ทฤษฎีแห่งความสุข : สุข … เยาวชนไทยพลังแห่งรัก สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม

คอลัมน์ "ทฤษฎีแห่งความสุข" ทุกวันจันทร์ที่สองของเดือน สำหรับเดือนกุมภาพันธ์ 2568 นี้ นำเสนอเรื่อง "สุข … เยาวชนไทยพลังแห่งรัก สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม" โดย ธันย่า - ธันยลักษณ์ พรหมมณี
เดือนกุมภาพันธ์ นอกจากจะเป็นเดือนแห่งความรักแล้ว ยังเป็นเดือนที่อบอวลไปด้วยความสุขและความภาคภูมิใจ เมื่อได้เห็นเยาวชนไทยได้แสดงศักยภาพด้านสิ่งประดิษฐ์และความคิดสร้างสรรค์ ในงาน “วันนักประดิษฐ์ 2568” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 2 - 6 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพมหานคร
“ทฤษฎีแห่งความสุข” ฉบับนี้ “ธันย่า” ได้รับเชิญไปร่วมสังเกตการณ์การประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมระดับเยาวชน I-New Gen Award 2025 ที่กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์และสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนที่มีความสามารถในด้านการประดิษฐ์คิดค้นสร้างผลงานและสามารถต่อยอดนำไปใช้ประโยชน์ในมิติต่างๆ ได้
จากผลงานสิ่งประดิษฐ์ ล้วนแล้วแต่มีแนวคิดที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม โดยเฉพาะในด้านสุขภาพและการแพทย์ ซึ่งหนึ่งในสิ่งประดิษฐ์ที่โดดเด่นที่ธันย่าประทับใจคือ การนำ “เปลือกมะม่วง” ซึ่งปกติแล้วเป็นของเหลือทิ้งนำมาผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ จนสามารถสร้างสารชีวภาพที่ช่วยยับยั้งการเติบโตของเชื้อโรคในยางแคปซูลสำหรับยาได้
นอกจากนี้ ยังมีผลงานการพัฒนาแอปพลิเคชันที่สามารถตรวจวิเคราะห์เม็ดเลือดขาวและแดงได้อย่างแม่นยำ ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่สามารถช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ในพื้นที่ชนบทได้อย่างมหาศาล และที่น่าประทับใจยิ่งกว่านั้นคือ น้องเยาวชนเจ้าของผลงานไม่ต้องการขายแอปพลิเคชันนี้ แต่ต้องการให้ใช้ฟรี เพื่อให้ผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกลสามารถเข้าถึงการรักษาได้อย่างทั่วถึง การสร้างสิ่งประดิษฐ์เพื่อสุขภาพทางการแพทย์นี้ ด้วยความหวังที่ยิ่งใหญ่ในการเข้าถึงการรักษาอย่างเท่าเทียมในชนบท
อีกหนึ่งเรื่องราวที่ “ธันย่า” ประทับใจคือ เด็กหญิงคนหนึ่งที่สังเกตเห็นว่าแม่บ้านในโรงเรียนต้องยืนรีดผ้าด้วยท่าทางที่ไม่ถูกต้องเป็นเวลานาน จึงเกิดแนวคิดพัฒนาโครงสร้างเหล็กที่ช่วยให้แม่บ้านสามารถรีดผ้าได้สะดวกขึ้น เพื่อมุ่งหวังลดอาการปวดเมื่อยจากการทำงาน เมื่อถูกถามว่าทำไมถึงคิดจะช่วยเหลือแม่บ้าน เธอตอบมาว่า “หนูเห็นแล้วรู้สึกเป็นห่วงและกังวลเรื่องสุขภาพ” สิ่งประดิษฐ์นี้ธันย่าขอเรียกว่าเป็นพลังแห่งความคิดสร้างสรรค์ที่มาจากหัวใจ
ท่ามกลางความทุกข์ทรมานของโรคภัยไข้เจ็บ จึงได้แนวคิดที่ยิ่งใหญ่ของน้องเยาวชน ในการออกแบบสิ่งประดิษฐ์ที่เอื้อต่อการรักษา สารทดแทนกระดูก ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากเพื่อนที่เคยประสบอุบัติเหตุและกระดูกหัก แม้ว่าสิ่งประดิษฐ์นี้ยังอยู่ในขั้นต้นแบบ แต่ก็มีศักยภาพสูงในการต่อยอดสู่การใช้งานจริงในอนาคต
นอกจากนี้ยังมีสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมระดับเยาวชนที่มีความคิดสร้างสรรค์ช่วยเพิ่มความปลอดภัยและคุณภาพชีวิต เช่น อุปกรณ์เตือนภัยเมื่อมีเด็กติดอยู่ในรถยนต์ เครื่องตรวจจับอาการหลับในและส่งสัญญาณเตือน อุปกรณ์ช่วยอ่านหนังสือสำหรับผู้พิการทางสายตา เครื่องป้อนยาอัตโนมัติสำหรับผู้สูงอายุ เปรียบเสมือนเป็นพลังของหัวใจสู่การรักษาเยียวยาผู้สูงวัย จากหัวใจของ เยาวชนไทย กับจิตวิญญาณแห่งมนุษยธรรม
ธันย่า ชื่นชมพลังแห่งรักที่สร้างแรงบันดาลใจ เปลี่ยนความคิดเป็นความสำเร็จ เยาวชนเหล่านี้ไม่ได้เพียงแค่คิดค้นสิ่งประดิษฐ์เพื่อชื่อเสียงหรือรางวัล แต่การมี จิตสาธารณะ และความรักในเพื่อนมนุษย์ มีจิตสำนึกดีในการเตรียมสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม มองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม และพยายามหาทางแก้ไขด้วยสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมเพื่อประโยชน์ของทุกคน ทุกภาคส่วน
จากการไปร่วมสังเกตการณ์ในครั้งนี้ ธันย่ารู้สึกหัวใจพองโตได้เห็นแววตาที่เปี่ยมไปด้วยพลังของเด็กๆ ได้เห็นอุดมการณ์ที่เชื่อมโยงเกียรติยศสะท้อนคุณค่าชีวิตเพื่อนมนุษย์ในสังคมด้วยหัวใจที่สุจริตของการเป็นผู้ประดิษฐ์ คิดค้น วิจัย พัฒนา ฝึกฝน อดทน หมั่นเพียร ต่อยอดจริยธรรม สู่ความสำเร็จของ จิตสาธารณะ ในความเป็นผู้นำเยาวชนไทยอย่างยั่งยืน ซึ่งมีในหลายๆ ช่วงธันย่าซาบซึ้งจนกลั้นน้ำตาไม่อยู่ เป็นความปลาบปลื้มใจที่ได้เห็นอนาคตที่สดใสของประเทศไทยที่มีเยาวชนมีความสามารถ มีจิตสำนึก และมีความตั้งใจจะพัฒนาสังคมให้ดีขึ้น ถือเป็นความภาคภูมิใจของประเทศไทย
เวทีการประกวดครั้งนี้ได้แสดงศักยภาพของ เยาวชนไทย เป็นหลักฐานว่า ประเทศไทยมีอนาคตที่สดใส ด้วยพลังของคนรุ่นใหม่ที่พร้อมจะเปลี่ยนโลกให้ดีขึ้นด้วยความรักและความมุ่งมั่น สุขใจที่ได้เห็นเยาวชนไทยเติบโตอย่างมีคุณภาพ และความภาคภูมิใจที่ประเทศไทยมีเด็กเก่งและมีจิตใจที่งดงามเช่นนี้
แล้วพบกับ ธันย่า และ ทฤษฎีแห่งความสุข ได้ใหม่ ทุกวันจันทร์ที่สองของเดือนใน กรุงเทพธุรกิจ ฉบับตีพิมพ์และทางออนไลน์