SCC แรงขายกระหน่ำ ปี 65 ต้นทุนสูง - กำไรลด - ปรับราคา

SCC แรงขายกระหน่ำ  ปี 65 ต้นทุนสูง - กำไรลด - ปรับราคา

ปี 2565 เป็นการฟื้นตัวของภาคธุรกิจหลายอุตสาหกรรม แต่คงใช้ไม่ได้สำหรับธุรกิจปูนซีเมนต์ – ปิโตรเคมี และกระดาษ ยักษ์ใหญ่ในตลาดหุ้นไทย บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC หลังเจอแรงเทขายมาอย่างต่อเนื่อง และยังไม่เข้าสู่ขาขึ้นชัดเจน

         ราคาหุ้น SCC ปรับตัวลดลงช่วงสถานการณ์โควิด-19 เหมือนกับหุ้นอื่นในตลาดหุ้น สิ้นปี 2563  ราคาลงปิดที่ 378 บาท    และปี 2564 ราคาปิดที่  386 บาท  และปี 2565  ( 9 เดือนแรก)ราคาหุ้นไปทำราคาสูงสุด 399 บาท (17 ก.พ.) หลังจากนั้นราคากลับเป็นเทรนด์ไซด์เวย์ และซึมลงต่อเนื่องมาทำราคาต่ำสุดที่  336 บาท (20 ก.ย.) จนทำให้ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันราคาลดลงมาถึง 15% กลายเป็นหุ้นที่ "ฟื้นและฟุบ" ต่อ

         ด้วยธุรกิจที่อิงกับอุตสาหกรรมหนัก และเป็นสินค้าคอมมูนิตี้ที่มีความผันผวนทำให้ต้องพึ่งพิงเศรษฐกิจที่เติบโตดีหรือมีการฟื้นตัวที่ชัดเจน  แต่หลังจากโควิดที่รับผลกระทบกันถ้วนหน้ากลับเผชิญความผันผวนของราคาน้ำมันจากเหตุการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ราคาพลังงานทยอยปรับขึ้นไปสู่จุดพีค

        นอกจากราคาน้ำมัน   ตามมาด้วยราคาถ่านหิน ราคาก๊าซธรรมชาติ   ต้นทุนวัตถุดิบในการผลิตทยอยขึ้นตามปัญหาซัพพลายขาดแคลนซึ่งล้วนแต่เป็นต้นทุนให้กับ 3 กลุ่มธุรกิจใหญ่ของ SCC  แทบทั้งสิ้น   ขณะที่ยอดการขายพึ่งจะกลับมาฟื้นตัวทำให้ยังมีความเสี่ยงจากปัจจัยเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐ และยุโรป

        รอบครึ่งปีแรก 2565 ทาง SCC  รายงานรายได้   305,028 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน  และมีกำไร 18,781 ล้านบาท ลดลง 41% จากช่วงเดียวกันปีก่อน  เมื่อแบ่งตามกลุ่มธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง  มีความต้องการซื้อหดตัวทั้งกระเบื้องหลังคา  - ฝาฝ้า  ยิ่งตลาดในประเทศปรับตัวขึ้นเล็กน้อย  แม้ว่าบางสินค้าอย่างซีเมนต์จะดีขึ้นแต่เจอต้นทุนพลังงานทำให้กำไรในกลุ่มธุรกิจลดลง

       ธุรกิจเคมิคอลส์ เจอปัญหารัสเซีย – ยูเครนโดยตรง กดดันราคาต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้น และอุปสงค์จากชะลอตัว ทำให้ในบางช่วงรับรู้ขาดทุนจากการปรับมูลค่าสินค้าคงเหลือเพิ่มขึ้น  

       หุ้น SCC  ปรับมุมมองลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หยวนต้า (ประเทศไทย) การฟื้นตัวของธุรกิจปิโตรเคมีจะใช้เวลานานกว่าที่ประเมินไว้ก่อนหน้า โดย 3QTD HDPE Spread และ PP Spread เฉลี่ยอยู่ที่  395 ตันต่อดอลลาร์  (-15% QoQ, -14% YoY) และ  367 ตันต่อดอลลาร์ (-23% QoQ, -36% YoY) ตามลำดับ

        ถือว่าอยู่ในระดับต่ำใกล้เคียงต้นทุนการผลิต กดดันจากนโยบาย Zero-Covid ของจีนที่ยืดเยื้อทำให้ความต้องการใช้ปิโตรเคมีครึ่งปีหลังยังอ่อนแอ (ความต้องการจากจีนคิดเป็นราว 30% ของทั้งโลก), ภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกซบเซาจากนโยบายการเงินตึงตัวเพื่อสกัดปัญหาเงินเฟ้อ, สหรัฐ – จีนยังไม่มีท่าทีผ่อนปรนนโยบายกำแพงภาษี และกำลังผลิตใหม่เข้าสู่ตลาดจำนวนมาก

        มองข้ามไปยังปี 2566 แม้สถานการณ์จะดีขึ้นจากการผ่อนคลายมาตรการ ควบคุมของจีน (คาดมีสัญญาณดีขึ้นหลังการประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์16 ต.ค.) แต่จะฟื้นตัวเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปเพราะการชะลอตัวของเศรษฐกิจ และการเปิดใช้งานโรงงานใหม่ ที่ถูกเลื่อนในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้การ COD ของโครงการ LSP จะยังไม่สามารถผลักดันกำไรปี 2566 ได้มากนัก

      ดังนั้นปรับไปใช้ราคาเหมาะสม ณ สิ้นปี 2566 ที่ 400.00 บาท อ้างอิง PBV ที่ 1.2 เท่า (เดิม 1.5 เท่า) ให้ ส่วนลดจากค่าเฉลี่ย 5 ปี -2.5 SD สะท้อน ROE ปี 2565 – 2566 ที่อยู่ระดับต่ำ  8-9% เทียบกับค่าเฉลี่ยระดับ 14% ในช่วง 5 ปีย้อนหลัง ราคาเหมาะสมใหม่อิง EV/EBITDA และ PER ที่ 10.0 เท่า และ 13.7 เท่า ตามลำดับ ใกล้เคียงค่าเฉลี่ยในอดีต และเมื่อเทียบกับการเติบโตปี 2566 ที่ 15% ถือว่ามีความสมเหตุสมผล

       ประเมินว่าหุ้นมี Valuation ระดับต่ำแล้ว เพราะปัจจุบันซื้อ ขายบน PBV ที่ 1.1 เท่า ใกล้เคียงช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปี 2551 และช่วงการแพร่ระบาดรอบแรกปี 2563 อย่างไรก็ตาม ปรับลดคำแนะนำลงเป็น TRADING (จาก “ซื้อ”) เนื่องจากมองว่าระยะสั้นหุ้นยังไม่มี Catalyst บวก

       โดยคาด 1 เดือนข้างหน้าหุ้นอาจถูกกดดันจากการปรับลดประมาณการของตลาด    (คาดการณ์กำไรปี 2565 – 2566 ต่ำกว่า IAA Consensus 13-18%) รวมทั้งอาจมีSentiment ลบจากความไม่แน่นอนของกระบวนการ Spin-off SCGC เนื่องจากสภาพตลาดปิโตรเคมีปี 2566 ที่ยังไม่โดดเด่น

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์