กลุ่ม ปตท. แนะธุรกิจปิโตรเคมี ปรับตัวตามเทรนด์โลกสู่ความยั่งยืน
กลุ่ม ปตท. โดย PRISM Expert จัดสัมมนาประจำปีครั้งที่ 15 แนะผู้ประกอบการอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เร่งปรับตัวรับเทรนด์โลกมุ่งสู่ความยั่งยืน ด้าน "เกียรตินาคินภัทร" ชี้ทิศทางเศรษฐกิจในอนาคตอาจชะลอตัว ห่วงเศรษฐกิจไทยระยะยาว หวังนโยบายรัฐบาลใหม่ เร่งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดยโครงการบริหารการสร้างประโยชน์ร่วมธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น (PRISM) จัดงานสัมมนา The 15th PTT Group Petrochemical Outlook Forum ภายใต้แนวคิด "Shaping the Future of Petrochemicals along the Sustainable Pathway" โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจ สถานการณ์น้ำมันในตลาดโลก ความท้าทายต่าง ๆ ทั้งจากสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง สิ่งแวดล้อม ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ตลอดจนความต้องการของผู้บริโภค และกฎระเบียบต่าง ๆ ที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว รวมไปถึงมีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เพื่อปรับตัวและสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ ในการช่วยกันนำพา อุตสาหกรรมปิโตรเคมี เดินหน้าสู่อนาคตที่มั่นคงและยั่งยืน เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2567 ที่ผ่านมา
ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย กรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงิน เกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า เศรษฐกิจไทย ระยะสั้น คาดว่ายังเติบโตได้จากการท่องเที่ยวเป็นหลัก แต่ในอนาคตอาจมีแนวโน้มจะลดลง รัฐบาลจะต้องเร่งหารายได้จากส่วนอื่น ๆ พร้อมกันนี้ต้องรอดูนโยบายรัฐบาลใหม่ว่าจะมีอะไรมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้บ้าง ส่วนเศรษฐกิจไทยระยะยาวยังคงน่าเป็นห่วง เห็นได้จากภาคอุตสาหกรรมยังไม่ฟื้นตัว และภาคธนาคารระมัดระวังการปล่อยกู้มากขึ้น ส่งผลกระทบต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ กระทบเศรษฐกิจโดยรวมได้
ขณะที่การเติบโตของ เศรษฐกิจโลก ก็มีแนวโน้มชะลอตัวลง โดยประเทศที่มีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจโลกมากที่สุดคือ สหรัฐ และจีน ซึ่งสหรัฐ ยังคงมีเศรษฐกิจที่เติบโตได้ 2.5% ช่วงครึ่งหลังของปี 2567 แต่ในปี 2568 มีแนวโน้มจะลดลงเหลือเพียง 2% ปัจจัยยังต้องติดตามการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ ซึ่งจะมีผลต่อนโยบายเศรษฐกิจโดยตรง ขณะที่ประเทศจีนก็เร่งผลิตสินค้าและส่งออกไปต่างประเทศมากขึ้น เพื่อชดเชยปัญหาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ซบเซา ส่งผลให้เกิดปัญหาสินค้าจีนทุบตลาดสินค้าแต่ละประเทศ นำมาสู่มาตรการขึ้นกำแพงภาษีนำเข้าตอบโต้
"ภาพรวมเศรษฐกิจดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมปิโตรเคมีโดยตรง เนื่องจากความต้องการใช้สินค้าจะลดลงตามภาวะเศรษฐกิจ ขณะที่การผลิตสินค้ามีมากขึ้น ส่งผลให้สินค้าล้นตลาดได้ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวเป็นความท้าทายของภาคปิโตรเคมีที่จะเกิดขึ้นต่อไป"
นายธนเดช งามธนวิทย์ Senior Analyst บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เม็ดพลาสติกที่มีคุณสมบัติน้ำหนักเบา ยืดหยุ่นสูงและทนทาน ได้รับความนิยมในการนำไปใช้ในหลากหลายอุตสาหกรรม อาทิ บรรจุภัณฑ์ รวมถึงใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง และใช้ในผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เช่น ชิ้นส่วนรถยนต์ เฟอร์นิเจอร์ และอุปกรณ์ในอุตสาหกรรมสุขภาพ
สำหรับปัจจัยที่มีผลต่อตลาด ได้แก่ ต้นทุนวัตถุดิบ โดยเฉพาะราคามีความผันผวนตามตลาดโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัตถุดิบตั้งต้น เช่น น้ำมันดิบ แนฟทา หรือเอทิลีน ซึ่งอุปสงค์และอุปทาน โดยโพลิเมอร์ทั่วโลกถูกนำมาผลิตเป็นพลาสติกมากที่สุด เนื่องจากมีคุณสมบัติที่หลากหลายและมีความทนทาน การแข่งขันในตลาดยังคงสูง โดยเฉพาะจากอเมริกาเหนือ ตะวันออกกลาง และจีน ซึ่งเพิ่มการผลิตเพื่อลดการนำเข้าและตอบสนองความต้องการภายในประเทศ คาดว่าราคาในอนาคตจะไม่เปลี่ยนแปลงจากปัจจุบันมากนัก เพราะความต้องการยังคงทรงตัว
ส่วนอุปสรรคทางการค้า จากข้อตกลงการค้าเสรีและกลไกการปรับค่าคาร์บอน สามารถสร้างทั้งโอกาสและความท้าทายให้กับอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ทั้งการขยายตลาดหรืออุปสรรคทางด้านภาษี ซึ่งการปรับตัวให้สอดคล้องกับปัจจัยเหล่านี้จึงเป็นสิ่งสำคัญเพื่อให้ธุรกิจ คงความสามารถในการแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยการปรับตัวของ GC ในธุรกิจที่มุ่งสู่การสร้างคุณค่าที่ยั่งยืนทั้งต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ด้วยการปรับกลยุทธ์เน้นการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพตลอดห่วงโซ่อุปทาน ส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน และพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น พลาสติกชีวภาพและวัสดุประสิทธิภาพสูงที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มโลก เป็นสิ่งสำคัญในการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคและการแก้ไขอุปสรรคทางการค้าและความท้าทายในอุตสาหกรรม
นางสาวชุติภา เรืองศรีมั่น นักวิเคราะห์การพาณิชย์ จาก บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า Benzene (BZ) และ Paraxylene (PX) เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากน้ำมันดิบจากการผ่านกระบวนการกลั่น และเมื่อผ่านกระบวนการทางปิโตรเคมีจะสามารถนำไปผลิตในหลากหลายกลุ่มผลิตภัณฑ์ได้ สำหรับ PX ส่วนใหญ่จะถูกนำไปผลิตเป็น Polyester Fiber ที่นำไปใช้ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ ฯลฯ
ประเทศที่มีการเติบโตที่น่าสนใจคือ อินเดีย แอฟริกาใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ในอนาคตจะแซงประเทศจีน โดยมีปัจจัยสนับสนุนตลาด คือธุรกิจสิ่งทอที่นำไปใช้ผลิตเสื้อผ้า ที่เติบโตอย่างต่อเนื่องตามจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้น รวมไปถึงปัจจัยต่างๆ อาทิ สถานการณ์เศรษฐกิจที่เริ่มมีการฟื้นตัวทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น เช่น อินเดีย และแอฟริกาใต้ ที่มีจำนวนประชากรที่เติบโตมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นแต่ยังมีปัจจัยที่อาจจะกดดันการใช้งานเส้นใยสังเคราะห์ เนื่องจากผู้คนหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น
ในการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงของกลุ่มธุรกิจนั้น มีหลากหลายแนวทางที่สามารถดำเนินการได้ เช่น ต้องพิจารณาในส่วนของกระบวนการผลิตให้มีความยืดหยุ่น กลุ่ม ปตท. มองว่าธุรกิจจะปรับตัวดีขึ้น หากมีกระบวนการผลิตที่มีความยืดหยุ่นก็จะสามารถเพิ่มของกลุ่มได้
นายเธียร เครือโชติกุล Department Manager, Strategy and Risk Management บริษัท เอ็ชเอ็มซี โปลีเมอส์ จำกัด กล่าวว่า พลาสติกโพลีโพรพิลีน (PP) เป็นเม็ดพลาสติก ซึ่งมีคุณสมบัติใสและทนความร้อนได้สูง นิยมนำมาใช้สำหรับสินค้าในชีวิตประจำวันต่าง ๆ ด้านตลาดพลาสติกโพลีโพรพิลีน จีนมีนโยบายเศรษฐกิจแบบพึ่งพาตนเอง (Self-sufficiency) ส่งผลให้ตลาดพลาสติกโพลีโพรพิลีนคาดว่าจะเพิ่มกำลังการผลิตอีกครั้งในช่วงปี 2026 – 2028 (second wave) ทำให้อุปทานยังคงสูงกว่ากำลังการผลิต (Overcapacity) ดังนั้นการคาดการณ์ราคาของกลุ่ม PRISM ปตท. มองว่าจะยังคงตัวไม่ต่างจากราคาในปัจจุบันมากนัก จากปัจจัยความกดดันหลายอย่าง
ในส่วนของการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงของ HMC สำหรับพลาสติกโพลีโพรพิลีน เพื่อมุ่งสู่ความยั่งยืนนั้น มี 3 ประเด็นหลัก คือ 1. มีการปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลง การแข่งขันของวัตถุดิบ ปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจ กระจายตลาด และสำรวจตัวเลือกที่ยั่งยืน 2. นำนวัตกรรมมาใช้ เช่น การลดการใช้พลาสติกตั้งแต่ต้นทาง ผลิตภัณฑ์จากพลาสติกโพลีโพรพิลีนสามารถนำมาใช้งานได้หลายครั้ง ความง่ายในการรีไซเคิล และการทดแทนที่วัสดุที่ไม่ยั่งยืน และ 3. ต้องมีการทำงานร่วมกันทั้งห่วงโซ่คุณค่าเพื่อมุ่งสู่ความยั่งยืน ได้แก่ เจ้าของเทคโนโลยี ผู้แปรรูป และลูกค้า
นางสิริรัชต์ หวานแฉล้ม เจ้าหน้าที่บริหารการตลาดอาวุโส บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สไตรีน โมโนเมอร์ เป็นวัตถุดิบหลักสำหรับการผลิตเม็ดพลาสติก ซึ่งถูกนำไปใช้ในหลายอุตสาหกรรม อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (39%) อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ (23%) อุตสาหกรรมก่อสร้างอาคารและโครงสร้างต่าง ๆ (19%) อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ (4%) เป็นต้น
ปัจจุบัน อุปสงค์กลุ่มผลิตภัณฑ์สไตรีนิคส์ จะอยู่ในประเทศจีนเป็นหลัก เนื่องจากมีกำลังการผลิตใหม่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตามนโยบายของรัฐบาลจีน และมีอัตราการเพิ่มขึ้นแซงหน้าอัตราเติบโตความต้องการของตลาด ที่มีอัตราการเติบโตอย่างคงที่ และเพิ่มขึ้นของกำลังการผลิตด้วย
ทั้งนี้ คาดว่าธุรกิจสไตรีนิคส์จะค่อยๆ ฟื้นตัวกลับมาตั้งแต่หลังปี 2025 เป็นต้นไป จากการคาดการณ์ของกลุ่ม ปตท. มองว่าจะมีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่องหลังจากนี้ โดยมี 2 ปัจจัยที่ขับเคลื่อนหลัก ได้แก่ 1. การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะกลุ่มเครี่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ โดยคาดว่าตลาดในกลุ่มนี้จะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละ 5% ในระยะ 5 ปีข้างหน้า จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่ต้องการใช้อุปกรณ์ที่ทันสมัยอยู่เสมอ 2. การขยายตัวของเมือง ในประเทศกำลังพัฒนา เช่นประเทศอินเดีย ที่มีการเติบโตสูงกว่าโลก ประกอบกับกลุ่มคนที่อยู่ในกลุ่มมีรายได้มีสัดส่วนที่สูงขึ้น ก่อให้เกิดกำลังการซื้อที่เพิ่มสูงขึ้น
ในด้านของความยั่งยืนของผลิตภัณฑ์ในกลุ่มสไตรีนิคส์นั้น ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ หลายรายมีการตั้งเป้าที่ใช้พลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในปริมาณ 50% ของการใช้ทั้งหมด แต่อัตราการรีไซเคิลยังค่อนข้างต่ำและเติบโตได้ช้าเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์ในกลุ่มอื่น ๆ ซึ่งเกิดจากหลายปัจจัย
นายกฤษฎา อุตตโมทย์ ที่ปรึกษากิติมศักดิ์ สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) กล่าวในหัวข้อ "ทิศทางและแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า" ว่า เทรนด์การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีได้เกิดขึ้นในช่วงปี 2558 - 2566 และเห็นได้ชัดเจนในปี 2566 ที่ทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญกับการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า(EV) แทนรถยนต์สันดาป โดยมีการใช้สูงถึง 14 ล้านคัน เติบโตขึ้น 35% จากปีก่อน และจีนเป็นประเทศที่มีการใช้มากที่สุด อยู่ที่ 8.1 ล้านคัน
ขณะที่ไทยมีการใช้ปี 2566 อยู่ที่ประมาณ 76,000 คัน เติบโตขึ้น 600% และนอร์เวย์ เป็นประเทศแรกในยุโรปที่ประกาศว่า ในปี 2568 รถที่ใช้ในประเทศจะต้องเป็น EV 100% ถือเป็นประเทศแรกในยุโรปที่การจดทะเบียนรถยนต์นั่งส่วนบุคคลทั้งหมด จะเป็นรถยนต์ที่ไม่มีการปล่อยไอเสีย เช่น รถยนต์พลังงานไฟฟ้าหรือไฮโดรเจน ซึ่งภาครัฐได้มีการสนับสนุนในหลาย ๆ ปัจจัย เช่น ไม่มีภาษีซื้อ/นำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า การยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับการซื้อรถยนต์ไฟฟ้าได้รับการยกเว้นค่าผ่านทางพิเศษ หรือการจอดรถในที่สาธารณะ เป็นต้น
นอกจากนี้ผู้ผลิต รถยนต์ไฟฟ้า จากประเทศจีน เริ่มเข้ามาสร้างฐานการผลิตในไทย แต่ยังคงนำชิ้นส่วนของตัวเองเข้ามาเนื่องจากชิ้นส่วนสำคัญของยานยนต์ไฟฟ้า ยังไม่สามารถผลิตได้ในประเทศในช่วงแรก ดังนั้นจึงจำเป็นต้องพัฒนาและยกระดับผู้ประกอบการชิ้นส่วนยานยนต์ให้ตอบโจทย์ตามความต้องการของเทคโนโลยีใหม่ ๆ พร้อมทั้งพัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับบุคลากรเพื่อสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยต่อไป
"ประเทศไทยยังต้องสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรรมต่าง ๆ ให้หันมาใช้ ยานยนต์ไฟฟ้า ให้มากยิ่งขึ้น เพื่อเตรียมรับมือกับ ภาษีคาร์บอน ที่จะมีผลต่อกิจการที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณสูง จึงต้องวางแผนในระยะยาวเพื่อปรับเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น"