มรณกรรม ชินโซ อาเบะ&ความย้อนแย้งของการเมืองญี่ปุ่น | ภาคภูมิ วาณิชกะ

มรณกรรม ชินโซ อาเบะ&ความย้อนแย้งของการเมืองญี่ปุ่น | ภาคภูมิ วาณิชกะ

การลอบสังหาร ชินโซ อาเบะ นักการเมืองและอดีตนายกรัฐมนตรีคนสำคัญที่สุดคนหนึ่งของญี่ปุ่น เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมานั้น ไม่ได้เป็นเพียงความโชคร้ายของอาเบะที่ตกเป็นเหยื่อของความโกรธแค้นที่ผู้ลงมือลอบสังหารมีต่อลัทธิศาสนาหนึ่งเท่านั้น

แต่ยังเป็นผลลัพธ์ที่คาดไม่ถึงของความสัมพันธ์ใกล้ชิด ระหว่างศาสนากับการเมือง อันเป็นความย้อนแย้งที่เป็นลักษณะพื้นฐานของการเมืองญี่ปุ่นสมัยใหม่ ที่มีอาเบะเป็นส่วนสำคัญหนึ่งด้วยเช่นกัน

ญี่ปุ่นมีองค์กรทางศาสนาอยู่จำนวนหนึ่ง ที่มีอำนาจทางการเมืองผ่านการมีความสัมพันธ์แบบพึ่งพาซึ่งกันและกันกับนักการเมืองของพรรคการเมืองต่างๆ เช่น โซกะกักไกกับพรรคโคเม และนิปปอน ไคงิและเซย์จิ เร็นเมกับพรรคแอลดีพี เป็นต้น

สำหรับ Unification Church ที่เป็นเงื่อนไขของการลอบสังหารอาเบะนั้น ทั้งตัวอาเบะเองและบุคคลใกล้ชิดเขาเช่นโนบุสึเกะ คิฉิ อดีตนายกรัฐมนตรีผู้เป็นตา, โนบุโอะ คิฉิ รัฐมนตรีว่าการกระทวงกลาโหมคนปัจจุบันผู้เป็นน้องชาย, และโยชิยุกิ อิโนะอุเอะ อดีตผู้ช่วยคนสนิทของอาเบะ ที่เพิ่งได้รับเลือกตั้งเป็นวุฒิสมาชิกในการเลือกตั้งเมื่อครั้งที่ผ่านมา ก็ล้วนแล้วแต่มีความสัมพันธ์ในลักษณะดังกล่าวกับ Unification Church ด้วยกันทั้งสิ้น 

ความสัมพันธ์ระหว่าง Unification Church กับอาเบะและบุคคลรอบตัวเขา เริ่มต้นจากการเป็นพันธมิตรในการต่อต้านการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ในรุ่นของของ โนบุสึเกะ คิฉิ และดำรงอยู่ต่อมาจนถึงรุ่นของอาเบะ

แต่สาระสำคัญของความสัมพันธ์เปลี่ยนไปเป็นการสนับสนุนคุณค่าของครอบครัวแบบอนุรักษนิยม ที่มีนัยของการต่อต้านการสมรสของบุคคลที่มีเพศกำเนิดเดียวกัน

มรณกรรม ชินโซ อาเบะ&ความย้อนแย้งของการเมืองญี่ปุ่น | ภาคภูมิ วาณิชกะ

ดังจะเห็นได้จากเนื้อหาของวีดีโอบันทึกการกล่าวแสดงความยินดีที่อาเบะส่งไปยัง ฮัก จา ฮัน ผู้นำของ Unification Church และกลายเป็นหลักฐานที่ เท็ตสึยะ ยะมะกะมิ ใช้ในการกล่าวหาและลงมือลอบสังหารอาเบะในที่สุด

ความสัมพันธ์ระหว่างนักการเมืองและองค์กรทางศาสนา เป็นประเด็นที่โต้เถียงกันมาตลอดในสังคมญี่ปุ่นเนื่องจากความสัมพันธ์ดังกล่าวก้ำกึ่งอยู่ระหว่างการใช้เสรีภาพทางศาสนากับการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

อีกทั้งส่งผลในทางลบต่อความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากมาตราที่ 20 ของรัฐธรรมนูญญี่ปุ่นให้การคุ้มครองเสรีภาพทางศาสนาของปัจเจกบุคคล 

แต่ในขณะเดียวกันก็ห้ามรัฐเข้าไปเกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางศาสนาและไม่อนุญาตให้ลัทธิศาสนาใดๆมีอำนาจและสิทธิพิเศษทางการเมือง โดยตัวอย่างหนึ่งของความก้ำกึ่งนี้ก็คือการเข้าร่วมพิธีทางศาสนาชินโตของอาเบะและสมาชิกพรรคแอลดีพีในขณะที่ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

โดยเฉพาะในกรณีที่อาเบะเดินทางไปศาลเจ้ายะสุกุนิเพื่อสักการะดวงวิญญาณของผู้ที่เสียชีวิตในสงคราม ซึ่งประชาชนญี่ปุ่นจำนวนมากเห็นว่าเป็นการเข้าร่วมพิธีกรรมทางศาสนา อันนำมาซึ่งปัญหาความสัมพันธ์กับประเทศจีนและเกาหลีใต้โดยไม่จำเป็น 

นอกจากประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างศาสนากับการเมืองแล้ว ความก้ำกึ่งระหว่างการเมืองตามหลักการกับการเมืองตามความเป็นจริงยังปรากฎชัดเจนในด้านนโยบายความมั่นคงของญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน

มรณกรรม ชินโซ อาเบะ&ความย้อนแย้งของการเมืองญี่ปุ่น | ภาคภูมิ วาณิชกะ

ด้วยเหตุที่มาตราที่ 9 ของรัฐธรรมนูญญี่ปุ่นได้ระบุให้ญี่ปุ่นสละสิทธิและศักยภาพในการทำสงคราม แต่ญี่ปุ่นกลับมีกองกำลังป้องกันตนเองที่ในทางปฏิบัติแล้วไม่แตกต่างอะไรกับกองทัพของประเทศอื่นๆ 

อีกทั้งการงดเว้นสิทธิในการใช้กำลังอาวุธเพื่อช่วยประเทศพันธมิตรก็ถูกรัฐบาลอาเบะยกเลิกโดยการใช้มติคณะรัฐมนตรีเปลี่ยนแปลงการตีความมาตราที่ 9 ของรัฐธรรมนูญโดยให้เหตุผลว่าการตีความมาตราดังกล่าวไปในทิศทางที่เป็นปฏิปักษ์ต่อผลประโยชน์พื้นฐานของชาวญี่ปุ่นนั้น ขัดแย้งกับบทนำและมาตราที่ 13 ของรัฐธรรมนูญ

ความแตกต่างระหว่างการเมืองตามหลักการกับการเมืองตามความเป็นจริงนี้ สะท้อนถึงการเมืองญี่ปุ่นและอาเบะก็มีบทบาทสำคัญในการยกระดับความย้อนแย้งนี้ให้ซับซ้อนและเข้มข้นมากยิ่งขึ้นด้วยอุดมการณ์ชาตินิยมของเขา ความย้อนแย้งนี้ก็กลับกลายมาเป็นบริบททางการเมืองของมรณกรรมของตัวอาเบะเองอย่างที่ไม่มีใครคาดคิด

สำหรับอาเบะแล้ว ญี่ปุ่นที่ก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาใหม่หลังจากที่พ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่สองและถูกยึดครองโดยสหรัฐอเมริกามีความผิดพลาดสำคัญที่จำเป็นต้องแก้ไขอยู่ 4 ประการคือ 
- การไม่มีสถานะทัดเทียมกับประเทศอื่นในด้านความมั่นคงและการทหาร, 
- ความเสื่อมโทรมของ “ความเป็นญี่ปุ่น” 
- ความรู้สึกผิดที่ไม่มีที่สิ้นสุดเกี่ยวกับสิ่งที่ญี่ปุ่นได้ทำลงไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง, 
- การมีรัฐธรรมนูญที่ถูกเขียนขึ้นโดยชาวต่างชาติ 

อาเบะเห็นว่าความผิดพลาดเหล่านี้ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนญี่ปุ่นไม่สามารถภูมิใจในประเทศของตนได้ และนำไปสู่วิกฤตทางสังคมการเมืองที่ญี่ปุ่นกำลังประสบอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งวิกฤตนี้เป็นความจริงทางการเมืองที่ญี่ปุ่นจำเป็นต้องเผชิญหน้าและยอมรับว่ามันไม่สามารถถูกแก้ไขได้ด้วยมรดกที่ความพ่ายแพ้และการถูกยึดครองได้ทิ้งไว้ให้

หากอาเบะยังมีชีวิตอยู่ และหากการเมืองญี่ปุ่นยังคงปราศจากทางเลือกเช่นในปัจจุบัน สถานการณ์ความตึงเครียดอย่างหนักระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนอาจนำพาเขากลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นครั้งที่สาม

และในครั้งนี้อาเบะอาจจะสามารถขจัดความย้อนแย้งออกไปจากการเมืองญี่ปุ่นโดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับเพื่อทำให้การเมืองตามความเป็นจริงที่เขาผลักดันมาตลอดกลายเป็นสิ่งเดียวกันกับการเมืองตามหลักการไปในที่สุด

มรณกรรมของอาเบะ จึงเป็นการเลื่อนการปฏิวัติทางการเมืองของญี่ปุ่นออกไป แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นการต่ออายุให้กับหลักการทางการเมืองอันเก่าแก่ที่ทำให้ญี่ปุ่นยังคงเป็นญี่ปุ่นที่โลกรู้จักกันในปัจจุบันด้วยเช่นกัน.