ทฤษฎีแห่งความสุข : สุข … ภาพจิต … คุณภาพชีวิตพลเมืองไทย โดย ธันย่า - ธันยลักษณ์ พรหมมณี

คอลัมน์ "ทฤษฎีแห่งความสุข" ทุกวันจันทร์ที่สองของเดือน สำหรับเดือนเมษายน 2568 นี้ นำเสนอเรื่อง " สุข … ภาพจิต … คุณภาพชีวิตพลเมืองไทย" โดย ธันย่า - ธันยลักษณ์ พรหมมณี
14 เมษายนของทุกปีเป็น "วันครอบครัว" หนึ่งในวันสำคัญช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาแห่งการกลับคืนสู่รากเหง้าทางวัฒนธรรมและสายใยแห่งความผูกพันในครอบครัว
"ธันย่า" และ "ทฤษฎีแห่งความสุข" ประจำเดือนเมษายน ขอมอบพลังใจแด่ทุกครอบครัว ผ่านบทสะท้อนจากบทบาทของ "นักสังคมสงเคราะห์" ผู้เปี่ยมด้วยหัวใจแห่งการอุทิศตน เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมให้ดียิ่งขึ้น
แม้ว่าสังคมต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์หลายด้าน ทั้งปัญหาเศรษฐกิจหนี้สินในครัวเรือน ปัญหาสุขภาพด้านการเข้าถึงการรักษา ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว การมีต้นทุนทางความรู้สึก ต้นทุนทางความคิด ทำให้มีการตอบสนองที่แตกต่างต่อสถานการณ์ ส่งผลกระทบการดำรงชีวิตและจิตใจ แต่...อย่าสูญเสียความเป็นมนุษย์ของคุณในการช่วยเหลือสังคม
การเยียวยาเพื่อตนเองเพื่อสังคม หลีกเลี่ยงภาระทางอารมณ์ต่อผู้อื่น เพื่อก้าวข้ามความเจ็บปวด ด้วยการรักษาอย่างสร้างสรรค์ มีผลกระทบต่อการเติบโต และการร่วงโรยของชีวิตที่เหลือ
นักสังคมสงเคราะห์ จึงเปรียบเสมือนรับความเจ็บปวดรับความกลัวรับความโกรธเพื่อประคับประคองความมั่นคงของสังคม โดยมีบทบาทในการเข้าไปรับฟังเห็นปัญหาฟื้นฟู เข้าถึงการเยียว ประสานงานหลายภาคส่วน และเสริมสร้างพลังในการมีส่วนร่วม อันนำไปสู่การเติมเต็มความสุขร่วมในสังคมโดยรวม
แม้เหตุการณ์แผ่นดินไหวรอยร้าวจะสร้างความหวาดกลัวและความสูญเสียในวงกว้าง ท่ามกลางภาวะวิกฤติมีความงดงามอยู่คู่กับจริยธรรม นี่คือความภูมิใจของพลเมืองไทย การร่วมแรงรวมใจจากคนในครอบครัว เพื่อนบ้าน เพื่อนร่วมงาน เพื่อนร่วมชั้นเรียน และหน่วยงานภาครัฐ การยื่นมือช่วยเหลือกันของผู้คนในสังคมได้สะท้อนถึงพลังของสังคมไทยที่ยังคงงดงามเสมอ ต่างร่วมกันเป็นฟันเฟืองสำคัญในการฟื้นฟูเยียวยา ทั้งร่างกายและจิตใจของผู้ประสบภัย คือพื้นที่ที่เราจะรักกันได้อย่างสบายใจ เพราะพื้นที่ในการคาดหวัง สร้างความกดดันทั้งสองฝ่ายของการรับฟัง เพื่อสร้าง "สังคมแห่งน้ำใจ" ในหัวใจของคนไทย
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา ในงาน "วันสังคมสงเคราะห์โลก ประจำปี 2568" World Social Work Day 2025 ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ (United Nations Conference Centre) โดยความร่วมมือของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ นางอุมาภรณ์ ผ่องจิตต์ นักสังคมสงเคราะห์เชี่ยวชาญ, นายศราวุธ มูลโพธิ์ ผู้อำนวยการกองคุ้มครองสวัสดิภาพและเสริมสร้างคุณภาพชีวิตร่วมด้วยภาคีเครือข่ายด้านสังคมสงเคราะห์ทั่วเอเชียแปซิฟิก
จัดขึ้นภายใต้แนวคิด "เสริมสร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันระหว่างคนทุกช่วงวัย เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืน" ซึ่งสะท้อนหัวใจสำคัญของการพัฒนาอย่างสมดุลและมีส่วนร่วม อีกทั้งยังเผยให้เห็นพลังของคนรุ่นใหม่อย่าง "น้องโอบอน ภัควลัญชญ์ พรหมมณี" ผู้มีบทบาทโดดเด่นในการเป็นนักสังเกตการณ์ของการขับเคลื่อนสังคมไทยอย่างสร้างสรรค์
นักสังคมสงเคราะห์ จึงเปรียบได้กับกลไกสำคัญที่เชื่อมโยงระหว่างวัย และเป็นผู้สนับสนุนความสัมพันธ์ของผู้คนหลากหลายมิติ เพื่อให้สามารถมีส่วนร่วมในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การเป็นนักสังคมสงเคราะห์ในยุคปัจจุบัน จำเป็นต้องมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในหลักจิตวิทยา เทคนิคการปรับเปลี่ยนทัศนคติ และศิลปะแห่งการสื่อสารอย่างเห็นอกเห็นใจ ความสามารถในการรับฟัง วิเคราะห์ โดยไม่ตัดสินและออกแบบแนวทางเลือกของการช่วยเหลือให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคลลักษณะเฉพาะ
ธันย่า ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนกับ ดร.นาตาลี ฉันทะกุล นักจิตบำบัด Satir Master Trainer หนึ่งเดียวในเอเชีย ได้อธิบายถึง สภาวะหวาดกลัว ความสับสนและความเครียดที่เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์สะเทือนขวัญนั้น เป็นกลไกทางจิตวิทยาที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ เป็นระบบป้องกันตนเองของมนุษย์ต่อประสบการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจอย่างรุนแรง หลายคนที่ต้องหนีตายจากตึกสูง หรือรู้สึกสะดุ้งทุกครั้งที่ได้ยินเสียงคล้ายสัญญาณเตือนภัย ย่อมไม่ใช่ผู้มีปัญหาทางจิต หากแต่เป็นผู้ที่กำลังเผชิญ "ผลกระทบทางใจ" ที่ต้องการการเยียวยา
"เมื่อใจเจ็บ ต้องมีคนรับฟัง" ดร.นาตาลี เน้นย้ำว่า การบำบัดใจไม่ใช่หน้าที่ของนักบำบัดจิตเพียงคนเดียว แต่เป็นกระบวนการที่ต้องอาศัยการเชื่อมโยงการเข้าถึงจิตใจตนเอง และการร่วมมือระหว่างผู้รับการบำบัด สังคม และคนรอบข้างของทุกคนในสังคม ไม่เว้นแม้แต่ นักสังคมสงเคราะห์ ที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการประคับประคองจิตใจของผู้ประสบวิกฤติ
ในบริบทสังคมไทย ซึ่งยังคงมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพจิต โดยให้ความสำคัญกับ "คำทำนาย" มากกว่า "การรับฟังด้วยใจ" ธันย่าขอเชิญชวนทุกคน ร่วมกันสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้แก่กันและกัน เริ่มต้นจากคุณค่าของการฟังเสียงโดยไม่ด้อยค่าของหัวใจ เพราะทุกประสบการณ์ของชีวิตมีคุณค่าต่อการรับฟัง การเคารพและให้เกียรติบนพื้นที่ปลอดภัยในคุณค่าการยอมรับบนสังคมไทยที่เรารักกันได้อย่างสบายใจ ทั้งเวลาที่เราน่ารักและไม่น่ารักคือการให้คุณค่าการให้อภัยสำคัญที่สุดของการแก้ปัญหาและยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไม่กล่าวโทษต่อกัน
ธันย่า ขอเป็นทรัพยากรของใจให้กับทุกคนได้มีพลังกับการอยู่กับตัวเองได้พบความสุขจากการเป็นผู้ให้ในวันที่ประเทศไทยมีนักสังคมสงเคราะห์หนึ่งคนต่อประชาการไทยหนึ่งแสนคน แล้วพบกับธันย่า และ "ทฤษฎีแห่งความสุข" ได้ใหม่ ทุกวันจันทร์ที่สองของเดือนในกรุงเทพธุรกิจฉบับตีพิมพ์และทางออนไลน์