การบรรจบกันของธุรกิจที่มีความแตกต่างกันในยุคดิจิทัล

การบรรจบกันของธุรกิจที่มีความแตกต่างกันในยุคดิจิทัล

ในอีก 30 ปีข้างหน้า จะเป็นการรุกทาง "เทคโนโลยี" และ "ซอฟต์แวร์" อย่างต่อเนื่องเพื่อทดแทนการทำงานของมนุษย์ โดยมีวิกฤตการณ์โควิด-19 เป็นปัจจัยที่เร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนี้และทำให้คู่แข่งยุคดิจิทัล

ทิศทางธุรกิจในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาและในอีก 30 ปีข้างหน้า จะเป็นการรุกทางเทคโนโลยีและซอฟต์แวร์อย่างต่อเนื่องเพื่อทดแทนการทำงานของมนุษย์ โดยมีวิกฤตการณ์โควิด-19 เป็นปัจจัยที่เร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนี้และทำให้คู่แข่งทางดิจิทัลเข้ามาแทนที่การให้บริการโดยมนุษย์อย่างรวดเร็ว

ดังนั้นการมองว่าซอฟต์แวร์ถูกจำกัดอยู่เพียงในกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีเท่านั้น อาจจะเป็นความคิดที่ล้าสมัยไปแล้ว โดยจะเห็นได้จากการที่ซอฟต์แวร์เข้าไปมีบทบาทต่อภาคธุรกิจมากขึ้น และเป็นปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดการควบรวมกิจการของธุรกิจด้านซอฟต์แวร์กับธุรกิจด้านอื่นๆ ซึ่งอาจเรียกว่าเป็นการมาบรรจบกันของธุรกิจที่มีความแตกต่างกัน (convergence)

การบรรจบกันของธุรกิจที่มีความแตกต่างกันเกิดขึ้นเมื่อธุรกิจดั้งเดิม ที่ไม่ใช่ธุรกิจด้านเทคโนโลยีมีการสร้างนวัตกรรมใหม่และมุ่งแข่งขันโดยการใช้ซอฟต์แวร์ การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตและมือถือ และการใช้ข้อมูลเพื่อปรับปรุงรูปแบบการดำเนินงาน การนำเสนอผลิตภัณฑ์ และการปฏิบัติต่อพนักงาน คู่ค้า และลูกค้า ซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วนี้ได้ผลักดันให้บริษัทในหลายธุรกิจเข้าซื้อกิจการด้านเทคโนโลยีแทนการพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นเองซึ่งต้องใช้เวลานานกว่า

ในอดีต บริษัทส่วนใหญ่ขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจด้วยการซื้อคู่แข่งกล่าวคือการเข้าซื้อบริษัทอื่นที่ประกอบธุรกิจเดียวกัน หรืออาจมีการข้ามไปสู่การเข้าซื้อหรือควบรวมกิจการกับบริษัทในธุรกิจอื่นแต่ยังคงอยู่ในสายอุตสาหกรรมเดียวกัน เช่น ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์เข้าซื้อกิจการของผู้ผลิตเครื่องพิมพ์ เป็นต้น ซึ่งในเวลานั้นอาจนับว่านี่คือการบรรจบกันของธุรกิจแล้ว

ในประเทศไทย “การเข้าซื้อกิจการหรือการลงทุนเพื่อดิจิทัล” มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยหลายรายการมีเหตุผลการลงทุนที่เข้าใจได้ง่าย เช่น การเข้าลงทุนของ SCB 10x ใน SYNQA ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยีทางด้านการเงิน (fintech) หรือการเข้าลงทุนของกลุ่มบริษัท CP ในการระดมทุน Series C ของ Ascend Money ซึ่งเป็นบริษัทในเครือและผู้ถือหุ้นของ TrueMoney

นอกจากนี้ การเข้าลงทุนเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิงก็มีปรากฎให้เห็นเช่นกัน เช่น กรณี บมจ. กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ ซึ่งดำเนินธุรกิจหลักด้านโรงไฟฟ้าและพลังงาน เข้าซื้อหุ้นร้อยละ 42.25 ของ บมจ. อินทัช โฮลดิ้งส์ ซึ่งดำเนินธุรกิจหลักด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีดิจิทัล เป็นต้น

วรุณ บูธีราชา ผู้บริหารระดับสูงของ Deloitte Consulting LLP กล่าวว่า การเข้าซื้อกิจการเหล่านี้ไม่ได้เป็นเพียงเพื่อยกระดับเทคโนโลยีเท่านั้น แต่เป็นการเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจ โดยธุรกิจแบบดั้งเดิมที่เน้นการขายผลิตภัณฑ์ได้มองหาแนวคิดใหม่โดยผนวกการใช้ซอฟต์แวร์ ข้อมูล และการเชื่อมต่อ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า สร้างประสบการณ์ใหม่ให้แก่ลูกค้า และสร้างรายได้เพิ่มให้แก่บริษัท

อย่างไรก็ดี บริษัทเทคโนโลยีมักจะมีรูปแบบการดำเนินธุรกิจและวัฒนธรรมองค์กรที่มีความแตกต่างและมีความเฉพาะตัว ส่งผลให้การดำเนินธุรกิจภายหลังการควบรวมกิจการมีความเสี่ยง ดังนั้น การมุ่งสู่การเปลี่ยนแปลงโดยขาดกลยุทธ์การบริหารที่ดีอาจทำให้การควบรวมกิจการนั้นล้มเหลว ดังที่ได้เกิดขึ้นแล้วในหลายกรณี

ผู้นำองค์กรส่วนใหญ่เข้าใจถึงความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาริเริ่มสิ่งใหม่เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น และตระหนักดีว่าการเข้าซื้อบริษัทเทคโนโลยีจะช่วยให้สามารถบรรลุวัตถุประสงค์และสร้างมูลค่ามหาศาลได้ หากสามารถดำเนินการได้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ อย่างไรก็ดี ยังคงมีปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้การรวมธุรกิจที่มีความแตกต่างกันไม่ประสบความสำเร็จ เช่น

ความไม่สอดคล้องกันเชิงกลยุทธ์และเชิงพาณิชย์ : ในการตัดสินใจเข้าซื้อธุรกิจด้านเทคโนโลยี ผู้บริหารจะต้องมีความชัดเจนว่าธุรกิจด้านเทคโนโลยีนั้นจะสามารถเสริมธุรกิจเดิมในด้านใด เช่น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพหรือสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ลูกค้า รวมถึงการควบรวมธุรกิจนั้นจะเพิ่มมูลค่าให้แก่บริษัทได้อย่างไรและจำเป็นต้องสร้างสภาพแวดล้อมอย่างไรเพื่อขับเคลื่อนให้สามารถบรรลุวัตถุประสงค์นั้นได้

ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเทคโนโลยี : บริษัทที่เข้าซื้อธุรกิจด้านซอฟต์แวร์ บิ๊กดาต้า ระบบคลาวด์ ฯลฯ อาจไม่มีความเชี่ยวชาญในด้านเทคโนโลยี ในขณะที่การประเมินด้านเทคโนโลยีและความเข้าใจลักษณะของสินทรัพย์ที่ซื้อมานั้นมีความสำคัญอย่างมากซึ่งมีความซับซ้อนไม่เหมือนกับการลงทุนในธุรกิจอื่นๆ

การเปลี่ยนแปลงที่เร็วเกินไป : แผนการดำเนินงานในช่วง 100 วันแรกภายหลังการควบรวมกิจการอาจจะเป็นระยะเวลาที่สั้นเกินไปสำหรับการปฏิรูปองค์กรไปสู่การดำเนินธุรกิจในรูปแบบใหม่จากการรวมธุรกิจที่มีความแตกต่างกันซึ่งมีความซับซ้อนและต้องใช้เวลานานกว่านั้น

ความแตกต่างของวัฒนธรรมองค์กร : โดยปกติแล้วการผสานวัฒนธรรมองค์กรเข้าด้วยกันก็มีความท้าทายสูงแม้ทั้งสองบริษัทจะอยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน ดังนั้น การรวมธุรกิจด้านเทคโนโลยีขนาดเล็กกับบริษัทขนาดใหญ่ซึ่งมีวัฒนธรรมองค์กรที่แตกต่างกันมากจึงมีความยากและซับซ้อนยิ่งขึ้น และหากขาดการบริหารจัดการที่ดีอาจทำให้บริษัทต้องสูญเสียบุคลากรที่มีคุณภาพไป ดังนั้น ในบางกรณีอาจต้องใช้ระยะเวลาพอสมควรเพื่อให้บุคลากรจากธุรกิจด้านเทคโนโลยีสามารถปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมองค์กรของบริษัทได้

ความปลอดภัยด้านไอที : การเชื่อมระบบซอฟต์แวร์ การเชื่อมต่อ และการจัดการข้อมูลของบริษัทให้เข้ากับธุรกิจใหม่นั้นอาจสร้างความเสี่ยงด้านความปลอดภัยทางเทคโนโลยี ดังนั้น ผู้บริหารที่ไม่มีความเชี่ยวชาญด้านความเสี่ยงทางเทคโนโลยีควรได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ