มรดกอาเบะโนมิกส์ (2/2) | เนตรนภา ไวทย์เลิศศักดิ์ (ยาบุชิตะ)

มรดกอาเบะโนมิกส์ (2/2) | เนตรนภา ไวทย์เลิศศักดิ์ (ยาบุชิตะ)

ว่าด้วยตอนจบของการบอกเล่าถึงนโยบายทางเศรษฐกิจของอดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ชินโซะ อาเบะ ที่ถูกกล่าวขานตลอด 8 ปีของการดำรงตำแหน่งคือ อาเบะโนมิกส์ (Abe+economics) ที่ยังคงเดินหน้าต่อเนื่องถึงปัจจุบัน

ด้านแรงงานหญิง ซึ่งเป็นธนูดอกที่ 3 ของอาเบะโนมิกส์ ว่าด้วยการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ อาเบะโด่งดังเป็นพลุแตกภายใต้สังคมชายเป็นใหญ่ของญี่ปุ่นกับคำว่า “เศรษฐกิจพลังผู้หญิง” หรือ วีเมนโนมิคส์ (womenomics)

ภาพสังคมญี่ปุ่นที่เอื้อต่อผู้หญิงทำงานเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง สะท้อนการใช้มาตรการทางสังคม นอกเหนือจากมาตรการทางเศรษฐกิจ เช่น ให้เงินอุดหนุนแก่ผู้มีบุตร ให้ของขวัญหรือเงินขวัญถุงแก่เด็กแรกเกิด ซึ่งกระตุ้นให้คนอยากมีลูกไม่ได้ผล

ผลลัพธ์ของวีเมนโนมิกส์ช่วยให้สัดส่วนแรงงานหญิงต่อแรงงานรวม ขยับสูงขึ้นจากร้อยละ 41.9 ในปี 2012 เป็นร้อยละ 44.4 ในปี 2021 และอัตราการจ้างงานของผู้หญิงวัย 25-44 ปี ในช่วงเลี้ยงดูบุตรวัยเรียน เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 68 ในปี 2012 เป็นร้อยละ 81 ในปี 2021

ปลดล็อกปัญหา M-shape curve ของแรงงานหญิงญี่ปุ่น หรือการต้องออกจากตลาดแรงงานไปเลี้ยงบุตร แล้วกลับเข้าตลาดหลังบุตรโตขึ้น

ด้านแรงงานผู้สูงอายุ ด้วยอายุคาดเฉลี่ยสูงที่สุดในโลก 84.36 ปี (ไทย  77.15 ปี สหรัฐอเมริกา 78.79 ปี) การหางานให้แก่ผู้สูงอายุไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ต้องขอบคุณนโยบาย Cool Japan! หรือเศรษฐกิจสร้างสรรค์สไตล์ญี่ปุ่นของอาเบะ ที่ขายความเจ๋ง (cool) ของสินค้าและบริการที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของญี่ปุ่น

มรดกอาเบะโนมิกส์ (2/2) | เนตรนภา ไวทย์เลิศศักดิ์ (ยาบุชิตะ)

เชิญชวนนักท่องเที่ยวต่างชาติให้มาเยี่ยมเยือน ด้วยระบบขนส่งสาธารณูปโภคและแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่เพียบพร้อม ญี่ปุ่นอ้าแขนต้อนรับอย่างอบอุ่น ชักนำรายได้เข้าประเทศ หมุนเวียนการบริโภคภายในประเทศ

เห็นได้จากตัวอย่างนักท่องเที่ยวไทยที่เพิ่มขึ้นจาก 2.6 แสนคนในปี 2012 เป็น 1.3 ล้านคนในปี 2019 หรือเพิ่มขึ้น 5 เท่า ยิ่งเกาะฮอกไกโดที่มีหิมะตกนาน มีนักท่องเที่ยวไทยหลั่งไหลไปไม่ขาดสาย จนร้านรวงต่างๆ ต้องติดป้ายเป็นภาษาไทย การยกเลิกวีซ่าท่องเที่ยวให้กับคนไทยถือเป็นภารกิจสำคัญที่หลายคนคงไม่ลืม

ผู้สูงอายุที่อยู่ตามเมืองเล็กๆ มีงานทำพร้อมกับอนุรักษ์วัฒนธรรมดั้งเดิมไว้ ไม่ว่าการอาบน้ำร้อนที่ออนเซน การทานเส้นโซบะ การผลิตขนมแบบญี่ปุ่น ศิลปะการออกแบบมินิมอล ฯลฯ โดยมิต้องย้ายถิ่นฐานไปหางานทำในเมืองใหญ่ เป็น soft power ใหม่ของญี่ปุ่นที่ประสบความสำเร็จเกินคาด

 

ด้านแรงงานต่างชาติ อาเบะส่งเสริมการให้วีซ่าพำนักอาศัย (zainichi) แก่แรงงานต่างชาติทักษะขั้นสูงพร้อมกับส่งเสริมการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นวัตกรรมต่างๆ โดยเฉพาะเทคโนโลยีสื่อสารและดิจิตอล ดึงดูดคนเก่งจากทั่วโลกให้เข้ามาทำงานได้ง่ายขึ้นและนานขึ้น รวมทั้งเริ่มรับนักศึกษาต่างชาติที่เรียนจบมหาวิทยาลัยในญี่ปุ่นเข้าทำงานในบริษัทเอกชน

มรดกอาเบะโนมิกส์ (2/2) | เนตรนภา ไวทย์เลิศศักดิ์ (ยาบุชิตะ)

ขณะที่แรงงานไร้ฝีมือรับเฉพาะแรงงานต่างชาติ 2 กลุ่ม คือ Nikkei migrants หรือลูกหลานคนญี่ปุ่นที่ครอบครัวเคยย้ายไปอยู่ต่างประเทศในอดีต เช่น บราซิล เม็กซิโก เกาหลี และกลุ่มนักเรียนฝึกหัด (trainee) โดยเฉพาะกลุ่มอาชีพพยาบาล ผู้ดูแลผู้สูงอายุ งานเกษตรกรรม เป็นต้น

เพื่อลดปัญหาขาดแคลนแรงงานในทุกภาคส่วน หนุ่มสาวไทยรุ่นใหม่จึงมีโอกาสไปทำงานในญี่ปุ่นอย่างถูกกฎหมายเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

 

ด้านแรงงานหนุ่มสาว อาเบะพยายามช่วยเหลือกลุ่ม Freeter หรือ หนุ่มสาวที่หลุดจากระบบจ้างงานประจำ รับงานพาร์ทไทม์ไม่มีหลักแหล่ง ทำให้ขาดโอกาสพัฒนาความสามารถและการทำงานระดับสูง ให้กลับเข้าสู่ระบบ

โดยให้เงินช่วยเหลือการเรียนรู้และอบรมทักษะอาชีพต่างๆ รวมถึงกลุ่ม NEET (not education, employment or training) หรือเกาะพ่อแม่กิน ให้ออกมาทำงานนอกบ้าน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของแรงงานหนุ่มสาว ซึ่งส่งผลต่อการแต่งงานช้าหรือไม่แต่งงาน เป็นวงจรอุบาทว์ให้อัตราการเกิดลดลง

 

อีกด้านหนึ่ง เขาผลักดันให้มหาวิทยาลัยผลิตนักศึกษาที่จะเติบโตขึ้นไปเป็นผู้บริหารระดับโลก คำว่า Global HR ได้กลายเป็นคำยอดฮิตอีกคำหนึ่ง โดยนักศึกษาชั้นปีที่ 3-4 ของมหาลัยญี่ปุ่นที่เข้าร่วมโครงการจะมีวิชาบังคับให้นักศึกษาไปดูงานหรือแลกเปลี่ยนกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ เพื่อเรียนรู้และซึมซับวัฒนธรรมการทำงาน การใช้ชีวิต กระตุ้นความกระหายใคร่รู้

อันเป็นประโยชน์ในอนาคตที่เขาเหล่านั้นจะไปเป็นผู้บริหารในโรงงานหรือบริษัทลูกของฐานการผลิตในต่างประเทศ สอดรับการส่งเสริมการเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุน ไม่ว่าจะเป็น EPA TPP FTA รูปแบบต่างๆ เนื่องด้วยคาดว่าตลาดในประเทศจะหดตัวตามสังคมสูงวัยระดับสุดยอด ขณะที่ตลาดต่างประเทศโตวันโตคืน

มรดกอาเบะโนมิกส์ (2/2) | เนตรนภา ไวทย์เลิศศักดิ์ (ยาบุชิตะ)

ผลลัพธ์ของธนูดอกที่ 3 ทำให้ญี่ปุ่นสามารถลดอัตราการว่างงานที่ร้อยละ 4.3 ในปี 2012 เหลือร้อยละ 2.6 ในปี 2022 อัตรางานต่อคนหางานเพิ่มขึ้นจาก 0.83 เป็น 1.24 (จากจำนวนงานน้อยกว่าคน เป็นจำนวนงานมากกว่าคน)

แม้อัตราค่าจ้างเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศโออีซีดีด้วยกันแล้วจะเพิ่มขึ้นน้อย แต่ก็เพิ่มขึ้น จากค่าจ้างเฉลี่ยต่อหัว 38,058 ในปี 2012 เป็น 38,515 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2022 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2

แม้อาเบะโนมิกส์จะไม่ได้ประสบความสำเร็จในทุกเรื่อง หรือในทุกเป้าหมายที่ได้วางไว้ แต่ก็ได้รับคำชื่นชมว่าช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจของญี่ปุ่นให้กลับมาเข้มแข็งมีชีวิตชีวา มีภูมิต้านทานผลกระทบทางเศรษฐกิจจากปัจจัยภายนอกที่รุนแรงอย่างการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้

Larry Summers อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สหรัฐอเมริกา ยกย่องว่า ชาวโลกจะต้องหวนกลับมาศึกษาอาเบะโนมิกส์ทุกครั้งที่เผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว (stagnation)

อีกคำหนึ่งที่อาเบะทิ้งไว้ก่อนลาออกจากตำแหน่งนายกโดยอ้างปัญหาสุขภาพ ในเดือนสิงหาคม 2020 คือ อาเบะโนมาส์ก (Abenomask) หมายถึง หน้ากากอนามัยผ้าแจกจ่ายฟรีให้แก่ประชาชน ภายใต้มาตรการป้องกันโควิด แต่กลับถูกวิจารณ์เรื่องคุณภาพในแง่ลบอย่างมาก ว่าเล็กเกินไปบ้าง เชื้อราขึ้น มีคราบ แถมยังเหลือทิ้งสิ้นเปลืองงบประมาณ สะท้อนความนิยมช่วงขาลงของเขา

สุดท้ายนี้ขอขอบคุณนายกรัฐมนตรีชินโซะ อาเบะ และอาเบะโนมิกส์ที่ทำให้ผู้เขียนเข้าใจเศรษฐศาสตร์มหภาคมากยิ่งขึ้น อาเบะยังมีบทบาทสำคัญผลักดันให้ญี่ปุ่นที่แวดล้อมไปด้วยประเทศที่ไม่ใช่เสรีนิยมประชาธิปไตย ไม่ว่ารัสเซีย จีน เกาหลีเหนือ ยืนหยัดอยู่บนเวทีการเมืองโลกได้อย่างสง่าภาคภูมิ

ขอแสดงความเสียใจและร่วมไว้อาลัยต่อการจากไปพร้อมกับชาวญี่ปุ่นอีกครั้ง อ่านเพิ่มเติมได้ในหนังสือเรื่อง ถอดบทเรียนจ้างงานและการบริหารทรัพยากรมนุษย์ของญี่ปุ่นยุคสูงวัยระดับสุดยอด ค่ะ.