IDEaR Unit ศูนย์ออกแบบเพื่อความเท่าเทียม

IDEaR Unit ศูนย์ออกแบบเพื่อความเท่าเทียม

มากกว่าความสวยงามคือความเท่าเทียม เปิดแนวคิดสถาปนิกที่ร่วมผลักดันศูนย์วิจัยซึ่งเน้นการออกแบบสำหรับคนทุกกลุ่ม

ต้องไปไกลถึงความพิการ เอาแค่ออกกำลังกายแล้วขาเจ็บ หกล้มแล้วแขนหัก หรือดวงตาที่เคยเห็นกลับใช้งานไม่ได้ (ชั่วคราว) ไม่ก็ลองจินตนาการถึงวันที่อายุมากขึ้น เรี่ยวแรงไม่ดีเหมือนเก่า แต่สภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่กลับไม่อำนวยเอาเสียเลย


เมื่อการออกแบบอย่างที่เห็นสนองตอบแค่คนแข็งแรงสมบูรณ์ “จุดประกาย” ขอพาไปรู้จักกับ ดร.อันธิกา สวัสดิ์ศรี หนึ่งในผู้ก่อตั้ง ศูนย์วิจัยและสร้างสรรค์สภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน (Inclusive Design Environment and Research - IDEaR Unit) กลุ่มสถาปนิกที่ผลักดันแนวคิดเรื่องการออกแบบสำหรับทุกคนมาอย่างต่อเนื่อง


การออกแบบเพื่อความเท่าเทียม
เวลาเราไปต่างประเทศ เช่นญี่ปุ่น หรือฝั่งยุโรป เรามักคิดว่าทำไมผู้สูงอายุที่นี่ถึงมีจำนวนมาก แถมยังแข็งแรงออกมาใช้ชีวิตตามปกติได้ แท้ที่จริงแล้วพวกเขาไม่ได้มีมากไปกว่าที่ไหน แต่สังคมเขาต่างหากที่มีการออกแบบเพื่อให้ผู้สูงอายุเหล่านี้ยังสามารถสัญจรตามปกติอย่างที่ต้องการ


หลักการออกแบบเพื่อคนทุกคน (Universal design) ไม่ได้หมายความแค่เฉพาะคนพิการเท่านั้น แต่เป็นการออกแบบสิ่งแวดล้อม การสร้างสถานที่ และสิ่งของต่างๆ เพื่อให้ทุกคนที่อยู่ในสังคมสามารถใช้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านั้นได้อย่างเต็มที่และเท่าเทียมกัน ครอบคลุมสำหรับทุกคน เช่น คนสูงอายุ คนป่วย สตรีตั้งครรภ์ เด็กเล็ก หรือคนข้ามเพศ ซึ่งสังคมมองว่าคนกลุ่มนี้คือคนกลุ่มน้อย


จะพิจารณาเรื่องนี้ คงต้องย้อนกลับไปมองที่หลักสูตรการเรียนสถาปัตยกรรมศาสตร์ที่ผ่านมา คือเรามักมีคู่มือการออกแบบ และเกือบทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นที่อยู่อาศัย สำนักงาน ผลิตภัณฑ์ต่างๆ มีไว้เพื่อคนที่มีร่างกายแข็งแรงเท่านั้น เช่น บ้านมักมี 2 ชั้น มีบันไดเดินขึ้นซึ่งไม่กินพื้นที่ตัวบ้านมากนัก ห้องนอนควรอยู่ชั้นบน และถ้าเป็นในรูปแบบอุตสาหกรรมก็จะเป็นแบบนี้ทั้งหมด แต่ลืมไปว่าวันหนึ่งเจ้าของบ้านที่ร่างกายสมบูรณ์อาจมีวันเจ็บป่วยหรือแก่ตัวไปได้ บ้างก็อาจเกิดอุบัติเหตุที่ทำให้ร่างกายพิการชั่วคราวจนใช้สอยพื้นที่แบบเดิมไม่สะดวก นี่คือประเด็นของการออกแบบที่ไม่ได้คำนึงในทุกสถานการณ์ การออกแบบในสมัยใหม่คือการลดอุปสรรคในการใช้งานทุกพื้นที่ โดยเริ่มต้นจากฐานคิดที่ว่า ทำอย่างไรคนประเภทต่างๆ มีโอกาสใช้ได้อย่างเท่าเทียมกัน


ขอพื้นที่ให้คนไม่สมบูรณ์
ศูนย์ IDEaR Unit เราอยู่ในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังซึ่งที่นี่มีทั้งทีมงานและนิสิตปริญญาโทซึ่งครอบคลุมบริการงานเชิงออกแบบทั้งหมด แต่ที่เราเน้นและคิดว่าเรามีศักยภาพจะทำได้ดีที่สุดคือการออกแบบสำหรับคนพิการ สำหรับผู้สูงอายุ ที่มีข้อจำกัดจะใช้ชีวิตในสถานที่ที่เป็นอยู่
งานหลักๆ คือรับบริการศึกษาและออกแบบ อาคารสถานที่ต่างๆ ที่เอาหลักการเหล่านี้เข้าไป และที่ผ่านมาก็ร่วมทำโปรเจคกับทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น ร่วมกับกระทรวงพัฒนาสังคมฯ ศึกษาและทำป้ายรถเมล์ชานต่ำ ป้ายรถเมล์สำหรับคนตาบอด ร่วมกับกระทรวงคมนาคมปรับสถานีขนส่งที่ปลอดภัยสำหรับผู้พิการ หรืออย่างที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ที่จากการสำรวจพบว่ามีผู้พิการทางสายตาใช้บริการเป็นจำนวนมาก เราก็จะร่วมออกแบบระบบฟังเสียงในแต่ละจุด


เราศึกษาบริบทที่เกี่ยวกับกายภาพทุกระดับ หรืออย่างคอนโดเราก็ทำ เราเสนอไอเดียการปรับพื้นที่เพื่อมีทางลาดสำหรับรถเข็นให้ผู้สูงอายุช่วยเหลือตัวเองได้เมื่อลูกหลานต้องออกไปทำงาน และเราให้คำปรึกษาโดยไม่มีค่าใช้จ่าย เว้นแต่เมื่อผู้ใช้บริการมีความต้องการถอดแบบและเขียนแบบก่อสร้างขึ้นมาใหม่

10   2_


ต้นทุนกับงานออกแบบ
ข้อจำกัดเรื่องเงินก็เป็นประเด็นหนึ่งแต่ไม่ใช่ทั้งหมด เคยมีกรณีที่เป็นคุณป้าอยู่บ้านทรงไทยมาปรึกษา เพราะจากที่เคยมีความสุขดีพอวันหนึ่งขึ้นบันไดไม่ไหวก็ต้องมานอนใต้ถุนบ้าน และก็มีอุปสรรคเรื่องการใช้ห้องน้ำ เราเลยออกแบบโดยเอาท่อเหล็กมาทำเป็นราวจับจนถึงห้องน้ำ อาศัยความรู้หน้างาน และมองถึงวัสดุที่หาซื้อได้ ราคาไม่แพง นั่นแสดงให้เห็นว่าต้นทุนอาจเป็นข้อจำกัดก็จริง แต่ไม่ใช่ทั้งหมดแน่นอน ขึ้นอยู่กับการประยุกต์และสร้างสรรค์หาวัสดุที่ใช้ประโยชน์ได้ดีไม่ต่างกัน
ทัศนคติ อุปสรรคใหญ่ของความพิการ


ถ้าถามว่าเราพูดเรื่อง Universal design กันมานาน แต่ทำไมไปไม่ถึงไหน ก็ต้องบอกว่าเรื่องแรกคือเรื่องทัศนคติ บางคนชอบคิดว่า คนกลุ่มนี้คือคนกลุ่มน้อย ออกแบบแล้ว สร้างแล้วคงไม่มีใครใช้ ก็ต้องยืนยันว่าคนกลุ่มนี้ไม่ได้มีจำนวนน้อย แต่เขาออกมาข้างนอกให้คุณเห็นไม่ได้ เช่น เข็นวีลแชร์มาก็ติดฟุตบาท ใช้บริการขนส่งมวลชนก็ไม่ได้ คนพิการในสังคมไทยจึงต้องจำใจที่จะลดข้อจำกัดตรงนี้ด้วยการไม่ออกไปไหนมากแบบคนปกติ


อีกอย่างคือ สังคมมักคิดว่า เมื่อพิการแล้วเป็นหน้าที่ซึ่งคนพิการต้องปรับตัวเอง ไม่ใช่สังคมต้องปรับ เช่น เรามีบ้านมีบันได เราก็ใช้อันนี้ทุกวัน ถ้าวันหนึ่งเรานั่งวีลแชร์ เราก็คิดว่าเราต่างหากที่ต้องปรับตัว จะไปผ่าตัด หรือทำอย่างไรก็ได้ให้เราเดินได้ นี่คือทัศนคติเดิม แต่ปัญหาและคำถามคือจะมีกี่คนที่ทำได้ สามารถรักษาให้หายขาดเหมือนในละคร ทำไมเราถึงไม่เปลี่ยนบันไดให้รับรองกายภาพอย่างหลากหลายมากขึ้น ยิ่งโดยเฉพาะกับผู้สูงอายุที่เมื่ออายุเพิ่มขึ้นแล้ว ไม่มีวันปรับตัวให้หายเหมือนเก่าได้
เราจึงเชื่อการว่าออกแบบเพื่อคนทุกคน จะช่วยให้ทุกชีวิตดำรงอยู่ได้ดีที่สุด

767976_0_1502171329