เศรษฐกิจไทยมีโอกาสเติบโตดีกว่าที่คาดมาก

เศรษฐกิจไทยมีโอกาสเติบโตดีกว่าที่คาดมาก

แม้เศรษฐกิจโลกชะลอลง แต่ "เศรษฐกิจไทย" อาจไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากการชะลอตัวเศรษฐกิจโลกจะกระทบต่อการส่งออกเป็นหลัก โดยการส่งออกของไทยที่ผ่านมาได้แรงหนุนจากการเปิดเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าและการหาตลาดใหม่

จากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจไทยประจำเดือนมิ.ย. และครึ่งแรกของปีนี้ ที่เสนอโดย ธปท. บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง หลังการผ่อนคลายมาตรการสกัดการระบาดของโควิด-19 และการเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในไทยได้สะดวกมากขึ้น โดยเครื่องจักรหลักที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ได้แก่ การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน การส่งออก และการท่องเที่ยว ต่างมีแนวโน้มเติบโตดีกว่าที่หลายฝ่ายคาดไว้

ทั้งนี้ ในรายงานระบุว่าการบริโภคภาคเอกชนในไตรมาส 2/65 ขยายตัวสูงถึง 9.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งตัวขึ้นจาก 4.2% ในไตรมาส 1/65 ส่งผลให้ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้การบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้น 7.0% ในขณะที่ ธปท. คาดว่าในปีนี้การบริโภคภาคเอกชนจะเพิ่มขึ้น 4.9% ทางด้านการส่งออกในไตรมาส 2/65 ขยายตัว 9.7% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากที่เพิ่มขึ้น 14.4% ในไตรมาสแรก และส่งผลให้ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้การส่งออกเพิ่มขึ้น 12.0% เทียบกับคาดการณ์ของ ธปท. ที่คาดว่าการส่งออกในปีนี้จะเพิ่มขึ้น 7.9% 

ส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้อยู่ที่ 2.08 ล้านคน และรายงานเบื้องต้นระบุว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยอีกราว 1 ล้านคนในเดือนกรกฎาคม ในขณะที่ ธปท. คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะอยู่ที่ 6 ล้านคนในปีนี้

จากข้อมูลเศรษฐกิจในครึ่งแรกของปีนี้จะเห็นได้ว่ามีโอกาสสูงมากที่เศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตได้สูงกว่าคาดการณ์ของ ธปท. ที่ 3.3% ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมว่าตัวเลขการบริโภคภาคเอกชนล่าสุดยังถูกกดดันจากปัญหาการขาดแคลนในภาคอุปทาน โดยเฉพาะในภาคการผลิตรถยนต์ ซึ่งส่งผลให้ผู้ผลิตไม่สามารถส่งมอบรถยนต์ได้ตามกำหนด ซึ่งหากไม่มีปัญหาดังกล่าว ตัวเลขการบริโภคภาคเอกชนจะอยู่ในระดับที่สูงกว่าที่รายงาน และถึงแม้ปัญหาดังกล่าวยังคงยืดเยื้อ ตัวเลขการบริโภคภาคเอกชนในช่วงครึ่งหลังของปีก็ไม่น่าชะลอตัวลงมากนัก เพราะผู้บริโภคเริ่มมีความสามารถในการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นหลังเศรษฐกิจเริ่มกลับมาเป็นปกติและจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น

ในด้านการส่งออก หลังจากหลายประเทศเปิดเศรษฐกิจมากขึ้น ส่งผลให้อุปสงค์ในตลาดโลกเพิ่มขึ้น การส่งออกของไทยจึงยังคงมีแนวโน้มเติบโตดี นอกจากนี้ การส่งออกของไทยยังได้แรงหนุนเพิ่มเติมจากการที่หลายประเทศจำกัดการส่งออกสินค้าบางรายการ รวมถึงการที่ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซาอุดิอาระเบียกลับมาเป็นปกติ และการเปิดตลาดใหม่ ต่างเป็นปัจจัยที่จะผลักดันให้การส่งออกของไทยเติบโตได้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่าการส่งออกของไทยในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ขยายตัวได้ดีกว่าที่คาดท่ามกลางปัญหาในห่วงโซ่อุปทานและการล็อคดาวน์ของจีน ดังนั้นหากปัญหาดังกล่าวคลี่คลายลง การส่งออกของไทยน่าจะเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง

สำหรับภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มที่จะเติบโตได้ดีกว่าที่คาดมาก โดยถึงแม้ในช่วงนี้เป็นช่วงโลว์ซีซันของการท่องเที่ยวไทย แต่จำนวนนักท่องเที่ยวยังเดินทางเข้ามาในไทยราว 1 ล้านในช่วงเดือนแรก หลังการผ่อนคลายมาตรการเดินทางเข้าประเทศครั้งใหญ่ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 ซึ่งหากจำนวนนักท่องเที่ยวยังคงอยู่ที่ 1 ล้านคนทุกเดือนจนถึงสิ้นปีนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวตลอดปีนี้จะอยู่ที่ราว 8 ล้านคน ซึ่งสูงกว่าคาดการณ์ของ ธปท. ที่ 6 ล้านคน 

อย่างไรก็ดี จำนวนนักท่องเที่ยวตลอดปีนี้น่าจะสูงกว่า 8 ล้านคน เนื่องจากในช่วงปลายปีเป็นช่วงไฮซีซั่นที่จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามามากกว่าปกติ และหากจีนผ่อนคลายให้คนจีนสามารถเดินทางท่องเที่ยวนอกประเทศได้ จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าไทยในปีนี้ก็จะยิ่งสูงกว่าที่คาดมาก

ในส่วนของการลงทุนภาคเอกชน ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้โต 2.7% จากช่วงเดียวกันปีก่อน เทียบกับคาดการณ์ของ ธปท. ที่คาดว่าการลงทุนภาคเอกชนตลอดปีนี้จะโต 5.4% ดังนั้น การลงทุนภาคเอกชนจึงมีแนวโน้มต่ำกว่าที่คาด อย่างไรก็ดี ตัวเลขขอส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอ และแนวโน้มการย้ายฐานการผลิตเพื่อกระจายความเสี่ยงหลังเกิดการระบาดของโควิด-19 และปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศ อาจเป็นปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของการลงทุนภาคเอกชน

สำหรับความเสี่ยงที่อาจจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้เติบโตในอัตราที่ชะลอลง น่าจะมีสาเหตุจากปัจจัยภายนอกประเทศเป็นหลัก โดยนักเศรษฐศาสตร์จากหลายองค์กรทั่วโลกต่างแสดงความกังวลว่าอุปสงค์ในตลาดโลกจะชะลอตัวลงมากในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ จากการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และธนาคารกลางอื่นๆทั่วโลก รวมถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ส่วนความเสี่ยงภายในประเทศอาจจะมาจากปัญหาอุทกภัยเนื่องจากในปีนี้มีแนวโน้มฝนตกต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ถึงแม้เศรษฐกิจโลกชะลอลงมาก เศรษฐกิจไทยอาจไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกจะกระทบต่อการส่งออกเป็นหลัก โดยการส่งออกของไทยที่ผ่านมาได้แรงหนุนจากการเปิดเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าและการหาตลาดใหม่ ดังนั้น หากอุปสงค์ในตลาดโลกชะลอลง การส่งออกของไทยอาจชะลอลงไม่มาก รวมถึงอาจมีแรงหนุนจากยอดส่งออกชดเชยหากปัญหาในห่วงโซ่อุปทานดีขึ้น ในขณะที่การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน และการท่องเที่ยวยังน่าจะเติบโตได้ต่อไป