Thaioil Weekly Oil Market and Outlook as of 12 September 2022

Thaioil Weekly Oil Market and Outlook as of 12 September 2022

ราคาน้ำมันดิบผันผวน จากความกังวลเศรษฐกิจโลกหดตัว ขณะที่ตลาดคาดการณ์แรงหนุนจาก gas-to-oil switching หลังราคาก๊าซยุโรปปรับตัวสูงขึ้น

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 80 - 92 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 90 - 102 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

Thaioil Weekly Oil Market and Outlook as of 12 September 2022

 

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (12 – 16 ก.ย. 65) 

        ราคาน้ำมันดิบผันผวน หลังธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมที่ผ่านมา ขณะที่ธนาคารกลางของสหรัฐฯ (FED) มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเช่นกันในการประชุมวันที่ 20-21 ก.ย. 65 นี้ ส่งผลให้ตลาดกังวลเศรษฐกิจโลกหดตัว และกดดันปริมาณความต้องการใช้น้ำมันโลก ขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในจีนยังไม่มีแนวโน้มดีขึ้น รวมทั้งยังมีการขยายมาตรการล๊อกดาวน์และใช้มาตรการเข้มงวดในเมืองสำคัญต่างๆ ตามนโนบาย zero COVID เพิ่มขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบได้แรงหนุนจากราคาก๊าซที่ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากอุปทานที่มีแนวโน้มตึงตัว หลังรัสเซียประกาศจะหยุดระงับส่งออกก๊าซทั้งหมดไปยังยุโรป หากยุโรปยังคงใช้มาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย อีกทั้ง ผู้บริโภคมีแนวโน้มจะใช้น้ำมันในฤดูหนาวแทนก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้น (gas-to-oil switching)
 

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้

-  การประชุมของธนาคารกลางยุโรปเมื่อวันที่ 8 ก.ย. 65 ที่ผ่านมา มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% หลังก่อนหน้านี้ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 50 bps หรือ 0.5% ในการประชุมครั้งก่อนหน้า เพื่อควบคุมอัตรเงินเฟ้อของยุโรปที่ปรับตัวสูงถึงระดับ 9.1% y-o-y ในเดือนส.ค. 65 โดยเป็นการปรับขึ้นติดต่อกันเป็นระยะเวลา 9 เดือน ขณะที่การประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ในวันที่ 20-21 ก.ย. 65 คาดว่า FED จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 75 bps หรือ 0.75% เช่นกัน ทั้งนี้การดำเนินนโยบายเข้มงวดทางการเงินอย่างต่อเนื่องของธนาคารกลางหลายประเทศทั่วโลก ส่งผลให้ตลาดกังวลเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และอาจกดดันปริมาณความต้องการใช้น้ำมันโลก

-  สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในจีน ยังคงกดดันตลาด หลังจีนประกาศขยายมาตรการล็อกดาวน์ และเร่งตรวจหาเชื้อประชากรกว่า 21.2 ล้านคนในเมืองเฉิงตู ซึ่งเป็นเมืองสำคัญทางเศรษฐกิจแห่งหนึ่งของจีน ขณะที่เมืองเซินเจิ้นยังคงใช้มาตรการเข้มงวดในการจำกัดการเดินทางเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ส่งผลให้ตลาดกังวลต่อการฟื้นตัวของปริมาณความต้องการใช้น้ำมันโลก

-   รัสเซียประกาศระงับการส่งออกก๊าซทั้งหมดไปยังยุโรป รวมถึงการส่งก๊าซไปยังเยอรมนีผ่านท่อส่งก๊าซ Nord Stream 1 ถึงแม้ว่าจะเสร็จสิ้นการปิดซ่อมบำรุงในช่วงต้นเดือนก.ย. 65 ที่ผ่านมาก็ตาม โดยรัสเซียอ้างว่ามีปัญหาขัดข้องทางเทคนิคและยังไม่มีกำหนดการกลับมาดำเนินการใช้ที่ชัดเจนหรือจนกว่ายุโรปจะยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย ส่งผลให้ราคาก๊าซมีแนวโน้มสูงขึ้น จากอุปทานที่ตึงตัว และอาจทำให้ผู้บริโภคต้องเตรียมหันมาใช้น้ำมันแทนก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นในช่วงหน้าหนาวที่กำลังจะมาถึงนี้
 

-  สหภาพยุโรปหารือเรื่องการตรึงราคาก๊าซของรัสเซีย เพื่อจำกัดรายได้จากการส่งออกก๊าซของรัสเซีย โดยเมื่อวันที่ 2 ก.ย. 65 ที่ผ่านมา ผู้นำ G7 ได้ประกาศใช้มาตรการดังกล่าวอย่างเป็นทางการกับราคาน้ำมันของรัสเซีย อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวยังไม่มีการใช้เป็นวงกว้าง ซึ่งทางกลุ่มกำลังโน้มน้าวให้หลายประเทศร่วมกันใช้มาตรการตรึงราคาโดยเฉพาะประเทศที่มีการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียเป็นหลัก ได้แก่ จีน อินเดีย และอื่นๆ เพื่อส่งผลกระทบต่อรายได้ของรัสเซียมากที่สุด โดยจะเริ่มใช้ในช่วงเดียวกันกับการห้ามนำเข้าน้ำมันดิบ (5 ธ.ค. 65) และน้ำมันสำเร็จรูป (5 ก.พ. 66) ของรัสเซีย ขณะที่รัสเซียออกมาตอบโต้โดยจะหยุดส่งออกน้ำมันและก๊าซไปยังประเทศที่มีการใช้มาตรการดังกล่าว 

-   ตลาดยังคงจับตา ความเป็นไปได้ของการส่งออกน้ำมันของรัสเซีย หลังถูกคว่ำบาตรห้ามซื้อขายน้ำมันของรัสเซียโดยนานาชาติ โดยรายงานของ FGE เดือนส.ค. 65 คาดการณ์ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของรัสเซียไปยังประเทศแถบเอเชีย โดยเฉพาะจีนและอินเดียมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 1.4 ล้านบาร์เรลต่อวันในสิ้นปีนี้ ซึ่งเป็นช่วงกำหนดเส้นตายห้ามซื้อขายน้ำมันของรัสเซียโดยสหรัฐฯ ยุโรปและนานาชาติ 

-   เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ คือ ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของยุโรปเดือนก.ย. 65 โดยตลาดคาดการณ์มีแนวโน้มปรับลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 54.9 และการประกาศตัวเลขอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (core CPI) เดือนส.ค. 65 ของสหรัฐฯ โดยตลาดคาดการณ์มีแนวโน้มปรับลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 5.9% y-o-y

 

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (5 - 9 ก.ย. 65)  

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 86.87 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 86.79 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ปรับลดลง 93.02 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 92.84  ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 90.61 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในจีน ที่จีนยังคงขยายมาตรการล็อกดาวน์และใช้มาตรการเข้มงวดในเมืองเฉิงตูและเมื่องอื่นๆ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ส่งผลกดดันตลาดน้ำมันดิบ ขณะที่สถาบันปิโตรเลียมด้านพลังงานของสหรัฐฯ (API) รายงานสต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 02 ก.ย. 65 ปรับเพิ่มขึ้น 3.6 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดไว้ว่าจะปรับลดลง 7.3 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงกังวลภาวะอุปทานตึงตัว หลัง OPEC+ มีมติปรับลดกำลังการผลิตลง 100,000 บาร์เรลต่อวันหรือคิดเป็น 0.1% ของปริมาณความต้องการใช้น้ำมันโลกในการประชุมที่ผ่านมา