพียงพอ ให้มีกันชนเพียงพอ ซึ่งมาจากหลายด้าน ดอกเบี้ย ทุนสำรองเพียงพอ หนี้ต่างประเทศที่ไม่สูงเกินไป ก็ถือว่าเป็นการสร้าง Buffer ที่สำคัญ
 

     ซึ่งมองว่าจำเป็นอย่างมาก เพราะสิ่งที่เราเจอวันนี้ มีความไม่แน่นอนสูงและความผันผวนที่ไม่เคยเจอมาก่อน ดังนั้นการสร้าง Buffer ในหลายมิติ เป็นสิ่งที่มีความจำเป็น ที่จะทำให้เกิดเสถียรภาพ

      ส่วนการประชุมกนง. ที่เหลือเพียง 1ครั้งปีนี้ มองว่า หากสถานการณ์เปลี่ยน ก็สามารถจัดประชุมวาระพิเศษได้ ซึ่งเหล่านี้ไม่ได้มีข้อจำกัด หรือทำไม่ได้

     สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจปัจจุบัน เศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงกำลังฟื้นตัว และยังไม่กลับไปสู่ระดับก่อนโควิด-19 ซึ่งคาดการณ์ว่าจะเข้าสู่ระดับก่อนโควิด-19ได้ ราวปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า และสิ่งสำคัญ คือทำอย่างไรให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้อย่าง Smooth takeoff

        และปัจจัยที่จะทำให้การฟื้นตัวสะดุดได้ ด้านแรก เงินเฟ้อ หากวิ่งสูงเกินไป อาจทำให้การฟื้นตัวสะดุดหรือเกิดภาวะการเงินตึงตัวเกินไป หรือภาคการเงินไม่เล่นบทบาทในการสนับสนุนการฟื้นตัวก็อาจทำให้เศรษฐกิจสะดุดได้ ดังนั้นต้องให้มั่นใจว่า สิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิด การ Soomth takeoff

       ดังนั้น จึงจำเป็นที่ต้อง Policy normalization เพราะการไม่ normalization จะควบคุมเงินเฟ้อไม่ได้

      อีกทั้งการ normalization ทั้งนโยบายการเงิน และระบบสถาบันการเงิน จำเป็นต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป ให้เหมาะสมกับบริบทเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการมาตรการทางการเงิน ที่จะเปลี่ยนจากมาตรการปูพรหม ไปสู่มาตรการไปสู่มาตรการเฉพาะเจาะจง ตรงจุดมากขึ้น

      “ทั้งหมดนี้ เพื่อให้การ takeoff ไปได้สมูท และต้องให้มั่นใจว่า เครื่องยนต์บินต่อไปได้ และไปต่ออย่างยั่งยืน ต้องให้มั่นใจว่า จะไม่มีอะไรที่ทำให้การฟื้นตัวเกิดความไม่ยั่งยืน”