ทฤษฎีแห่งความสุข : สุข ... อาบป่า โดย ธันย่า - ธันยลักษณ์ พรหมมณี

ทฤษฎีแห่งความสุข : สุข ... อาบป่า โดย ธันย่า - ธันยลักษณ์ พรหมมณี

คอลัมน์ "ทฤษฎีแห่งความสุข" ทุกวันจันทร์ที่สองของเดือน สำหรับเดือนมิถุนายน 2568 นี้ นำเสนอเรื่อง "สุข ... อาบป่า" โดย ธันย่า - ธันยลักษณ์ พรหมมณี

เมื่อสายฝนโปรยปราย ทุกหย่อมหญ้าก็เปล่งประกายเขียวสดชื่น ต้นไม้น้อยใหญ่กลับมามีชีวิตอีกครั้ง กลิ่นดินและใบไม้สดหลังฝนปลุกหัวใจให้ตื่นราวกับธรรมชาติ สายลม แสงแดด และหยดฝน กำลังโอบกอดเราไว้

นี่แหละ... ฤดูที่เหมาะที่สุดสำหรับการ "อาบป่า"

ฤดูฝน คือช่วงเวลาที่ป่าเปี่ยมด้วยชีวิต ทั้งกลิ่นหอมของดินเปียกชื้น เสียงฝนที่หยดกระทบใบไม้ เสียงนกร้องท่ามกลางสายหมอก

ทั้งหมดนี้... ไม่ใช่แค่ "บรรยากาศดี" แต่คือการเยียวยาที่สัมผัสได้จริง

ธันย่า และ "ทฤษฎีแห่งความสุข" ประจำเดือนมิถุนายนนี้ ขอพาทุกคนออกจากชีวิตเมืองไป "อาบป่า" (forest bathing) พลังธรรมชาติสู่การเยียวยามนุษย์ ในยุคที่ผู้คนต้องเผชิญกับความสุข ความเศร้า ความกลัว ความวิตกกังวล ความกดดัน ความไม่มั่นคงทางอารมณ์ ความต้องการเป็นที่ยอมรับ ความเครียด และข้อมูลรอบตัวที่ถาโถมเข้ามาทุกวัน การได้ "หยุด" เพื่อตั้งหลักไปใช้ชีวิตที่เชื่อมโยงกับธรรมชาติ ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีฟื้นฟูสุขภาพที่ทั้งง่ายและทรงพลัง สัมผัสทุกรายละเอียด

การอาบป่า หรือในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า Shinrin Yoku เป็นวิธีที่ได้รับความนิยมและได้รับการยอมรับมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยเป็นการเข้าไปอยู่ในป่าอย่างมีสติ เปิดประสาทสัมผัสเพื่อซึมซับบรรยากาศและพลังของธรรมชาติอย่างลึกซึ้ง

การอาบป่า คือการได้ปล่อยใจให้ไหลไปกับพื้นผิวป่า การชะล้างจิตวิญญาณด้วยสายฝน และให้สีเขียวซึมลึกสู่หัวใจ เป็นกิจกรรมเรียบง่ายแต่ทรงพลังที่ช่วยฟื้นฟูทั้งร่างกายและจิตใจ

ทั้งนี้ งานวิจัยจำนวนมากยืนยันว่า การอยู่ใกล้ธรรมชาติจะช่วยลดระดับคอร์ติซอล ฮอร์โมนความเครียด เพิ่มสมาธิ และเสริมภูมิคุ้มกัน 

นอกจากนี้ ป่ายังส่งพลังงานเชิงบวกต่อสุขภาพจิต ช่วยคลายความตึงเครียดของกล้ามเนื้อที่เกิดจากความเหนื่อยล้าทางอารมณ์

เพียงแค่ได้อยู่กับต้นไม้ ฟังเสียงนก และสัมผัสแสงธรรมชาติ สมองของเราก็จะได้รับคลื่นพลังแห่งการเยียวยาอย่างอ่อนโยนและลึกซึ้ง เพื่อให้การอาบป่าเกิดผลสูงสุด แนะนำว่าควรมีผู้เชี่ยวชาญด้านการอาบป่าที่ผ่านการอบรมตามหลักสูตร ซึ่งจะช่วยนำทางการฝึกสติและเปิดประสาทสัมผัสได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม... เราทุกคนสามารถ "อาบป่า" ได้ทุกวัน เราอยู่ในประเทศที่มี "พื้นที่สีเขียว" การเห็นป่าชุมชนเล็กๆ ในทุกตำบล การมีสวนสาธารณะรอบโรงเรียน โรงพยาบาล และชุมชน

การสร้างพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืน ปลูกพืชอินทรีย์หลังบ้าน และเด็กๆ มีพื้นที่วิ่งเล่นใต้ต้นไม้ใหญ่ การมีพื้นที่สีเขียวเพื่อให้ชาวไทยทุกคนได้เข้าถึงในทุกวัน สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่แค่ภาพฝัน แต่คือหนทางสำคัญสู่การมีสุขภาวะที่ดี และโอกาสในการเข้าถึงธรรมชาติในทุกวันของชีวิต

เกษตรกรรมยั่งยืน ป่าที่กินได้... อีกหนึ่งหนทางสำคัญที่จะนำพื้นที่สีเขียวกลับคืนมา นั่นคือ "เกษตรกรรมยั่งยืน" ที่เน้นการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ เช่น การปลูกพืชหมุนเวียน ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ เลือกพันธุ์พืชท้องถิ่นและไม่ใช้สารเคมีรุนแรง 

เมื่อเราผสมผสาน "พื้นที่เกษตร" กับ "ระบบนิเวศ" อย่างลงตัว เราก็จะได้ "ป่าที่กินได้" พื้นที่สีเขียวที่ให้ทั้งอาหาร ร่มเงา และสุขภาวะในระยะยาว

ร่วมอาบป่า ด้วยการปลูกป่า ปลูกสวน และสร้างพื้นที่สีเขียวในแบบของเรา... ไม่ว่าจะอยู่ในเมืองใหญ่ หรือหมู่บ้านเล็กๆ การเริ่มต้นสร้างพื้นที่สีเขียวทำได้จาก "ใจ" ของเรา

เริ่มจากการปลูกต้นไม้ในกระถางหน้าบ้าน เลือกกินพืชผักปลอดภัย สนับสนุนเกษตรกรอินทรีย์ หรือชวนเพื่อนบ้านมาปลูกป่าหลังบ้านด้วยกัน

ทุกการกระทำมีความหมาย ต้นไม้ที่ปลูกในวันนี้ อาจต้องใช้เวลาหลายปีจึงจะให้ร่มเงา แต่ "หัวใจที่รักธรรมชาติ" นั้น... ให้ความสุขได้ทันที เพราะแท้จริงแล้ว มนุษย์คือส่วนหนึ่งของธรรมชาติ และธรรมชาติก็เป็นส่วนหนึ่งของเรา

แล้วพบกับธันย่า และ "ทฤษฎีแห่งความสุข" ได้ใหม่ ทุกวันจันทร์ที่สองของเดือนในกรุงเทพธุรกิจฉบับตีพิมพ์และทางออนไลน์