คลังห่วงเด็กขาดวินัยชำระหนี้ กยศ.เตรียมข้อมูลแจงวุฒิสภา

คลังห่วงเด็กขาดวินัยชำระหนี้ กยศ.เตรียมข้อมูลแจงวุฒิสภา

คลังห่วงเด็กเสียวินัยชำระหนี้ กยศ.เตรียมข้อมูลแจงวุฒิสภา หลังสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบร่างกฎหมาย กยศ.งดดอกเบี้ย และเบี้ยปรับเงินกู้ยืม กยศ.

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงกรณีที่สภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบแก้กฎหมายกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา(กยศ.)โดยไม่คิดดอกเบี้ย และเบี้ยปรับว่า ถ้ากฎหมายฉบับนี้ผ่านทั้งสองสภา ก็คงต้องมีการวางแผนบริหารเงินของ กยศ.ในอนาคต เพราะว่า ในร่างกฏหมายใหม่การบริหารเงินจะแตกต่างจากเก่า ที่เคยมีเงินดอกเบี้ย และเบี้ยปรับซึ่งเป็นรายได้ของกองทุน ซึ่งก็จะหายไปหมด

ทั้งนี้  ที่ผ่านมา กยศ. ก็บริหารเงินกองทุนโดยไม่ได้ใช้งบประมาณแผ่นดินแล้ว แต่ใช้เงินประเดิมกองทุนที่รัฐบาลให้ และเงินส่วนที่เยาวชนรุ่นก่อน เรียนจบแล้วก็มีการคืนทั้งเงินต้น และดอกเบี้ย บางส่วนถ้าล่าช้าก็เสียเบี้ยปรับ ทำให้มีเงินหมุนตลอดเวลา

“ในเงื่อนไขของร่างกฎหมายใหม่ก็ต้องดูเงินที่เข้ามา และความต้องการใช้เงินว่ามากน้อยแค่ไหน แต่อย่างไรก็ตาม จะมีหรือไม่มีดอกเบี้ยนั้น ผู้กู้ยืมยังคงต้องมีวินัยการเงิน เพื่อคืนเงินต้น ให้คนรุ่นต่อๆ ไป ได้กู้ยืมต่อ”

ส่วนผลกระทบที่จะมีต่อสถานะการเงินของกองทุนฯ เขากล่าวว่า ก็ยังไม่เห็นปัญหาส่วนนี้  แต่ได้คาดการณ์ว่า ถ้ามีความต้องการมากขึ้น แต่รายได้ไม่เข้ามาเพิ่ม เพราะไม่มีดอกเบี้ย และเบี้ยปรับ ก็จะต้องใช้เงินก้อนเดิมที่เป็นเงินต้นมาใช้หมุนเวียน ดังนั้น เงื่อนไขที่สำคัญคือ เงินก้อนนี้ต้องกลับมา หมายความ ผู้กู้ต้องคืนเงินต้น ไม่เช่นนั้นจะเป็นภาระกองทุนได้ 

สำหรับร่างกฎหมายใหม่ที่ทางรัฐบาลเสนอไป โดยยังคงให้มีดอกเบี้ย แต่จะเป็นการปรับลดลงมา เพื่อลดภาระผู้กู้ยืมให้ได้มากที่สุด แต่อย่างไรก็ดี ก็จะเป็นต้นทุนในการบริหารกองทุน

สำหรับร่างกฎหมาย สภาฯได้ลงมติเห็นชอบไปแล้ว แต่ก็ยังมีขั้นตอนของวุฒิสภา ที่กระทรวงการคลังต้องไปชี้แจงตามขั้นตอนทางกฎหมาย ส่วนจะสามารถปรับเปลี่ยนร่างกฎหมายได้หรือไม่ ก็ต้องขึ้นอยู่กับความเห็นของวุฒิสภา 

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า มีความเป็นห่วงว่า จะไม่มีวินัยในการชำระหนี้ เนื่องจาก จะเป็นสิ่งที่ทำให้ไม่มีวินัยหรือไม่ แต่อีกทางด้านหนึ่งก็มีการมองว่า เป็นสิ่งที่รัฐบาลจะต้องมองว่า ต้องบริหารจัดการให้หรือไม่

อย่างไรก็ดี ในหลักการของกองทุนที่ผ่านมาคือ เป็นเรื่องของเงินกู้ แต่เรื่องของดอกเบี้ยไม่ได้มีวัตถุประสงค์ที่ต้องการกำไรส่วนนี้ ซึ่งเราก็ไม่ได้มีความเป็นห่วงในเรื่องดอกเบี้ย แต่มีความเป็นห่วงประเด็นเบี้ยปรับ ซึ่งจะเป็นเรื่องของวินัยในการชำระ

“ขอไปดูรายละเอียด และให้กฎหมายออกมาก่อน ส่วนจะมีสิทธิเปลี่ยนแปลงกฎหมายตามที่สภาฯ มีมติหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับความเห็นของวุฒิสภาฯ ส่วนที่ประเมินว่าการไม่คิดดอกเบี้ยผู้กู้นั้น ควรจะเป็นรูปแบบให้มีผลย้อนหลังด้วยหรือไม่ จะต้องไปดูรายละเอียดกฎหมายอีกที แต่ตอนนี้กฎหมายยังไม่ได้ออกมา”

นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการ กยศ. กล่าวว่า หากกฎหมายมีผลบังคับใช้ตามที่รัฐสภาเห็นชอบ ทางคณะกรรมการกองทุนฯ จะต้องพิจารณาถึงผลกระทบต่อสถานะกองทุน และการบริหารจัดการเรื่องการปล่อยกู้ให้กับนักเรียนในระยะต่อไป เนื่องจาก ในแต่ละปี กองทุนจะมีสภาพคล่องที่ได้รับจากการชำระหนี้เงินกู้ ประมาณ 4 หมื่นล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นอัตราดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ ประมาณ 6 พันล้านบาท และมีค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการกองทุนประมาณ 2 พันล้านบาท ต่อปี เมื่อไม่มีดอกเบี้ย และเบี้ยปรับรายรับส่วนนี้ก็จะหายไป

อย่างไรก็ตาม กองทุนฯ หวังว่า เมื่อมีการยกเว้นดอกเบี้ย และเบี้ยปรับ จะทำให้ความสามารถในการชำระหนี้เงินกู้ของเด็กมีมากขึ้น ก็จะช่วยในเรื่องของสภาพคล่องของกองทุนได้ 

สำหรับขั้นตอนหลังจากนี้ กยศ.ต้องเตรียมข้อมูล เพิ่มเติมเพื่อไปชี้แจ้งต่อวุฒิสภา โดยประเด็นสำคัญ คือ เหตุจำเป็นที่จะต้องมีดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ และข้อเท็จจริงของผลกระทบต่างๆ

ทั้งนี้ ตามกระบวนการกฎหมายจะใช้เวลาพิจารณา 1  เดือน เพราะเป็นกฎหมายด้านการเงิน หากผ่านวุฒิสภาเห็นชอบ ก็รอกระบวนการออกกฎหมายบังคับใช้ ซึ่งจะมีเวลาอีกระยะหนึ่ง  แต่หากวุฒิสภาไม่เห็นชอบ ก็จะต้องมีการตีกฎหมายกลับมา และมีการตั้งกรรมาธิการร่วมสองสภาเพื่อพิจารณาการแก้ไขกฎหมายอีกครั้ง

ตั้งแต่ปี 2538 กองทุนใช้เงินงบประมาณสำหรับให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา 3 พันล้านบาท โดยเป็นเงินทุนหมุนเวียนในอนาคต ซึ่งขณะนี้ดำเนินการมาแล้วกว่า 20 ปี มีเงินหมุนเวียนแล้ว 4 แสนล้านบาท ปล่อยกู้กว่า 6.9 แสนล้านบาท คิดเป็น 6.2 ล้านคน

ทั้งนี้ มีผู้ปิดบัญชีการชำระหนี้แล้ว 1.6 ล้านคน เสียชีวิต 6.7 หมื่นคน กำลังศึกษาอยู่ 1 ล้านคน และอยู่ระหว่างการชำระหนี้ 3.5 ล้านคน โดยจากจำนวนดังกล่าวมียอดผิดนัดชำระหนี้กว่า 2.5 ล้านคน คิดเป็นเงินต้นกว่า 9 หมื่นล้านบาท 

"ในปี 2561 เป็นปีสุดท้ายที่ขอใช้งบจากรัฐบาล จากนั้นกองทุนดำเนินการโดยใช้เงินหมุนเวียน ซึ่งการปล่อยสินเชื่อทางการศึกษาในปัจจุบันกองทุนปล่อยกู้เฉลี่ยปีละ 4 หมื่นล้านบาท และไม่จำกัดจำนวนบุคคลในการปล่อยกู้"

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์