FETCO ชี้เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงการฟื้นตัว

FETCO ชี้เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงการฟื้นตัว

"เฟทโก้  เผยดัชนีเชื่อมั่นนักลงทุน 3 เดือนข้างหน้าเพิ่มขึ้น แนะ จับตาโควิด -เงินเฟ้อ -ผลการวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญต่อวาระการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี มีผลกระทบต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจ

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย หรือ เฟทโก้ (FETCO) เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ผลสำรวจในเดือนส.ค. 2565  ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน ในอีก 3 เดือนข้างหน้า (พ.ย.2565)อยู่ที่ระดับ 116.59 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 12.2% จากเดือนก่อนหน้ายังคงอยู่ในเกณฑ์ “ทรงตัว” นักลงทุนมองว่าการฟื้นต้วของภาคท่องเที่ยวจะเป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นมากที่สุด รองลงมาคือการไหลเข้าของเงินทุน และนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) สาหรับปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ สถานการณ์โรคระบาด COVID-19 รองลงมาคือ นโยบายการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ FED และการไหลออกของเงินทุน

ผลสำรวจ ณ เดือนสิงหาคม 2565 รายกลุ่มนักลงทุน พบว่าความเชื่อมั่นนักลงทุนกลุ่มแทบทุกกลุ่มปรับเพิ่มขึ้นโดย นักลงทุนบุคคลปรับเพิ่ม 18.3% อยู่ที่ระดับ 127.42 กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ปรับเพิ่ม 12.0% อยู่ที่ระดับ 140.00 กลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศปรับเพิ่ม 39.5% อยู่ที่ระดับ 106.67 ในขณะที่ความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนต่างชาติทรงตัว อยู่ที่ระดับ 100.00

โดยปัจจัยต่างประเทศที่ต้องติดตามได้แก่ สถานการณ์ COVID-19 ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นมากในหลายประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน รวมถึงนโยบาย Zero-COVID ของจีนที่ยังคงมีการประกาศ Lockdown เป็นระยะ ๆ ซึ่งจะส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน อัตราเงินเฟ้อที่ยังคงสูงซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการผ่อนคลายนโยบายการเงินของธนาคารกลางในหลายประเทศโดยเฉพาะ เฟดและปัญหาค่าเงินอ่อนลงอย่างมากในกลุ่ม Emerging market 

ในส่วนของปัจจัยในประเทศที่น่าติดตาม ได้แก่ การเฝ้าระวังการระบาด COVID-19 ในประเทศซึ่งมีเพิ่มขึ้นหลังเปิดให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ ผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญต่อวาระการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะส่งผลต่อสถานการณ์การเมืองในประเทศ แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและภาคท่องเที่ยว รวมถึงแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อที่ยังสูงจากการที่ราคาอาหาร และพลังงานยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง