ของต้องห้ามต้องกำกัด | สกล หาญสุทธิวารินทร์

ของต้องห้ามต้องกำกัด | สกล  หาญสุทธิวารินทร์

ประเทศไทยตรากฎหมายศุลกากร คือพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 ออกมาใช้บังคับ ตั้งแต่ปี 2469 มีการแก้ไขเพิ่มเติมมาตลอด หลายครั้ง

ต่อมาเมื่อปี 2560 ได้มีการตราพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 ออกใช้บังคับแทน พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 โดยให้ยกเลิกพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 ทั้งฉบับ และบรรดาพระราชบัญญัติที่แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469ทุกฉบับเสียทั้งสิ้น

พระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ.2560 มีบทบัญญัติที่แตกต่างจาก พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 ที่สำคัญหลายประการ เช่น
             สำแดงเท็จ   ตามพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ.2469 มีบทบัญญัติกำหนดความผิดการกระทำที่เรียกว่าสำแดงเท็จไว้เป็นหมวด 12 มาตรา99   ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560 ไม่ได้เรียกว่าเป็นการสำแดงเท็จ  แต่บัญญัติไว้ในบทกำหนดโทษรวม3 มาตรา คือมาตรา 202 เป็นกรณียื่นเอกสารไม่ถูกต้อง มาตรา203 เป็นกรณีการแจ้งหรือให้ถ้อยคำอันเป็นเท็จ มาตรา205เป็นกรณีปลอมแปลเอกสาร

ภาระการพิสูจน์  ที่เป็นของจำเลย ตามที่บัญญัติในมาตรา100ของพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ.2469  ที่บัญญัติว่าในการฟ้องร้องคดีที่เกี่ยวกับการยึดของ หรือของที่ต้องถูกริบ หรือยึดเพื่อชดใช้ค่าปรับเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ต้องพิสูจน์ว่า การดำเนินการต่างฯอันเป็นเหตุให้ต้องถูกยึดเพราะไม่เสียภาษี หรือถูกริบ หรือยึดเพื่อเสียค่าปรับ เป็นการดำเนินการโดยชอบ 

     พระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ.2560  ได้ตัดออก ให้ภาระการพิสูจน์เป็นไปตามกฎหมายลักษณะพยาน

               เพิ่มคำนิยามของต้องห้าม ของต้องกำกัด คือ 

               ตามพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ.2560 กำหนดคำนิยาม ของต้องห้ามและของต้องกำกัดไว้ คือ
               "ของต้องห้าม" หมายความว่าของที่มีกฎหมายกำหนดห้ามมิให้นำเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร หรือนำผ่าราชอาณาจักร
              "ของต้องกำกัด" หมายความว่า ของที่มีกฎหมายกำหนดว่า หากจะมีการนำเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร หรือนำผ่านราชอาณาจักร ต้องได้รับอนุญาตหรือปฏิบัติให้ครบถ้วนตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย

  ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 ตามมาตรา27 ใช้คำว่าของต้องจำกัดและมิได้กำหนดความนิยามไว้ แต่ความหมายเหมือนกัน            

 พระราชบัญญัติศุลกากรไม่มีบทบัญญัติให้อำนาจกำหนดให้สินค้าใดเป็นสินค้าต้องห้ามหรือต้องกำกัด แต่เป็นไปตามกฎหมายเฉพาะที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงต่างฯซึ่งมีอยู่หลายสิบฉบับ เช่น

            -   พระราชบัญญัติอาหารพ.ศ.2523 ในความรับผิดชอบของกระทรวงสาธารณสุข ห้ามมิให้ผู้ใดนำเข้ามาจำหน่าย อาหารไม่บริสุทธิ์ อาหารปลอม เป็นต้น
              ห้ามมิให้ผู้ใดนำเข้าอาหารเพื่อจำหน่าย เว้นแต่จะได้รับอนุญาต
             -  พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าพ.ศ.2535 ในความรับผิดชอบองกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
              ห้ามมิให้ผู้ใดนำเข้าหรือส่งออกซึ่งสัตว์ป่าหรือซากของสัตว์ป่าชนิดที่รัฐมนตรีกำหนด เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากอธิบดี
              -  พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 ในความรับผอดชอบของกระทรวงอุตสาหกรรม ห้ามมิให้ผู้ใดนำเข้า ส่งออกวัตถุอันตรายปลอม
            -  พระราชบัญญัติการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ.2522 ในความรับผิดชอบของกระทรวงพาณิชย์ ให้อำนาจรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ออกประกาศกำหนดให้สินค้าใดเป็นสินค้าที่ต้องห้าม หรือต้องขออนุญาต ในการส่งออกหรือนำเข้า หรือกำหนดมาตรการใดฯในการส่งออกนำเข้า  

ซึ่งถือได้ว่าเป็นกฎหมายหลักฉบับหนึ่งในการกำหนดของต้องห้ามต้องกำกัด ทั้งที่กระทรวงพาณิชย์พิจารณากำหนดขึ้นเอง และตามคำขอของหน่วยงานอื่นซึ่งมีมากมายเป็นร้อยรายการ เช่น

             กำหนดให้สินค้าเลียนแบบเครื่องหมายการค้า  ละเมิดลิขสิทธิ์ เป็นสินค้าต้องห้ามในการส่งออกนำเข้า  
            กำหนดให้สินค้าเกษตร 23 รายการ เป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาตในการนำเข้า       
            กำหนดให้สินค้าบางรายการเป็นสินค้าที่ต้องเสียค่าธรรมเนียมในการนำเข้า  เช่น ปลาป่นโปรตีนตั้งแต่60%  กำหนดให้ ข้าวที่ส่งไปสหภาพยุโรปที่ใช้สิทธิลดภาษีนำเข้า ต้องเสียค่าธรรมเนียมพิเศษในการส่งออก       
         กำหนดให้เนื้อไก่สดแช่แข็งที่ส่งออกไปสหภาพยุโรปภายใต้โควตาภาษีต้องมีหนังสือรับรองถิ่นกำหนดสินค้า
           ปัญหากระทำความผิดขณะใช้พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 แต่ต่อมาในชั้นการพิจารณาคดีมีการใช้บังคับพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560 แทนพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ.2469 ที่ถูกยกเลิกไป
       กรณีเช่นนี้ศาลฎีกาได้พิจารณาพิพากษา โดยใช้หลักกฎหมายส่วนที่เป็นคุณต่อจำเลย  เช่น


         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2757/2561
           การกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองฐานพยายามส่งของออกไปนอกราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงข้อจำกัดอันเกี่ยวกับของนั้น เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 


      ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ได้มี พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560.ใช้บังคับแทน พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 โทษจำคุกตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 และ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 จำคุกไม่เกิน 10 ปีเท่ากัน แต่โทษปรับตามพ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 244 ซึ่งปรับไม่เกิน 500,000 บาท

จึงเป็นคุณแก่จำเลยทั้งสองมากกว่าโทษปรับตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 ในการกำหนดโทษปรับจำเลยทั้งสอง ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 ดังกล่าว ก็ต้องกำหนดให้จำเลยทั้งสองรับผิดค่าปรับในลักษณะรวมกันตามบทบัญญัติ มาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 อันเป็นการใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลยทั้งสอง 


                คำพิพากษาศาลฎีกาที่6931/2562
                      โจทก์บรรยายฟ้องแยกเป็นข้อ ๆ เพื่อแสดงให้เห็นว่าเป็นการกระทำความผิดฐานช่วยจำหน่าย ซื้อหรือรับไว้โดยประการใดซึ่งของอันตนรู้ว่าเป็นของต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงข้อห้ามอันเกี่ยวกับของนั้นโดยยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากร                      

ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ.2560 มีผลใช้บังคับ แทนพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469แต่ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 346 ยังคงบัญญัติให้การกระทำความผิดฐานช่วยจำหน่ายของอันตนรู้ว่าเป็นของต้นห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเหลี่ยงข้อห้ามอันเกี่ยวกับของนั้น ยังคงเป็นความผิดอยู่และไม่เป็นคุณแก่จำเลย จึงต้องใช้กฎหมายเดิมซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลย


                 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 588/2563
             จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานพยายามนำรถออกนอกราชอาณาจักรโดยไม่ผ่านพิธีการศุลกากรให้ถูกต้อง แม้ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 ได้ถูกยกเลิกโดยพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560

ซึ่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 242 ยังบัญญัติว่าการพยายามนำของซึ่งยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากรเป็นความผิดอยู่ถือไม่ได้ยกเลิกความผิดฐานนี้   และโทษปรับและจำคุกตามกฎหมายใหม่เท่ากับกฎหมายเดิมจึงไม่เป็นคุณ จึงต้องบังคับตาม พ.ร.บ.ศุลกากรพ.ศ. 2469 มาตรา 27 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลยที่ 1.