ทำไม "จีน" ยืนยันอย่างหนักแน่นว่า "ไต้หวัน" คือดินแดนที่แยกจากจีนไม่ได้?

ทำไม "จีน" ยืนยันอย่างหนักแน่นว่า "ไต้หวัน" คือดินแดนที่แยกจากจีนไม่ได้?

ในบทความนี้ "อ้ายจง" มาวิเคราะห์ข้อมูลจากทางจีนที่ชี้แจงสู่ประชาคมโลกถึงเหตุผลว่า ทำไมจีนถึงยืนกรานอย่างหนักแน่นในประเด็น “ไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน ไม่สามารถแยกได้”

ประเด็นความตึงเครียดสองฝั่งช่องแคบไต้หวัน ระหว่าง จีนแผ่นดินใหญ่ และ ไต้หวัน โดยมีบุคคลที่สามเข้ามาเอี่ยวด้วยคือ สหรัฐอเมริกา ยังคงเป็นกระแสอันร้อนแรงที่จีนออกมาตรการต่างๆ ตอบโต้อย่างต่อเนื่องหลัง แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอเมริกา เดินทางไปเยือนไต้หวัน เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2565 โดยไม่สนคำคัดค้านของทางจีน ที่ยืนยันมาโดยตลอดว่า ถ้าหาก "เพโลซี" เดินทางไปไต้หวัน นั่นหมายถึง การละเมิดคำมั่นสัญญาที่จีนและอเมริกากระทำไว้ในปี 1979 เมื่อสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตว่า "อเมริกาจะไม่ดำเนินการใดๆ ที่เป็นทางการกับไต้หวัน" แต่การเดินทางของเพโลซีครั้งนี้ จีนถือว่าเป็นทางการ ทั้งไปในฐานะเจ้าหน้าที่ระดับสูงของอเมริกา และไปด้วยเครื่องบินทหารกองทัพอเมริกา เป็นการบ่งบอกถึง "ต้องการสานสัมพันธ์กับไต้หวันอย่างเป็นทางการ"

ดังนั้น ในบทความนี้ อ้ายจง จึงวิเคราะห์ข้อมูลจากทางจีนที่ชี้แจงสู่ประชาคมโลกถึงเหตุผลของพวกเขา เพื่อตอบคำถามที่หลายคนอาจสงสัยและติดค้างในใจว่า ทำไมจีนถึงยืนกรานอย่างหนักแน่นและดูเหมือนจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงได้ ในประเด็น

"ไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน ไม่สามารถแยกได้"

1. จีนอ้างอิงบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่เรียกว่า อักขรานุกรมภูมิศาสตร์ชายฝั่งทะเล ที่จัดทำโดย เสิ่น อิ๋ง นายพลแห่งรัฐอู๋ หรือง่อก๊ก ในสามก๊กที่ทุกคนรู้จักกันดี โดยจีนระบุว่า ในบันทึกที่มีอายุมากกว่า 1,700 ปีนี้ มีการกล่าวถึง ไต้หวัน เป็นครั้งแรก ซึ่งหมายถึงเป็นส่วนหนึ่งในประวัติศาสตร์จีน 

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

2. จีน ระบุว่า "ในหลายราชวงศ์ของจีนมีอำนาจการปกครองเหนือ ไต้หวัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในอาณาเขตของจีน" อย่างเช่น ในสมัยราชวงศ์ซ่ง ราชวงศ์หยวน และราชวงศ์หมิง ต่างมีการส่งทหารไปดูแลเผิงหู ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของอาณาเขตการปกครอง แม้ว่าจะมีช่วงที่ไต้หวันถูกปกครองโดยบริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดา (เนเธอร์แลนด์) อย่างเช่นช่วงที่ราชวงศ์หมิงกำลังแตกพ่ายจากการเข้ามาของแมนจู (ราชวงศ์ชิง) ทางนายพลเจิ้งเฉิงกง ได้ขับไล่ฮอลันดาออกไปและปกครองเกาะไต้หวัน แต่ก็ปกครองในระยะสั้นๆ ราว 20 ปี

จากนั้นทางราชวงศ์ชิงก็ได้ส่งกำลังทหารเข้าควบคุมพื้นที่ของไต้หวัน และต่อมาอีกราว 200 ปี ในปี ค.ศ.1885 รัชสมัยจักรพรรดิกวงซวี่ แห่งราชวงศ์ชิง มีการบริหารไต้หวันในฐานะมณฑลอย่างเป็นทางการ แต่เมื่อจีนแพ้สงครามจีนญี่ปุ่น ทางรัฐบาลราชวงศ์ชิงมีการลงนามสนธิสัญญาชิโมโนเซกิ ซึ่งจีนได้เสียไต้หวันให้กับญี่ปุ่น 

3. จีนอ้างสิทธิเหนือญี่ปุ่น ตามปฏิญญาไคโรและปฏิญญาพ็อทซ์ดัม ที่มีขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อญี่ปุ่นแพ้ โดยใจความสำคัญของปฏิญญาไคโรที่ทำขึ้นร่วมกันโดยจีน (เมื่อครั้งเป็นสาธารณรัฐ ไม่ใช่สาธารณรัฐประชาชนจีนเหมือนเช่นปัจจุบัน) สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร เมื่อปี ค.ศ.1943 ระบุว่า ญี่ปุ่นสมควรคืนเกาะไต้หวัน หรือที่เรียกว่าเกาะฟอร์โมซา และคืนหมู่เกาะเผิงหู ซึ่งคือส่วนหนึ่งของไต้หวันในปัจจุบัน ให้กับจีน

โดยปฏิญญาพ็อทซ์ดัม ที่มีขึ้นหลังจากปฏิญญาไคโรสองปี กล่าวว่า จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของปฏิญญาไคโร ทางญี่ปุ่นได้ตกลงที่จะทำตามปฏิญญานี้ ซึ่งทางรัฐบาลจีนในขณะนั้น ก็ได้เกาะไต้หวันและหมู่เกาะเผิงหู กลับคืนมาในปีเดียวกันนั้น

4. จีน ให้เหตุผลว่า จุดเริ่มต้นประเด็น ไต้หวัน และความตึงเครียดมาจนถึง ณ ขณะนี้ เริ่มจาก "สงครามกลางเมืองระหว่างพรรคก๊กมินตั๋ง และพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่บริหารจีน-สาธารณรัฐประชาชนจีนในปัจจุบัน" โดยในบทความที่เผยแพร่โดย CGTN สื่อภาคภาษาอังกฤษภายใต้ China Media Group (CMG) สื่อหลักของจีน ได้ใช้คำว่า "สงครามกลางเมืองเริ่มต้นโดยก๊กมินตั๋ง"  

สงครามกลางเมืองดังกล่าว เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปี 1927 จนถึง 1936 ระยะเวลาเกือบ 10 ปี ซึ่งเมื่อญี่ปุ่นเข้าบุกจีนอีกครั้งในปี 1937 เกิดเป็นสงครามจีนญี่ปุ่นครั้งที่สอง และต่อมาก็เป็นส่วนหนึ่งของสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้มีการพักสงครามกลางเมือง เพื่อร่วมกันต่อสู้กับญี่ปุ่น จนจีนได้รับชัยชนะในฐานะอยู่ร่วมฝ่ายพันธมิตร และได้รับไต้หวันกลับคืน ตามที่ระบุในข้อ 3 ข้างต้น แต่เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 จบ จีนก็เกิดสงครามกลางเมืองครั้งที่ 2 ขึ้นอีกครั้ง จนถึงปี 1949 กินเวลาประมาณ 4 ปี 

ผลออกมาคือ นายพลเจียงไคเช็ค (จีนกลางเรียก เจี่ยงเจี้ยสือ) ผู้นำก๊กมินตั๋งพร้อมผู้สนับสนุน ได้เดินทางออกจากจีนไปยังไต้หวัน และดำเนินการปกครองที่นั่น ขณะที่ทางพรรคคอมมิวนิสต์จีนภายใต้การนำของ เหมา เจ๋อตง (คนไทยนิยมเรียก เหมา เจ๋อตุง) ได้ประกาศก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนขึ้น ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของระบบการปกครองที่แตกต่างกันระหว่างจีนและไต้หวัน แม้ว่าจีน จะพยายามเสนอแนวทาง 1 ประเทศ 2 ระบบ ให้อำนาจ ไต้หวัน ในการใช้ระบบการปกครองของตนเองเมื่อกลับมารวมกับจีน โดยจีนได้ใช้แนวทาง 1 ประเทศ 2 ระบบกับฮ่องกง เพื่อให้ไต้หวันได้เห็น แต่ทางไต้หวัน โดยเฉพาะตั้งแต่ยุค 2000 จนถึงปัจจุบัน ยังคงแสดงจุดยืนว่า ไต้หวันแตกต่างจากจีน และแสดงท่าทีในการแยกตัวจากจีนอย่างชัดเจน

โดยทางจีนก็ออกมาย้ำตลอดว่า มีกองกำลังภายนอกพยายามสนับสนุนไต้หวัน และมุ่งเป้าไปที่อเมริกา ซึ่งถือว่าไต้หวันคือฝั่งประชาธิปไตย อันเป็นเหตุผลหนึ่งที่เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ใช้เป็นประเด็นไม่สนคำค้านของจีน และต้องไปไต้หวันให้ได้ จนนำมาซึ่งการตำหนิอย่างแรงของจีนต่อสหรัฐอเมริกาที่ละเมิดคำมั่นเมื่อครั้งสถาปนาการทูต 

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ อ้ายจง อยากจะเล่าให้ผู้อ่านได้รับทราบข้อมูลเพิ่มอีกนิดว่า ไม่ใช่ครั้งแรกที่อเมริกาแสดงท่าทีต้องการสานสัมพันธ์กับไต้หวันแบบทางการ เพราะถ้าย้อนกลับไปในปี 2016 เมื่อครั้ง ไช่ อิงเหวิน เป็นผู้นำไต้หวัน ได้พูดคุยทางโทรศัพท์กับ โดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดี ซึ่งก็นับว่าเป็นการติดต่อแบบทางการระหว่างไต้หวันและอเมริกา

อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของจีน จีน ถือว่า ไต้หวัน เป็นส่วนหนึ่งของจีนอย่างชอบธรรม ตามที่มีการคืนไต้หวันให้จีนจากญี่ปุ่น ตั้งแต่ครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุด

5. ประเด็น จีนเดียว จีนอ้างอิงตามมติ 2758 ที่รับรองโดยสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ เมื่อปี ค.ศ.1971 ซึ่งทางสหประชาชาติรับรองมติฟื้นฟูสิทธิของสาธารณรัฐประชาชนจีนในสหประชาชาติ โดยตัวแทนของสาธารณรัฐจีน หรือไต้หวัน ได้ออกจากสหประชาชาติไป ทำให้จีนอยู่ในสหประชาชาติภายใต้สถานภาพตัวแทนจีนเดียวดังเช่นที่จีนกล่าวถึงเสมอ

ในบทความที่เผยแพร่ในสื่อหลักของจีน และตามการแถลงของผู้นำและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีนตามเวทีโลกและเหตุการณ์ที่ต้องพูดถึงประเด็น ไต้หวัน และ จีนเดียว จะมีการระบุถึงการยอมรับในสถานภาพจีนเดียวในเวทีสหประชาชาติ และจากกว่า 181 ประเทศที่สถาปนาความสัมพันธ์การทูตกับจีน โดยจีนระบุว่า การสถาปนาการทูตกับประเทศต่างๆ เหล่านี้ เป็นหลักฐานซึ่งระบุว่า แต่ละประเทศยอมรับหลักการจีนเดียว รวมทั้งญี่ปุ่น และอเมริกา 

หลักการจีนเดียว ยังเกี่ยวข้องกับฉันทามติ 1992 (1992 concensus) ที่เกิดขึ้นในปี 1992 เมื่อตัวแทนจากฝ่ายจีนและไต้หวันได้เห็นร่วมกันว่า มีเพียง "จีนเดียว" ในโลกนี้ แต่ทั้งจีนและไต้หวันมีอิสระในการตีความคำว่า หนึ่งจีน ของแต่ละฝ่าย 

6. "การแก้ไขปัญหาไต้หวัน และการรวมชาติอย่างสมบูรณ์" เป็นภารกิจทางประวัติศาสตร์ และเป็นความมุ่งมั่นที่มิอาจสั่นคลอนของ พรรคคอมมิวนิสต์จีน ในสุนทรพจน์ที่ สี จิ้นผิง กล่าวถึงประชาชนจีน เมื่อปี 2021 เนื่องในครบรอบ 100 ปี ก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน สี จิ้นผิง ย้ำชัดถึงประโยคข้างต้น พร้อมกับเน้นถึงการปกป้องอธิปไตยและดำเนินการอย่างเด็ดขาดเพื่อเอาชนะความพยายามใดๆ ที่จะแยกไต้หวันออกจากจีน โดยเขากล่าวว่า จะรักษาหลักการจีนเดียว และฉันทามติ 1992 ต่อไป

ทั้งนี้ ไช่ อิงเหวิน เคยประกาศว่า ไม่ยอมรับ หลักการจีนเดียว และฉันทามติ 1992 ตลอดจนหลักการ 1 ประเทศ 2 ระบบ เป็นการแสดงท่าทีที่ตรงกันข้ามกับทางฝั่งจีนอย่างชัดเจน สถานการณ์จีนและไต้หวันจึงยังคงตึงเครียดมาโดยตลอด โดยเฉพาะในช่วงเกือบ 10 ปีมานี้ เพราะต่างฝ่ายมีจุดยืนของตนเอง จีนเองก็มุ่งมั่นในหลักการจีนเดียว การรวมชาติและการรักษาอธิปไตย โดยจะทำทุกวิถีทางตามที่ผู้นำจีนได้เอ่ยไว้ อันรวมถึงการบังคับใช้ "กฎหมายห้ามแบ่งแยกประเทศ/กฎหมายต่อต้านการแยกตัว (Anti-Secession Law)" เมื่อปี 2005 ที่มีสาระสำคัญว่า "จีนสามารถใช้วิธีที่ไม่ใช่ทางสันติได้ หากไต้หวันประกาศเอกราชแยกจากจีน"

ผู้เขียน: ภากร กัทชลี (อ้ายจง) อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่