ทิศทางใหม่ การจัดการขยะเกาะลันตา | สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย 

ทิศทางใหม่ การจัดการขยะเกาะลันตา | สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย 

เกาะลันตา เป้าหมายของนักท่องเที่ยวที่ชื่นชมธรรมชาติ ที่อยากมาสัมผัสความสงบและสวยงามของธรรมชาติแห่งท้องทะเล เช็กอินกับจุดชมวิวที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นไม่เหมือนใคร เยี่ยมเยือนวิถีของชุมชนท้องถิ่นที่หลากหลายและอยู่ร่วมกันโดยสันติ

เกาะลันตา ถูกจัดอันดับให้เป็น 1 ใน 6 เกาะที่น่าเดินทางมาพักผ่อนและท่องเที่ยวที่สุดในโลก และกล่าวขานว่าเป็นไข่มุกเม็ดใหม่แห่งอันดามัน โดยเป็นเกาะขนาดกลาง พื้นที่ประมาณ 2 แสนไร่ อยู่ใน อ.เกาะลันตา จ.กระบี่ ครอบคุลม 3 เกาะ ได้แก่ เกาะกลาง เกาะลันตาน้อย และเกาะลันตาใหญ่

สภาพโดยทั่วไปเป็นภูเขาสูง มีที่ราบจะอยู่บริเวณเชิงเขาและชายทะเล ปัจจุบันมีสะพานสิริลันตาเชื่อมระหว่างเกาะลันตาใหญ่กับเกาะลันตาน้อย และถูกเชื่อมด้วยแพขนานยนต์จากท่าเรือไปฝั่งแผ่นดิน เกาะแห่งนี้มีชุมชนดั้งเดิมอาศัยมากว่า 100 ปี รายได้ส่วนใหญ่มาจากการท่องเที่ยว การประมง และการค้าขาย

๐ ท่องเที่ยวมา ขยะเพิ่ม
ด้วยความโดดเด่นตามธรรมชาติของหาดทรายและความสวยงามแห่งท้องทะเล จึงดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทุกมุมโลกเข้ามา ส่งผลต่อการเติบโตการท่องเที่ยว “สูง” ติดอันดับต้นของประเทศและภูมิภาค มีนักท่องเที่ยวกว่า 6 ล้านคนต่อปี ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง มาตั้งแต่ปี 2561

จึงทำให้ประสบปัญหาขยะบนเกาะที่ยังเป็นปัญหาในการจัดการ โดยกิจกรรมการท่องเที่ยวบนเกาะ นับเป็นสาเหตุลำดับแรกของปัญหา รองจากกิจกรรมชุมชนที่อยู่อาศัยบนเกาะ และขยะที่ถูกคลื่นลมทะเลพัดพามา

จากการสำรวจปริมาณขยะโดยความร่วมมือขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับคณะนักวิจัยสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย พบว่ามีปริมาณขยะจากท้องถิ่นต่างๆ เกิดขึ้นรวมประมาณ 44 ตันต่อวัน

ทิศทางใหม่ การจัดการขยะเกาะลันตา | สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย 

สัดส่วนประเภทขยะที่พบสูงสุดยังเป็นขยะอินทรีย์ คิดเป็นร้อยละ 32 รองลงมาคือพลาสติก อาทิ ขวดพลาสติก ถุงหูหิ้ว ถุงแกง ถุงขนม หลอดดูด เชือกไนลอน เชือกอวน ช้อนส้อมพลาสติก ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 27 ส่วนที่เหลือเป็นกระดาษ กล่องนม ผ้าและผ้าอ้อม แก้ว โลหะ อะลูมิเนียม ซากอิเล็กทรอนิกส์ มูลฝอยติดเชื้อ เป็นต้น

สำหรับขยะพลาสติกนั้น พบขวดน้ำพลาสติกถึงร้อยละ 12 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ามียังมีการใช้และไม่มีการคัดแยกขยะในส่วนนี้นำไปขายเป็นรายได้มากนัก จึงจำเป็นอย่างยิ่งจะต้องร่วมกันจัดการขยะพลาสติกรวมถึงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวซึ่งยังคงเป็นปัญหา เช่นเดียวกับขยะเศษอาหารและขยะอินทรีย์ที่มีปริมาณมาก

๐ บทเรียนที่ผ่านมา
การจัดการขยะบนเกาะลันตา ที่ผ่านมาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่รับผิดชอบมุ่งแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า โดยเน้นการรวบรวม เก็บขน และนำไปกำจัดโดยเทกองที่หลุมฝังกลบ ส่วนการลดขยะที่ต้นทางยังดำเนินการได้น้อย มีปริมาณขยะที่เกิดขึ้นต่อวันปริมาณมาก

ในขณะที่สถานที่กำจัดขยะบนเกาะ ซึ่งมีเพียงแห่งเดียวสามารถรองรับขยะได้เพียง 20 ตันต่อวัน โดยยังดำเนินการไม่ถูกหลักสุขาภิบาล นับเป็นความท้าทายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ซึ่งมีขนาดเล็ก และยังขาดศักยภาพในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

มุมมองของผู้เกี่ยวข้องในเรื่องนี้เห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า การจัดการขยะเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องทำ การละเลยเรื่องจัดการขยะที่ต้นทางและการดำเนินงานแบบเดิมนั้น ไม่สามารถปัญหาขยะบนเกาะแห่งนี้ได้

ความร่วมมือของทุกฝ่ายทั้งครัวเรือน สถานประกอบการ และหน่วยงานจัดการขยะ ต้องประสานและทำงานไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อเร่งแก้ไขโดยเฉพาะการจัดการที่ต้นทางให้เกิดประสิทธิภาพ ลดและคัดแยกขยะ นำไปจัดการใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสม เพื่อรับมือกับการท่องเที่ยวที่กำลังจะกลับมาอีกครั้ง

ทิศทางใหม่ การจัดการขยะเกาะลันตา | สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย 

๐ พัฒนาความร่วมมือ รัฐ-ชุมชน-เอกชน
ปัจจุบัน ผู้นำจากภาครัฐ ชุมชน และเอกชน ซึ่งรวมผู้ประกอบการและบริการท่องเที่ยว รวมถึงภาคประชาสังคม ซึ่งมีความตื่นตัวเรื่องการจัดการขยะในเกาะลันตา 29 หน่วยงาน ได้แสดงเจตนารมณ์ร่วมมือการบริหารจัดการขยะระหว่างรัฐ-ชุมชน-เอกชน เพื่อร่วมกันสนับสนุนให้มีการจัดการขยะที่เป็นรูปธรรมในภาคส่วนต่างๆ

การปรับใช้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ส่งเสริมและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนในพื้นที่ ให้เกิดการลด การคัดแยก และหมุนเวียนใช้ประโยชน์ขยะอย่างเหมาะสม 

นอกจากนี้ ขยะแต่ละประเภทควรมีการจัดการที่เหมาะสม โดยการนำไปใช้ประโยชน์หรือขายสร้างรายได้ อาทิ รวบรวมขยะอินทรีย์และเศษอาหารทำเป็นปุ๋ย และมีกองทุนปุ๋ยชุมชน เพื่อหมุนเวียนและแจกจ่ายเกษตรกรหรือครัวเรือนที่ต้องการ ควรใช้ภาชนะหรือวัสดุทดแทนพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว

ส่วนพลาสติกบางชนิดควรนำไปผลิตเป็นกระถาง ของใช้ ของที่ระลึก หรือชิ้นงานใหม่ เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนใช้งาน ก็จะช่วยลดปริมาณขยะที่เกิดขึ้นและลดการจัดการขยะที่ปลายทางไปได้มาก

• องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 6 แห่ง ริเริ่มและจริงจังกับการหารือและพัฒนาความร่วมมือเพื่อบูรณาการและวางแผนบริหารการจัดการทรัพยากร ทั้งระบบรวบรวม จัดเก็บ และกำจัด พร้อมวางเป้าหมายติดตามความก้าวหน้าที่ชัดเจน
• ผู้ประกอบการท่องเที่ยว ให้ความสำคัญกับจัดการและลดการเกิดของเสีย ใช้ทรัพยากรน้อย ใช้นาน ใช้อย่างมีคุณค่า ลดการใช้วัตถุดิบใหม่ พัฒนาวัสดุทดแทนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
• โรงเรียน เน้นเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม จากแนวปฏิบัติที่ดีและง่ายๆ ซึ่งผู้บริหาร ครู และนักเรียน สามารถร่วมกันดำเนินการในโรงเรียน สู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เป็นแบบอย่างที่ดี
• ชุมชน เริ่มให้ความสำคัญและคัดแยกขยะ นำขยะไปจัดการใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสม สอดคล้องกับปัญหาขยะในชุมชน อาทิ ทำจุดรวบรวมจากวัสดุเหลือใช้ นัดเก็บ ป้องกันลิงคุ้ย เป็นต้น

ความร่วมมือการบริหารจัดการขยะระหว่างรัฐ-ชุมชน-เอกชน และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง นับเป็นสัญญาณที่ดีในการสนับสนุนการทำงาน ตั้งแต่การวางแผน การเพิ่มขีดความสามารถ โดยลดข้อจำกัดและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ประการสำคัญคือช่วยสร้างความเข้าใจและลดข้อขัดแย้ง ที่จะนำไปสู่การพัฒนาเกาะลันตาให้น่าอยู่และน่าเที่ยวต่อไป.

(เรียบเรียงโดย วิลาวรรณ น้อยภา และ ประดิษฐ์ บุญปลอด สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย โครงการศึกษาและพัฒนาโมเดลความร่วมมือห่วงโซ่คุณค่าการจัดการขยะและขยะพลาสติกด้วยแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่เกาะ ด้วยการสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.))