“วันสารทจีน 2565” ไขข้อข้องใจความเชื่อ “ไทย - จีน” ต่างกันอย่างไร?

“วันสารทจีน 2565” ไขข้อข้องใจความเชื่อ “ไทย - จีน” ต่างกันอย่างไร?

“วันสารทจีน 2565” เป็นหนึ่งในวันสำคัญของคนไทยเชื้อสายจีน ที่มีการให้ความสำคัญในการไหว้บรรพบุรุษ แสดงความกตัญญูต่อผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว สืบต่อกันมาจนปัจจุบัน “อ้ายจง” เลยอยากมาไขข้อข้องใจความเชื่อของ “ไทย - จีน” ว่าต่างกันอย่างไร?

วันสารทจีน 2565 เป็นหนึ่งในวันสำคัญของคนไทยเชื้อสายจีนที่มีการให้ความสำคัญในการไหว้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วสืบต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่นจวบจนปัจจุบัน แต่ภายใต้กาลเวลาที่ผันเปลี่ยนโดยเฉพาะในยุคโควิด-19 ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่ากระทบต่อเศรษฐกิจ การใช้จ่ายของแต่ละครอบครัว โดยเฉพาะยิ่งใกล้ถึง วันสารทจีน ข้าวของต่างๆ ที่ใช้ในการไหว้ สารทจีน เริ่มราคาดีดตัวขึ้น ทำให้เริ่มมีเสียงกระซิบที่ดังขึ้นเรื่อยๆ ว่า "วันสารทจีนต่อไปจะเป็นอย่างไร?" 

อ้ายจง จึงอยากพาทุกคนไปยังประเทศจีน ต้นกำเนิดของวันสารทจีน มาดูกันว่าทุกวันนี้มีการปฏิบัติเหมือนหรือต่างจากไทยอย่างไร? 

ที่มาของสารทจีน

ในภาษาจีนเรียก วันสารทจีน ว่า จงหยวนเจี๋ย (中元节) ตามคติความเชื่อลัทธิเต๋า วันสารทจีนเป็นวันถือกำเนิดของ เทพเจ้าแห่งปฐพี ตรงกับวันที่ 15 ค่ำ เดือน 7 ตามปฏิทินจันทรคติของจีน (แต่บางท้องถิ่นจะยึดถือเอาวันที่ 14 ค่ำ เดือน 7 เป็นวันสารทจีน) และในความเชื่อของคนจีนตั้งแต่สมัยโบราณ เชื่อว่าวันนี้เป็นวันที่ประตูนรกเปิด ให้เหล่าวิญญาณได้รับบุญรับกุศล ทำให้มีคำเรียกวันนี้อีกคำว่า 鬼节 (กุ่ยเจี๋ย) เทศกาลผี โดยเมื่อครบรอบวันถือกำเนิด เทพเจ้าแห่งปฐพีจะอภัยโทษ อนุญาตให้วิญญาณกลับสู่โลกมนุษย์เพื่อรับบุญกุศล จึงเป็นที่มาของความเชื่อดังกล่าว

บทความที่เกี่ยวข้อง

คนจีนรุ่นใหม่ยังไหว้สารทจีนหรือไม่?

จากการสืบค้นข้อมูลและพูดคุยกับเพื่อนๆ ชาวจีน ทำให้พอจะประมาณได้ว่า ปัจจุบัน คนจีนไหว้บรรพบุรุษใน วันสารทจีน 2565 น้อยลง หรือไม่ก็จะแค่เผากระดาษเงินกระดาษทองอย่างเดียว แต่จะไหว้บรรพบุรุษใน วันเชงเม้ง (ชิงหมิงเจี๋ย) และ วันตรุษจีน อย่างเดียว และอีกอย่างคือ "คนจีนสมัยใหม่ทางใต้ ให้ความสำคัญกับสารทจีนมากกว่าคนจีนทางเหนือ"

โดยการปฏิบัติในวันสารทจีนของคนจีนทางเหนือและทางใต้ก็แตกต่างด้วย ถึงขนาดที่สื่อหลักของจีนอย่าง People’s Daily เคยสรุปเป็นบทความไว้เลย ก็สามารถยืนยันถึงความแตกต่างได้จริงๆ  

ความแตกต่างที่เด่นชัดคือ คนจีนทางเหนือนิยมไหว้บูชาวันสารทจีนด้วยการจุดธูป แต่ทางใต้จะไหว้ด้วยการลอยประทีปในน้ำ ซึ่งคนจีนจำนวนไม่น้อยโดยเฉพาะทางใต้ ยังคงไหว้สารทจีนด้วยเป็ดไก่ ผลไม้ต่างๆ เหมือนกับที่เราเห็นจนชินตาในไทย มีทั้งไหว้ที่บ้านของตน ไปไหว้ที่สุสาน หรือไม่ก็ไปไหว้ที่ศาลเจ้าพร้อมกับทำบุญด้วย

เผากงเต็กข้างถนน ขีดวงกลมกั้นพื้นที่ให้วิญญาณบรรพบุรุษ อีกหนึ่งการปฏิบัติที่จีนต่างจากไทย

จากประสบการณ์ของอ้ายจงที่เคยใช้ชีวิตในจีน การเผากระดาษเงินกระดาษทอง หรือที่บ้านเราเรียก กงเต็ก ในจีน มีหลากหลายรูปแบบที่ปรับให้เข้ากับยุคสมัย ซึ่งประเด็นนี้อ้ายจงมองว่า จีนแตกต่างจากที่ไทย เพราะการเผากงเต็กของพวกเขา หากไม่เผาในศาลเจ้า หรือในชุมชนที่มีถังเอาไว้ให้เผาโดยเฉพาะ พวกเขาจะเผาตามข้างถนนเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่อาศัยในเขตเมือง เนื่องจากพื้นที่มีจำกัด อยู่อาศัยในลักษณะคอนโด อะพาร์ตเมนต์ โดยการเผาตามข้างถนน แล้วเขาจะวาดวงกลมและเผาในเขตวงกลมนั้น เป็นการกำหนดพื้นที่ของวิญญาณบรรพบุรุษที่จะมารับผลบุญในสิ่งที่เผาไปให้ 

ในช่วงที่จีนยังไม่เข้มงวดต่อการลดมลพิษทางอากาศและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเท่าปัจจุบัน เราจะเห็นพ่อค้าแม่ค้านำกระดาษเงินกระดาษทองและกงเต็กมาขายตามข้างถนนเต็มไปหมด เตรียมไฟแช็กและชอล์กสำหรับขีดวงกลม เพื่อให้เราได้เผากงเต็กที่ข้างทางตรงนั้นได้เลย แต่ ณ ตอนนี้เริ่มน้อยลง เนื่องจากทางการจีนรณรงค์ลดควัน 

สารทจีนแดนมังกร ไม่ได้มีแค่ไหว้บรรพบุรุษและเผากงเต็ก

นอกจากการไหว้บรรพบุรุษด้วยอาหาร ของกินต่างๆ และการเผากงเต็ก การลอยโคมในน้ำและลอยโคมขึ้นสู่ฟ้า นับเป็นอีกสิ่งที่คนจีนนิยม โดยมีจุดประสงค์ขอพรให้ปกป้องคุ้มครองตนเองและครอบครัว และเป็นการนำทางเหล่าวิญญาณบรรพบุรุษกลับสู่ที่ที่จากมา

จีนยุคใหม่มอง "วันสารทจีน" เท่ากับ "เทศกาลฮาโลวีน" ของตะวันตก

สำหรับตัวอ้ายจงเองบอกเลยว่า จุดที่คิดว่าการปฏิบัติใน วันสารทจีน ที่แตกต่างระหว่างจีนและไทยมากสุด ผมขอยกให้ "บางสถานบันเทิงจัดกิจกรรมรับวันสารทจีน โดยมีนัยเดียวกันกับเทศกาลฮาโลวีนของฝั่งตะวันตก" ยิ่งช่วงก่อนโควิด-19 จะนิยมมาก รวมทั้งการแต่งตัว แต่งหน้าแบบผี เพื่อไปยังสถานบันเทิง ปาร์ตี้กับเพื่อนๆ หรือถ้าไม่ไปเที่ยว ก็จะแต่งเพื่อโพสต์ลงในสังคมออนไลน์ ซึ่งมักจะเป็นไวรัล สร้างกระแสสังคมบนโลกโซเชียลจีนอย่าง Weibo อยู่เสมอ เช่นแฮชแท็ก #中元节来了และในแต่ละปี คำค้นหาและแฮชแท็กภาษาจีนที่เกี่ยวข้องกับวันสารทจีน เช่น 中元节 มักจะขึ้น TOP3 บน Weibo เสมอ ปี 2564 ที่ผ่านมาก็เช่นกันครับ

อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงเรื่องความเชื่อของคนจีนในวันสารทจีน มีข้อห้ามออกจากบ้านในตอนกลางคืนของวันสารทจีน สืบเนื่องจากความเชื่อที่ว่าเป็นวันที่ประตูนรกเปิดให้วิญญาณได้กลับสู่โลกมนุษย์เป็นกรณีพิเศษ แต่เมื่อวันเวลาเปลี่ยนแปลงไป วิถีชีวิตก็เปลี่ยนตาม จึงไม่ค่อยมีคนถือข้อห้ามนี้แล้ว  

ผู้เขียน: ภากร กัทชลี (อ้ายจง) อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่