จุดที่อาจมองข้ามของเทคสตาร์อัพและเทคคอมพานี

จุดที่อาจมองข้ามของเทคสตาร์อัพและเทคคอมพานี

เรื่องของพาณิชย์เทคโนโลยีและธุรกิจนวัตกรรมในปัจจุบันอาจเป็นเรื่องที่หลายๆ คนคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว เพราะความสนใจในธุรกิจสมัยใหม่ที่เชื่อกันว่า จะเข้ามาแทนที่และ “ดิสรัป” ทำลายล้างธุรกิจแบบปกติดั้งเดิมไปให้หมดไปอย่างสิ้นเชิง

นักวิชาการด้านนวัตกรรมและธุรกิจจากประเทศค่ายตะวันตกที่พัฒนาแล้ว ได้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับกระบวนการเกิด เติบโต ขยายตัว ร่วงโรย และล้มหายตายจากไปของธุรกิจเชิงนวัตกรรม มาแล้วกว่า 80 ปี และได้รวบรวมงานที่ได้ศึกษาวิจัยมาจนเป็นทฤษฎีและตำราด้านการบริหารธุรกิจนวัตกรรมมาแล้วเป็นจำนวนนับไม่ถ้วน

หลายๆ ทฤษฎียังคงใช้ได้ผลและยึดถือกันมาจนทุกวันนี้

โดยเฉพาะทฤษฎีในเรื่องของการอยู่รอดและการสร้างผลกำไรจากธุรกิจนวัตกรรม ซึ่งมีความเชื่อว่า ธุรกิจนวัตกรรมที่จะสร้างผลตอบแทนให้กับผู้คิดค้นนวัตกรรมได้นั้น จะต้องมีพื้นฐานที่แข็งแกร่งอย่างน้อยใน 3 ด้าน จึงจะสามารถเอาชนะคู่แข่งในตลาดประเภทที่จ้องจะเลือก “ลอกเลียนแบบ” นวัตกรรมที่ตลาดและผู้บริโภคยอมรับและชื่นชมได้ และเป็นผู้ตักตวงผลประโยชน์จากนวัตกรรมไปได้มากกว่าเจ้าของนวัตกรรมเสียอีก

ศาสตร์และลูกเล่นของนัก “ลอกเลียนแบบ” ก็มีอยู่มากมายนับไม่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็นการลอกกันซึ่งๆ หน้า การผ่าชิ้นส่วนกลไกออกมาดู การทำวิศวกรรมย้อนกลับ หรือแม้กระทั่งเอาต้นแบบมาศึกษาและคิดค้นพัฒนาใหม่ให้ดีกว่าเดิม

ทั้งนี้ เนื่องจาก “ผู้ตาม” มักจะได้เปรียบในเรื่องของต้นทุนของการคิดค้นและวิจัยที่เป็น “ยาขม” สำหรับนวัตกรต้นแบบ ที่ต้องอาศัยทรัพยากรอย่างมากในการใช้เวลาและการหาแหล่งเงินมาเป็นทุนในการค้นคว้า ทดลอง ทดสอบ จนกว่าจะได้ต้นแบบของนวัตกรรมที่ทำงานได้จริงตามไอเดียที่คิดไว้แต่แรก

ส่วน “ผู้ตาม” จะข้ามขั้นตอนเหล่านี้ไป เน้นไปเพียงที่การทำให้ต้นทุนถูกกว่า หรือการทำให้คุณภาพดีกว่า ของต้นฉบับเท่านั้น

ทฤษฎีนวัตกรรมในยุคแรกๆ จึงเน้นไปที่นวัตกรรมที่ต้องมีกระบวนการป้องกันการลอกเลียนแบบไม่ให้ทำได้ง่ายๆ

ตลาดที่พัฒนาแล้ว จึงให้ความสำคัญกับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของนักประดิษฐ์อย่างเพียงพอและเหมาะสมกับการต่อสู้กันในตลาดได้อย่างเป็นธรรม คุ้มครองแม้กระทั่งถึง “ความลับทางการค้า” ซึ่งผู้อื่นจะละเมิดไม่ได้

อีกเรื่องหนึ่งที่ถือว่าเป็นจุดอ่อนของ “นักคิดต้นแบบ” ที่มีต่อ “นักคิดเลียนแบบ” ก็คือ เรื่องของสิ่งใหม่ที่ผู้บริโภคและตลาดยังไม่รู้จักดี ทำให้การตัดสินใจลองซื้อมาใช้หาเป็นเรื่องที่ต้องกล้าเสี่ยงและต้องใช้เวลาในการศึกษาหาข้อมูลมาประกอบการตัดสินใจ

ของเลียนแบบ มักจะออกมาในช่วงที่ตลาดได้รับรู้และพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า “นวัตกรรม” นั้นใช้งานได้จริง โดยไม่ต้องใช้งบบประมาณในการโฆษณาแนะนำเช่นเดียวกับที่นักบุกเบิกนวัตกรรมต้องใช้ในยุคที่ตลาดยังไม่เป็นที่รู้จัก

ส่วนเรื่องที่ 3 เป็นเรื่องที่ดูแล้วอาจไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับไอเดียนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีใหม่ แต่ก็มีความสำคัญอย่างยิ่งกับการที่จะทำให้นวัตกรรมที่นำออกสู่ตลาดสามารถเติบโตและขยายตัวออกไปได้ในวงกว้างและด้วยการเติบโตที่มีอัตราเร่งสูง

ซึ่งได้แก่ สินค้าที่ต้องใช้ร่วมหรือต้องใช้ประกอบกับนวัตกรรมที่จะนำเสนอ (Complementary Goods) เช่นเมื่อย้อนกลับไปในอดีตสมัยของการคิดค้นหลอดไฟฟ้ามาใช้แทนตะเกียง โทมัส เอดิสัน คิดหลอดไฟฟ้าขึ้นได้ก่อนเป็นคนแรก แต่ไม่สามารถนำหลอดไฟฟ้ามาขายทำกำไรได้

เพราะในบ้านทุกหลังสมัยนั้น ยังไม่มีไฟฟ้าเข้าไปถึง!!!!

หลอดไฟฟ้ากลายมาเป็นสินค้าที่ทุกคนทุกบ้านต้องซื้อมาใช้ก็ต่อเมื่อได้เกิดระบบที่ทำให้ไฟฟ้าเข้าไปถึงทุกครัวเรื่อนได้โดยสะดวก ซึ่งต้องรวมตั้งแต่ โรงงานผลิตไฟฟ้า ระบบสายส่งไฟฟ้าจากโรงงาน ระบบสายไฟฟ้าเข้าในบ้าน อุปกรณ์สวิตช์สำหรับเปิดปิดไฟ ฯลฯ

ซึ่งถือได้ว่าเป็นสินค้าประกอบเหล่านี้เอง ที่ทำให้นวัตกรรมหลอดไฟฟ้าประสบความสำเร็จในเชิงการค้าได้

ระบบการทำงานร่วมกันขององค์ประกอบต่างๆ นี้ นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า Complementary assets คือแต่ละหน่วยย่อย เมื่อนำมาใช้รวมกันแล้ว จะทำให้มูลค่าหรือสินทรัพย์โดยรวมทั้งหมดของระบบเศรษฐกิจสูงขึ้นกว่าการใช้สินค้าแต่ละหน่วยแบบโดดๆ

มาถึงเรื่องของเทคโนโลยีและนวัตกรรมในยุคของ “จักรวาลนฤมิต” ในปัจจุบันที่เป็นที่ต้องตาต้องใจของบรรคาเทคสตาร์อัพ และเทคคอมพานีต่างๆ ที่มักจะให้ความสนใจตรงไปที่ผลิตภัณฑ์หลัก ไม่ว่าจะเป็น คอนเทนท์ แพลตฟอร์ม ฯลฯ

หากใครจะลองหันมาดูและวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของผลิตภัณฑ์ประกอบ เช่น จอภาพที่ใช้ครอบศีรษะ อุปกรณ์ต่อพ่วง กล้องถ่ายภาพที่ใช้ผลิตคอนเทนท์ ฯลฯ อาศัยความรู้หลักที่มีอยู่มาคาดการณ์ว่า ผลิตภัณฑ์ประกอบที่จำเป็นและมีศักยภาพที่จะสร้างตลาดคู่กันไป ควรจะเป็นอะไรได้บ้าง

อาจจะทำให้ความฝันของการอยากเป็น “เทคคอมพานี” หรือ “เทคสตาร์อัพ” ที่ไม่มีศักยภาพที่จะสร้างเทคโนโลยีใหม่ขึ้นมาได้เอง หรือไม่มีเทคโนโลยีใดๆ เป็นของตนเองเลย จะประสบความสำเร็จขึ้นมาบ้าง ก็เป็นได้