MONEY AND STOCK MARKET วันที่ 5 - 9 กันยายน 2565

MONEY AND STOCK MARKET วันที่ 5 - 9 กันยายน 2565

เงินบาทขยับแข็งค่าขึ้น ขณะที่หุ้นไทยปรับตัวขึ้นจากสัปดาห์ก่อน เงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ขาดแรงหนุนใหม่ๆ แม้ว่าประธานเฟดจะส่งสัญญาณคุมเข้มต่อเนื่อง

•    SET Index แตะระดับสูงสุดในรอบ 3 เดือน ตามแรงหนุนของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและพลังงาน แม้นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยเกือบตลอดสัปดาห์ 
 

สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท

เงินบาทพลิกแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ โดยเงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นในช่วงต้นสัปดาห์ตามทิศทางค่าเงินหยวน หลังจากที่ธนาคารกลางจีนประกาศลดสัดส่วนการกันสำรองสกุลเงินตราต่างประเทศที่สถาบันการเงินต้องดำรงไว้ลง ซึ่งทำให้ตลาดตีความว่าเป็นความพยายามเพื่อชะลอการอ่อนค่าของเงินหยวน อย่างไรก็ดีเงินบาทและสกุลเงินอื่นในเอเชียกลับมาเผชิญแรงขายช่วงสั้นๆ ในช่วงกลางสัปดาห์ ตามสถานการณ์เงินเยน (อ่อนค่าสุดในรอบ 24 ปี) และเงินหยวน (อ่อนค่าสุดในรอบ 2 ปี) ซึ่งถูกกดดันจากแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงิน ซึ่งมีทิศทางแตกต่างไปจากสัญญาณคุมเข้มนโยบายการเงินของสหรัฐฯ     

นอกจากนี้การแข็งค่าของเงินบาทยังสอดคล้องกับสถานะซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างชาติในตลาดพันธบัตร ขณะที่แม้ว่าประธานเฟดจะส่งสัญญาณคุมเข้มต่อเนื่อง แต่เงินดอลลาร์ฯ อ่อนค่าลงเพิ่มเติมช่วงปลายสัปดาห์ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับเงินยูโร หลัง ECB ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 75 bps. ตามที่ตลาดคาด และส่งสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเพื่อสกัดแรงกดดันเงินเฟ้อของยูโรโซนซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้นเป็นตัวเลขสองหลักในระยะข้างหน้าตามทิศทางราคาพลังงาน

MONEY AND STOCK MARKET วันที่ 5 - 9 กันยายน 2565

ในวันศุกร์ที่ 9 ก.ย. 2565 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 36.28 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 36.71 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (2 ก.ย.) ขณะที่ระหว่างวันที่ 5-9 ก.ย. แม้นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 5,204 ล้านบาท แต่ก็ซื้อสุทธิพันธบัตรไทยสูงถึง 10,935 ล้านบาท
 

สัปดาห์ถัดไป (12-16 ก.ย.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ระดับ 35.80-36.80 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ กระแสเงินทุนต่างชาติ และผลการประชุม BOE ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต ดัชนีราคานำเข้าและราคาส่งออก ยอดค้าปลีก การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนส.ค. ผลสำรวจภาคการผลิตของเฟดสาขานิวยอร์กและเฟดสาขาฟิลาเดลเฟีย และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (เบื้องต้น) เดือนก.ย. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์  นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามอัตราเงินเฟ้อเดือนส.ค. ของอังกฤษและยูโรโซน รวมถึงข้อมูลเศรษฐกิจจีนเดือนส.ค. ด้วยเช่นกัน

 

สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย

ตลาดหุ้นไทยดีดตัวขึ้นจากสัปดาห์ก่อน แม้เผชิญแรงขายจากกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ ทั้งนี้ SET Index แกว่งตัวกรอบแคบช่วงต้นสัปดาห์ตามทิศทางตลาดหุ้นต่างประเทศ ก่อนจะทยอยปรับขึ้นในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ โดยหุ้นกลุ่มที่หนุน SET Index ในสัปดาห์นี้หลักๆ ได้แก่ กลุ่มพลังงานที่มีปัจจัยบวกส่วนหนึ่งจากการประชุมโอเปกซึ่งมีมติปรับลดกำลังการผลิตลงในเดือนหน้า รวมถึงกลุ่มเทคโนโลยี ที่มีแรงซื้อเข้ามาในหุ้นบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่แห่งหนึ่ง รับข่าวตลท. เตรียมปรับปรุงเกณฑ์ Turnover Ratio สำหรับการพิจารณาคัดเลือกหุ้นใน SET50 และ SET100

MONEY AND STOCK MARKET วันที่ 5 - 9 กันยายน 2565

 

ในวันศุกร์ (9 ก.ย.) ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,654.62 จุด เพิ่มขึ้น 2.00% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 67,413.58 ล้านบาท ลดลง 11.39% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 5.18% มาปิดที่ 666.98 จุด     

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (12-16 ก.ย.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,640 และ 1,620 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,665 และ 1,690 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ รวมถึงประเด็นการเมืองในประเทศ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต ยอดค้าปลีกและผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนส.ค. ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ การประชุม BoE ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนส.ค. ของยูโรโซน ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนส.ค. ของญี่ปุ่น ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนก.ค. ของญี่ปุ่นและยูโรโซน รวมถึงข้อมูลเศรษฐกิจเดือนส.ค. ของจีน อาทิ ยอดค้าปลีก การลงทุนในทรัพย์สินถาวร