TH ลุยธุรกิจเทคโนโลยี ตั้งเป้า 3 ปี ขึ้นแท่นธุรกิจหลัก !

TH ลุยธุรกิจเทคโนโลยี ตั้งเป้า 3 ปี ขึ้นแท่นธุรกิจหลัก !

"ตงฮั้ว" ลุยธุรกิจเทคโนโลยี หวังภายใน 3-5 ปีข้างหน้า สัดส่วนรายได้ขึ้นธุรกิจหลักลงทุน ‘โครงสร้างพื้นฐานการจัดเก็บข้อมูล’ เริ่มรับรู้รายได้ปี 66 ส่วนปีนี้ธุรกิจเอเอ็มซี ดันคาดกำไรโต

ท่ามกลางกระแสโลกกำลังจะถูกเปลี่ยนด้วย “เทคโนโลยี” และเรื่องการปกป้อง “ข้อมูล” นับวันจะยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้นทุกที โดย บริษัท ตงฮั้ว โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ TH ได้มองเห็นถึง “ปัญหา” และ “โอกาส” ของ “โครงสร้างพื้นฐานการจัดเก็บข้อมูล” ในยุคปัจจุบัน เนื่องจากโลกอินเทอร์เน็ตที่รู้จักถูกจำกัด โดย Content Delivery Networks และ HTTP 

“สมนึก กยาวัฒนกิจ” ประธานกรรมการ บริษัท ตงฮั้ว โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ TH ให้สัมภาษณ์ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า เมื่อเทคโนโลยีกำลังเป็นเทรนด์ของโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ! ดังนั้น หากต้องการสร้างการเติบโตของธุรกิจให้ “โดดเด่น” การยึดติดอยู่กับการดำเนินธุรกิจรูปแบบเดิมๆ โอกาสการเติบโตยั่งยืนย่อมยากขึ้น ! ดังนั้น จึงต้องเดินแผนรักษาฐานที่มั่นในธุรกิจเดิม พร้อมกับรุกไปสู่ “ธุรกิจใหม่” (New Business) นั่นคือ “ธุรกิจเทคโนโลยี” 

สะท้อนผ่าน “จุดเริ่มต้น” ของการเตรียมความพร้อมในการลงทุน ธุรกิจเทคโนโลยี เมื่อวันที่ 11 พ.ย.2564 บริษัทอนุมัติเงินลงทุน 100 ล้านบาท เพื่อใช้ในการพัฒนาโครงการ Decentralized Infrastructure และร่วมทุนกับบริษัทเทคโนโลยีทั้งใน และต่างประเทศ เพื่อรองรับเมกะเทรนด์ (Megatrends) และการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วของอินเทอร์เน็ตรุ่นที่ 3 (Web3)

ล่าสุด บริษัทได้ยื่นจัดตั้งบริษัทย่อย TH Data Lab Inc. (ตงฮั้วแล็บส์) ที่สหรัฐ และลงนามในสัญญา SAFE (Simple Agreement for Future Equity) กับ ESPA ที่มีกลุ่มบริษัท Protocol Labs (ผู้ก่อตั้ง IPFS และ FileCoin) และ PikNik ( ผู้นำด้าน Decentralized Storage ของสหรัฐ ) เป็นผู้ถือหุ้น และให้การสนับสนุน 

สะท้อนผ่านการพัฒนา “ธุรกิจ Decentralized Storage” ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ที่สำคัญของ Web 3 และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง เช่น “บล็อกเชน” (Blockchain) โดยในแผนธุรกิจต่อไป บริษัทเตรียมความพร้อมสำหรับการระดมทุนจากนักลงทุนสถาบัน และกองทุนทั่วโลก ที่สนใจและเลือกลงทุนในบริษัทที่มีศักยภาพที่จดทะเบียนในสหรัฐ 

TH ลุยธุรกิจเทคโนโลยี ตั้งเป้า 3 ปี ขึ้นแท่นธุรกิจหลัก ! ทั้งนี้ การจัดตั้งบริษัท TH Data Lab Inc. ในครั้งนี้ ! ถือเป็น “ก้าวสำคัญ” ของบริษัทที่จะทำให้บริษัทเติบโตตามเมกะเทรนด์ของโลก และขยาย “ธุรกิจสู่ระดับภูมิภาคเอเชีย” ด้วยความร่วมมือกับบริษัทพันธมิตรที่เป็นผู้นำด้าน Decentralized Storage อันดับหนึ่งของโลก ซึ่งจะทำให้บริษัทสามารถเติบโตสร้างผลตอบแทนอย่างมีนัยสำคัญภายในปี 2566 

โดย “จุดเด่น” ของเทคโนโลยีดังกล่าว จะช่วยให้ลูกค้าประหยัดต้นทุนด้านคลาวด์ (Cloud) เนื่องจากเทคโนโลยีดังกล่าวจะทำให้ถูกลงมาก รวมทั้งข้อมูลมีความเสถียรภาพมาก และมีความปลอดภัยระดับสูง 

ขณะที่ บริษัทมีเป้าหมายอีก 3-5 ปีข้างหน้า (2566-2570) มีโอกาสที่สัดส่วนรายได้จากธุรกิจเทคโนโลยี จะใหญ่กว่าธุรกิจเดิม ทั้งใน “ธุรกิจสื่อหนังสือพิมพ์” และ “ธุรกิจบริหารสินทรัพย์” (AMC) เนื่องจากธุรกิจเทคโนโลยีเป็นเทรนด์ของโลก และสอดคล้องกับเป้าหมายในการขยายธุรกิจเพื่อรองรับเมกะเทรนด์ดังกล่าว ในการเข้าสู่ Web3 และด้วยเทคโนโลยีที่กำลังเปลี่ยนไป รวมทั้งยังเชื่อมโยงกับโปรเจกต์ Decentralized Infrastructure ที่บริษัทกำลังพัฒนาอยู่ในปัจจุบัน พร้อมเข้าสู่ธุรกิจ และ “ขึ้นเป็นผู้นำด้าน Web 3 Decentralized Storage” ในประเทศไทย 

“การขยายไปลงทุนในธุรกิจใหม่ไม่ใช่เป็นการเติบโตในประเทศ แต่เป็นการเติบโตระดับภูมิภาค ที่อนาคตยังสามารถขยายธุรกิจออกไปได้อีกมาก นี่เป็นเพียงการเริ่มต้นที่จะทำให้เราเติบโตได้อย่างมีนัยสำคัญในอนาคต ซึ่งทุกอย่างขึ้นอยู่ที่เทรนด์ของเทคโนโลยีจะเกิดขึ้นได้ช้าหรือเร็วเท่านั้น” 

“สมนึก” บอกต่อว่า สำหรับ “ธุรกิจบริหารสินทรัพย์” (AMC) คาดว่าในปี 2566 จะมีหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ออกมาในตลาดจำนวนมาก โดยจากการประเมินของบริษัทคาดว่าจะมีมูลหนี้เสียออกมาราว “1.2-1.4 ล้านล้านบาท” ดังนั้น ในปีนี้บริษัทจะซื้อหนี้เสียบริหารประมาณ 4,500 ล้านบาท โดยต้นปีซื้อหนี้ไป 1,000 ล้านบาท และไตรมาส 3 ปี 2565 ซื้อหนี้เสียอีก 3,500 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าเป้าที่บริษัทวางไว้ 

เนื่องจากมองว่าในปี 2566 จะมีหนี้เสียออกมาจำนวนมาก ดังนั้น ในปีนี้จึงชะลอการซื้อหนี้เสีย เพื่อรอไปซื้อหนี้เสียในปีหน้า ซึ่งอาจจะได้ต้นทุนที่ไม่สูงมาก ซึ่งเป้าหมายยังคงนโยบายซื้อหนี้มาบริหารต่อปีอยู่ที่ 6,000 ล้านบาท และเน้นหนี้เสียที่ไม่มีหลักประกันเป็นหลัก 

อย่างไรก็ตาม ภายในช่วง 3 ปีข้างหน้า (2565-2567) วางเป้าหมายการจัดเก็บหนี้อยู่ที่ 455-581 ล้านบาท 772-976 ล้านบาท และ 1,104-1,399 ล้านบาท ตามลำดับ ซึ่งเงินทุนที่มีอยู่ และสภาพคล่องที่มีอยู่ ยังสามารถซื้อได้เพราะมีเงินสดเพียงพอ 

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาบริษัทได้ซื้อหนี้จากพันธมิตรหลักคือ บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) หรือ AEONTS แต่ในปีนี้บริษัทมีพันธมิตรรายใหม่ที่สนใจให้บริษัทเข้าไปประมูลหนี้เพิ่มเติมคือ ธนาคารไทยพาณิชย์  , ธนาคารเกียรตินาคินภัทร  (KKP)หลังจากได้ใบอนุญาต AMC นอกจากนั้นยังมีการเจรจากับ ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน)หรือ TTB และธนาคารออมสิน เพื่อแสวงหาความร่วมมือทางธุรกิจกันด้วย

สำหรับในช่วงที่ผ่านมา บริษัทเน้นการเข้าซื้อหนี้ไม่มีหลักประกันเป็นหลัก อายุค้างชำระ 2-5 ปี ซึ่งเป็นหนี้จัดเก็บง่าย ลดค่าใช้จ่ายทวงถามได้มาก มูลหนี้ต่อหัวเน้นรายย่อยไม่เกินรายละ 35,000 บาท ต่ำมาก เนื่องจากจัดเก็บทวงถามไม่ยาก โดยราคารับซื้อหนี้ขึ้นกับลักษณะ และการประเมิน แต่จากนี้หากเป็นหนี้ที่หลักประกันที่น่าสนใจ บริษัทก็จะเข้าซื้อมาบริหารด้วย ซึ่งอาจเป็นหนี้ที่มีหลักประกัน และมีอายุค้างชำระมากขึ้น 

ดังนั้น ทิศทางผลประกอบการปี 2565 กำไรจะเติบโต “เท่าตัว” โดยเป็นการรับรู้รายได้จากธุรกิจ AMC แต่ในปี 2566 คาดว่าผลประกอบการจะเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากบริษัทจะมีธุรกิจใหม่ (เทคโนโลยี) เข้ามาแล้ว สะท้อนผ่านในปี 2564 ที่ผ่านมาเติบโตก้าวกระโดด โดยมีรายได้ 158.02 ล้านบาท เติบโต 134% และมีกำไรสุทธิ 96 ล้านบาท เติบโต 268% 

ท้ายสุด “สมนึก” บอกไว้ว่า ธุรกิจเทคโนโลยีคือ การทำให้เราเติบโตในระดับภูมิภาค และการได้พันธมิตรระดับโลกจะทำให้เราขยายการเติบโตได้เร็ว ส่งผลมาที่ผลการดำเนินงานจะเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ คาดว่าคงไม่เกิน 3-5 ปีข้างหน้า

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์