ผู้เล่นใหม่ในอนาคตระบบหลักประกันสุขภาพไทย | สถาบันอนาคตไทยศึกษา

ผู้เล่นใหม่ในอนาคตระบบหลักประกันสุขภาพไทย | สถาบันอนาคตไทยศึกษา

วิกฤติโควิด-19 ได้เปลี่ยนโลกให้กลายเป็นห้องทดลองขนาดใหญ่ เพื่อตอบรับกับการเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาพที่เกิดขึ้น สถาบันอนาคตไทยศึกษา ได้นำกระบวนการด้าน การคาดการณ์อนาคต (Foresight) มาเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา เพื่อพัฒนาและประกอบเป็นข้อมูลในการจัดทำแผนปฏิบัติราชการ 

กิจกรรมดังกล่าวเป็นความร่วมมือกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และห้องปฏิบัติการนโยบาย (Thailand Policy Lab) โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประเทศไทย (UNDP Thailand) ประเด็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอนาคต (Future Stakeholder) มีความสำคัญต่อการเตรียมความพร้อมสู่การเปลี่ยนแปลงในอนาคต เพื่อทำความเข้าใจต่อการตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงจากปัจจุบันไปสู่อนาคต 

แนวคิดเรื่องการจำแนกผู้มีส่วนเกี่ยวข้องแบบใหม่ ประกอบไปด้วย 3 แนวทางหลัก ได้แก่ Refine (การปรับบทบาท) Reframe (การขยายบทบาท) และ Reimagine (การจินตนาการใหม่เพื่อตอบโจทย์อนาคต) โดยมีหัวใจสำคัญคือประชาชน ในฐานะศูนย์กลางของการดำเนินงานจากหน่วยงานทั้งสามแนวทางหลัก

ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มแรก กำหนดผ่านการ “Refine” คือการปรับบทบาทหน่วยงานหลักเดิมหลังจากผ่านการพินิจพิจารณาที่ลงรายละเอียดมากขึ้น (zoom in) โดยการมองเลนส์การเปลี่ยนแปลงของเทรนด์อนาคต ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มหน่วยงานที่มีความเกี่ยวข้องโดยตรงและเชื่อมต่อกับระบบบริการสุขภาพ และระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศอยู่แล้ว 

แต่เนื่องด้วยเกิดการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเข้ามาปะทะจากเมกะเทรนด์ ทั้งด้านเทคโนโลยีและความเสี่ยงใหม่ๆ การปรับมุมมองและบทบาทของแต่ละหน่วยงาน จึงจำเป็นต้องนำกลับมาพิจารณาถึงความรับผิดชอบและความเชื่อมโยงที่เพิ่มขึ้น 

อาทิ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในการเสริมบทบาทการกำกับดูแลผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเพื่อรองรับบริการโทรเวชกรรม (tele-health) และการเข้าถึงบริการสุขภาพของประชาชน รวมทั้งเตรียมความพร้อมเรื่องความเสี่ยงด้านไซเบอร์

หรือหน่วยงานในท้องถิ่น อาทิ อปท. องค์กรชุมชน ในการพัฒนาศักยภาพการบริหารจัดการการมีส่วนร่วมกับงบประมาณด้านสุขภาพในท้องถิ่น

ผู้เล่นใหม่ในอนาคตระบบหลักประกันสุขภาพไทย | สถาบันอนาคตไทยศึกษา

ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มที่สอง กำหนดผ่านการ “Reframe” เป็นการขยายบทบาทขององค์กร โดยเริ่มจากจุดแข็งและความเชื่อมโยงกับระบบบริการสุขภาพและระบบหลักประกันสุขภาพ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาบทบาทและความรับผิดชอบแบบใหม่ที่ขยายขอบเขตมากกว่าหน้าที่เดิมที่เคยดำเนินการ และเสริมความเข้มแข็งในการทำงานเชื่อมต่อด้านการจัดการงบประมาณกับแนวทางอนาคตของระบบหลักประกันสุขภาพไทย 

อาทิ ร้านตัดผม สามารถมีส่วนร่วมกับระบบสุขภาพได้ โดยใช้จุดแข็งจากการเข้าถึงได้ง่ายสำหรับประชาชนมาสู่การขยายการบริการจากฐานเพื่อส่งต่อแพ็กเกจข้อมูลด้านสุขภาพขั้นพื้นฐาน เพื่อเชื่อมต่อการเข้าถึงบริการสุขภาพ โดยเฉพาะกับกลุ่มเปราะบางในพื้นที่

หรือกรณีร้านขายยาสามารถขยายขอบเขตด้านการรับยาและการคัดกรองผู้ป่วยเบื้องต้นเพื่อทราบอาการก่อนส่งต่อ จะช่วยในการลดความแออัดในสถานพยาบาล

อีกกลุ่มที่น่าสนใจคือ กลุ่มกิจกรรมที่ทำงานในพื้นที่ เพื่อเสริมศักยภาพในการเปลี่ยนจากผู้รับบริการมาเป็นส่วนหนึ่งของผู้สนับสนุนในการเข้าถึงบริการสุขภาพ เนื่องด้วยความเข้าใจถึงศักยภาพข้อจำกัดของกลุ่มผู้รับบริการและความใกล้ชิดกับชุมชน

อาทิ กลุ่มผู้พิการที่พอดูแลตนเองได้เป็นส่วนหนึ่งของระบบในการช่วยเหลือส่งต่อผู้พิการเข้าถึงบริการสุขภาพ เนื่องด้วยความเข้าใจกับปัญหาข้อท้าทายที่กลุ่มผู้พิการจะต้องเผชิญ หรือกลุ่มอาสาดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่ได้รับการฝึกอบรมในการดูแลขั้นต้น และการใช้เทคโนโลยีเพื่อรับคำปรึกษาจากแพทย์เฉพาะทาง

ผู้เล่นใหม่ในอนาคตระบบหลักประกันสุขภาพไทย | สถาบันอนาคตไทยศึกษา

ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มที่สอง กำหนดผ่านการ “Reimagine” เป็นการจินตนาการใหม่เพื่อตอบโจทย์อนาคตของหน่วยงาน องค์กร ที่จำเป็นต้องเข้ามามีบทบาทกับการเปลี่ยนแปลงไปสู่อนาคตที่ปรับแนวทางการทำงาน

หรือพลิกการทำงานของระบบบริการสุขภาพและระบบหลักประกันสุขภาพ ทั้งการตอบโจทย์เทคโนโลยียุคถัดไปและการเปลี่ยนแปลงที่จากความเสี่ยงทิศทางใหม่ที่จะเกิดขึ้น 

ดังนั้น การเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าใจบทบาทและศักยภาพของหน่วยงานหรืออาชีพใหม่ๆ เหล่านี้ จะช่วยทำให้แนวทางการทำงานของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เปิดกว้างเพื่อตอบโจทย์สอดรับกับความไม่แน่นอนในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

อาทิเช่น สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อเปิดรับแนวร่วมการทำงานด้านการบริหารงบประมาณและการเงินด้านสุขภาพรูปแบบใหม่จากตลาดทุนและเพื่อช่วยในการทบทวนและปรับปรุงระเบียบปฏิบัติด้านการเงินการคลังเพื่อสุขภาพในอนาคต

นอกจากนี้ หน่วยงานระดับนานาชาติด้านสิ่งแวดล้อมและทิศทางการพัฒนาของโลกก็เป็นหน่วยงานสำคัญที่ควรจับมือเพื่อพัฒนากลไกเปิดช่องทางการเชื่อมการทำงานระดับประเทศประเด็นความเสี่ยง และทิศทางการพัฒนาไปสู่ระดับนานาชาติอย่างเป็นรูปธรรม

อาชีพใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ด้านสุขภาพในอนาคตทั้งด้านเทคโนโลยีสุขภาพและการให้บริการ อาทิ ระบบประสาทวิทยาศาสตร์การแพทย์ (Neurological intervention) ผู้เชี่ยวชาญด้าน AR/VR หรือระบบตรวจสอบสุขภาพดิจิทัลผ่านทางชีวภาพ (Biofeedback) ก็เป็นผู้เล่นรายใหม่แห่งอนาคตที่ควรคิดไว้ตั้งแต่ในวันนี้

การคำนึงถึงผู้เล่นรายใหม่ที่จะเข้ามามีส่วนร่วมกับอนาคตของระบบหลักประกันสุขภาพ จะช่วยทำให้ภาพอนาคตและทิศทางการเตรียมตัวของภาครัฐลงรายละเอียดและมีความชัดเจนมากขึ้น ช่วยในการตอบโจทย์ความเปลี่ยนแปลงสู่โลกอนาคตได้อย่างเป็นรูปธรรม.

ผู้เล่นใหม่ในอนาคตระบบหลักประกันสุขภาพไทย | สถาบันอนาคตไทยศึกษา
คอลัมน์ คิดอนาคต 
ภัณณิน สุมนะเศรษฐกุล
ธราธร รัตนนฤมิตศร
สถาบันอนาคตไทยศึกษา 
www.facebook.com/thailandfuturefoundation/